"ดร.สามารถ"แนะรัฐ 3 ข้อเร่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินดันไทยเป็น"ฮับ"ทางอากาศ

"ดร.สามารถ"แนะรัฐ 3 ข้อเร่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินดันไทยเป็น"ฮับ"ทางอากาศ

7 มี.ค.61 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์  โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์"เสนอความเห็นเกี่ยวรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลกำลังจะเปิดประมูลเชื่อม 3 สนามบิน  โดยระบุว่า ...

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ดันไทยเป็น “ฮับ” ทางอากาศ

เป็นข่าวที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลกำลังจะเปิดประมูลให้เอกชนผู้สนใจเข้าร่วมประมูลการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง การเชื่อม 3 สนามบินเข้าด้วยกันด้วยรถไฟความเร็วสูงเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศหรือ “ฮับ” ของภูมิภาคนี้ได้

ทราบมาว่าเอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่บางส่วนของสถานีมักกะสันและสถานีศรีราชา เพื่อเป็นช่องทางหารายได้นอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง ยิ่งไปกว่านั้น มีข่าวว่าเอกชนที่หวังจะคว้าโครงการนี้ได้เตรียมที่จะซื้อที่ดินทำเลทองตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ดังนั้น การลงทุนในโครงการนี้จะใช้เงินไม่เฉพาะการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น แต่จะต้องใช้เงินในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงด้วย

การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ดินตามแนวเส้นทางเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันมากในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือ “ชินคันเซ็น” ขึ้นมา การพัฒนาที่ดินเช่น การสร้างเมืองใหม่ เมืองอัจฉริยะ เมืองอุตสาหกรรม เมืองมหาวิทยาลัย ศูนย์ราชการ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งพาณิชยกรรม สถานพยาบาลฯลฯ จะช่วยทำให้มีผู้โดยสารใช้รถไฟความเร็วสูงมากขึ้น ผู้ลงทุนในกิจการรถไฟความเร็วสูงก็มีโอกาสทำกำไรได้ เพราะจะมีรายได้จากการพัฒนาที่ดินเพิ่มเติมจากรายได้จากค่าโดยสารอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนทั้งในกิจการรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาที่ดินควบคู่ไปด้วยนั้นต้องใช้เงินจำนวนมากดังกล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น หากเอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมดหรือลงทุนเป็นส่วนใหญ่ เขาอาจจะขาดทุนก็ได้ ทำให้เขาไม่สนใจที่จะลงทุน ซึ่งจะทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องล่าช้าออกไป เราก็จะเสียโอกาสที่จะเป็น “ฮับ” ของการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคนี้ได้
 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอแนะรัฐบาลเพื่อทำให้โครงการที่ดีเช่นนี้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ดังนี้

1. รัฐบาลจะต้องร่วมลงทุนด้วย และลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม จะหวังให้เอกชนลงทุนทั้งหมดไม่ได้

2. รัฐบาลจะต้องไม่หวังผลตอบแทนจากเอกชนที่จะได้รับสิทธิ์ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงรวมทั้งการพัฒนาที่ดิน แต่รัฐบาลควรหวังผลตอบแทนทางอ้อมจากการที่โครงการนี้จะช่วยให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มีการซื้อขายมากขึ้น ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดอุบัติเหตุจราจร และลดมลภาวะ เป็นต้น

3. รัฐบาลจะต้องประกาศใช้มาตรการที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ดินตลอดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อช่วยให้การพัฒนาที่ดินสำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็ว

4. รัฐบาลจะต้องจัดตั้งหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพขึ้นมากำกับดูแลรถไฟความเร็วสูง เพื่อทำให้รถไฟวิ่งได้ด้วยความเร็ว “สูง” จริงๆ ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้โดยสารจำนวนมากใช้บริการเดินทางเพื่อเปลี่ยนสนามบินได้ในเวลาไม่นาน

หากทำได้เช่นนี้ เราก็จะมีโอกาสได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในอีกไม่นาน

 

"ดร.สามารถ"แนะรัฐ 3 ข้อเร่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินดันไทยเป็น"ฮับ"ทางอากาศ

"ดร.สามารถ"แนะรัฐ 3 ข้อเร่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินดันไทยเป็น"ฮับ"ทางอากาศ

 

"ดร.สามารถ"แนะรัฐ 3 ข้อเร่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินดันไทยเป็น"ฮับ"ทางอากาศ

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์"