ครม.ผ่าน พ.ร.ก.ต่างด้าวปรับลดโทษจากเดิม ห้ามนายจ้างยึดหนังสือเดินทาง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

  เมื่อเวลา 13.00 น.ที่โรงแรมดุสิตธานี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างแก้ไขพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้แล้วถูกท้วงติงว่ามีโทษรุนแรงจนต้องใช้มาตรา 44 พักการบังคับใช้ 4 มาตรา ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยให้ปรับแก้มาตรา 101 ที่กำหนดโทษแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตจากเดิมจำคุก 5 ปี ปรับ 2 หมื่น-1 แสนบาท โดยตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับ 5 พันถึง5 หมื่นบาท มาตรา 102 โทษนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จากเดิมปรับตั้งแต่ 4แสน-8 แสนบาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน เหลือ 1 หมื่นถึง1 แสนบาทต่อคน ถ้าใครทำผิดซ้ำจะจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5 หมื่นถึง2 แสนบาท และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี พร้อมกันนี้

  พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า บทบัญญัติใหม่จะเปลี่ยนระบบขออนุญาตในบางเรื่อง เป็นระบบแจ้งให้ทราบต่อเจ้าพนักงาน เช่น กรณีที่นายจ้างๆแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายทำงาน การเปลี่ยนสถานที่ทำงาน รวมถึงยกเลิกประกาศเขตที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าว ให้ทำงานที่ไหนพักที่ไหนก็ได้ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปรับแก้ตามข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โทษนายจ้างและลูกจ้างที่เท่ากัน ปรับใหม่ให้ไม่เท่ากันตามความหนักเบา และนายจ้างรับเหมาแรงงานจะทำได้ต่อเมื่อมีใบสั่งจ้างงาน

ขณะเดียวกันห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าวเพื่อป้องกันต้นเหตุเอารัดเอาเปรียบ จนเป็นเหตุให้เกิดการค้ามนุษย์ ยกเว้นค่าตรวจสุขภาพ ใบอนุญาต และค่าหนังสือเดินทาง ทั้งนี้การเก็บหนังสือเดินทางและใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวต้องได้รับการยินยอม ถ้าแรงงานต่างด้าวขอคืนต้องได้คืนทันที อีกทั้งในบทเฉพาะการ กำหนดมิให้นำมาตราที่ถูกพักการบังคับใช้ มาบังคับใช้จนกว่าจะถึงวันที่ 1 ก.ค. 61