"มีชัย" รับที่มา ส.ว. ยังน่าห่วง หวั่นขัด รธน.  แต่เชื่อคงไม่เป็นเหตุให้คว่ำร่างฯ

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

วันนี้ (6 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 13 / 2561 โดยมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาเสร็จแล้ว ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ว่า  ยังมีความน่าเป็นห่วง เรื่องร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) เกี่ยวกับการแยกผู้สมัครออกเป็น 2 ประเภท คือ ให้มาสมัครโดยอิสระ และสมัครโดยเป็นตัวแทนองค์กร ซึ่งอาจมีปัญหาว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ดังนั้น เรื่องนี้ก็หวังว่า สนช. จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น ถ้าเห็นว่า ประเด็นนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะถ้าปล่อยไปแล้ว และวันหลังมีคนยกปัญหานี้ขึ้นมา จะเกิดเป็นปัญหาได้ ส่วนปัญหานี้จะเป็นเหตุให้ สนช. ลงมติไม่เห็นชอบหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า คงไม่เป็นสาเหตุให้คว่ำร่างกฎหมาย เพราะประเด็นนี้เป็นเพียงประเด็นเดียวที่มีความเป็นห่วง และหากจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ สนช. ก็ต้องลงมติรับร่างก่อนจึงจะเข้าสู่กระบวนการได้

“แม้ปรับให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาลแล้ว แต่อดกังวลไม่ได้ว่า จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หวังว่า เมื่อ สนช. ให้ความเห็นชอบแล้ว จะทำให้เกิดความชัดเจนด้วยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะหากปล่อยไปวันหน้า มีคนยกขึ้นมามันจะเกิดปัญหาได้ ซึ่งการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง ยังคงอยู่ในกรอบเดือนก.พ.62 ที่เป็นการคำนวนแบบเต็มเหยียด” นายมีชัย กล่าว

 

นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับร่างกฎหมายลูก ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ค่อยมีปัญหา แต่เรื่องที่ยังกังวลกันอยู่ก็คือ การตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ให้รับราชการ แม้จะมีการผ่อนปรนแล้วว่า เฉพาะไม่ให้ดำรงตำแหน่งเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็อาจมองได้ว่า การดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเรื่องสิทธิหรือเสรีภาพ เพราะหากเป็นเรื่องสิทธิอาจมีการจำกัดได้ แต่ถ้ามองว่า เป็นเรื่องเสรีภาพก็ไม่สามารถไปจำกัดสิทธิ์ได้ จึงต้องรอฟังการชี้แจงในสภาฯก่อนว่า เหตุผลเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ นายมีชัย ยังระบุว่า แม้จะมีการส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่จะไม่กระทบกับโรดแมปจัดการเลือกตั้ง เพราะการคำนวณเวลา มีการคำนวณขั้นตอนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรวมไว้อยู่แล้ว ยังอยู่ในกรอบการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้" นายมีชัย กล่าว


"ไม่ได้กังวลกับการลงมติร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายนี้ เพราะเป็นหน้าที่ของ สนช. ถือว่า เสร็จภารกิจของ กรธ. แล้ว ส่วนที่เริ่มมีหลายกลุ่มการเมืองแสดงความจำนงจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น นายมีชัย แสดงความเห็นว่า ที่คนพูดกันว่า กฎเกณฑ์ที่วางไว้ทำให้พรรคเล็กไม่สามารถเข้ามาได้ แต่ที่กลุ่มการเมืองมาแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อ กกต. นั้น ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไม่เป็นความจริง" ประธาน กรธ. ระบุ