ฉวยโฮกาส ยืมมือรัฐ ขยี้หนี้นอกระบบ

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

คนจะรวยช่วยไม่ได้ เมืองไทยลิสซิ่ง  ถูกใจหรือกัดฟันพูด หนุนรัฐออกกฎคุมพวกโขกดอกเบี้ยสูง

ฉวยโฮกาส ยืมมือรัฐ ขยี้หนี้นอกระบบ

เมืองไทยลิสซิ่ง หรือ  MTLS ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อส่วนบุคคล ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ตระกูล  เพ็ชรอำไพ ชื่อบริษัท มีความคล้ายคลึงกับ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ของ ตระกูล ล่ำซำ ก็ไม่รู้เป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ แต่ กลุ่มเมืองไทยประกันฯ ใช้ชื่อนี้มาก่อน และเคยมีกระแสข่าวว่า ครั้งหนึ่งในอดีต กลุ่มล่ำซำ เคยคิดจะขอให้ เมืองไทยลิสซิ่ง เปลี่ยนชื่อ เพราะประชาชนทั่วไปสับสนว่า เป็นกิจการในเครือของเมืองไทยประกันฯ แต่การที่ MTLS มาทีหลัง และใช้ชื่อเหมือนกับกลุ่มเมืองไทยประกันฯ ถ้าเป็นความตั้งใจก็ถือว่า เป็นแผนตลาดที่เนียนมาก ไม่ต้องทุ่มงบโฆษณา เพราะการใช้ชื่อเหมือนกัน ทำให้คนทั่วไปจดจำและรู้จักได้เร็วขึ้น 

 MTLS ที่ทำธุรกิจให้เงินกู้ ดำเนินกิจการคล้ายสถาบันการเงิน (Non-Bank) กับประชานทั่วไป ตามที่รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง บริษัทถูกมองว่า คิดดอกเบี้ยสูง  ทำให้ผลดำเนินงานของ MTLS นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง (2557-2560) กำไรสุทธิอยู่ที่ 544 ล้านบาท 825 ล้านบาท 1,464 ล้านบาท และ 2,501 ล้านบาทในปี 2560 และราคาในตลาดก็ทะยานขึ้นตลอด จากที่ขายประชาชนทั่วไปหรือ IPO ที่ 5.50 บาท 
 

ฉวยโฮกาส ยืมมือรัฐ ขยี้หนี้นอกระบบ

อย่างไรก็ตามมีกระแสข่าวว่า กรณีที่อยู่ระหว่างการออก พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินนอกกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยจะจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลกิจการที่ดำเนินธุรกิจคล้ายสถาบันการเงิน (Non-Bank)  ทำให้ถูกมองว่า เมืองไทยลิสซิ่งจะได้รับผลกระทบ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS  กล่าวว่า  เห็นด้วยและสนับสนุนให้มีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่มากำกับดูแลโดยเฉพาะ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป และดูแลให้การให้บริการทางการเงินมีคุณภาพ และเป็นธรรมแก่ประชาชนนั้น แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการทุกราย ที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากทางการให้ผู้ประกอบการสินเชื่อห้องแถว ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 500 ราย ทั่วประเทศ มีสาขารวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 สาขา และมีฐานลูกค้าที่มาใช้บริการไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน โดยมีวงเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

โดยมีผู้ประกอบการบางแห่งได้คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงเกินไป และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทางราชการต้องเข้ามาดูแล โดยการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น สินเชื่อ พิโกไฟแนนซ์, สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ, สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขในการกู้ยืม ตั้งแต่ 28-36 %

อย่างไรก็ตาม เมื่อทางราชการได้เปิดให้มีการขอจดทะเบียนสินเชื่อประเภทต่างๆ ดังกล่าวแล้ว แต่เงื่อนไขต่างๆ ที่ทางการกำหนดก็ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก รวมทั้งยังไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ต้องการใช้เงิน เช่น ห้ามผู้ประกอบการทำธุรกิจข้ามจังหวัด,ห้ามเรียกหลักประกันจากลูกค้า,ห้ามระดมทุนจากมหาชน,ห้ามใช้รถจักรยานยนต์ , รถยนต์ , รถเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกัน,วงเงินที่กำหนดให้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ,การเรียกดอกเบี้ย และค่าบริการไม่ได้แยกระหว่างลูกค้าที่มีประวัติการชำระดี และลูกค้าค้างชำระ แต่คิดแบบเหมารวม
 

 

ฉวยโฮกาส ยืมมือรัฐ ขยี้หนี้นอกระบบ

ดังนั้น มาตรการหรือเครื่องมือต่างๆ ที่ทางราชการประกาศออกมา จึงไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชน จึงมีสินเชื่อห้องแถวอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังคงประกอบธุรกิจให้กู้ยืมแก่ประชาชน โดยผู้ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว มีทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทที่เป็นลูกของธนาคารพาณิชย์โดยคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมน้อยกว่า หรือเท่ากับที่ทางราชการกำหนด คือ ระหว่าง 23-36 %

เมื่อความต้องการของชาวบ้านที่อยากได้สินเชื่อ กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากนโยบายและเครื่องมือของรัฐบาลที่ได้มา จึงทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้น ทำธุรกิจได้โดยไม่มีใบอนุญาต ดังนั้น การที่รัฐบาลมีความคิดที่จะเข้ามากำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อนอนแบงก์ทั้งที่มีใบอนุญาตอยู่แล้ว และที่ยังไม่มีใบอนุญาตเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบ โดยการให้บริการที่ไม่เอาเปรียบลูกค้า จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งผู้ประกอบการเองก็อยากให้มีใครมากำกับดูแล จะได้ปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ

สิ่งที่ทางการสามารถทำได้ นอกจากกำกับดูแล แล้วควรจะเพิ่มบทบาทอย่างน้อย 4 เรื่อง คือ กำกับ ทางการควรเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้ชัดเจน , ดูแล เมื่อกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม,วงเงินสินเชื่อ,หลักประกันที่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภคแล้ว ทางการควรมีหน้าที่ดูแลให้ผู้ประกอบการทุกรายปฏิบัติอยู่ภายใต้กรอบเดียวกัน , แก้ไข เงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ที่ทางการกำกับ อาจจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทางการก็ควรจะเข้ามาแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามสภาพที่เป็นจริง เช่น การกำกับว่าให้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15 %โดยไม่มีค่าธรรมเนียมหรือค่าติดตาม ในทางปฏิบัติ ทำได้หรือไม่ และถ้าทำไม่ได้ก็ควรจะมากำหนดอัตราที่เหมาะสมและให้ทุกคนถือปฏิบัติเหมือนกัน , และควบคุม หลังจากได้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้ว ก็ควรจะได้เข้ามาควบคุมดูแลให้ทุกฝ่ายปฏิบัติเหมือนกัน เพื่อประโยชน์กับผู้บริโภค

ในเมื่อทางการมีดำริว่าจะออก พ.ร.บ.เข้ามากำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน และคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ก็ควรจะทำให้ครอบคลุมและครบถ้วนตามที่กล่าวมา ประโยชน์ที่ได้จะได้ตกถึงมือประชาชนผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน และประชาชนจะได้ไม่ถูกโขกดอกเบี้ยตามยถากรรมทั้งจากผู้ที่มีใบอนุญาตและยังไม่มีใบอนุญาตอีกต่อไป