ติดตามรายละเอียด : FB. Deeps News

กลายเป็นกระแสกำลังย้อนกลับมาก่อให้สาธารชนนำประเด็นเรื่องการปฏิรูปองค์กรตำรวจกลับมาวิเคราะห์อีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปนาน  จากเคสกรณีที่เกิดขึ้นจาก “คดีฆ่าเสือดำ”  ,  กรณีการโยกย้าย พ.ต.อ.กันตพงษ์ นิลขำ  ผกก.สภ.บางบาล  และที่กำลังเป็นประเด็นร้อน ๆ สำหรับการแถลงผลความคืบหน้าคดีหวย  30 ล้าน เนื่องจากมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องจนกลายเป็นความผิดตามมาตรา  157   ( คลิกอ่านข่าวประกอบ :  ฟังกันเต็มๆ?!? ผบช.ก. พูดถึงผู้การเมืองกาญจน์ ผิดทุจริตชัดเจน ส่งปปช.เชือดดาบ2แล้ว...สะกดจิตหมู่แค่คำเปรียบพฤติกรรมครูปรีชา??? )   
 

 

ล่าสุดศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนต่อระบบงานสอบสวนของตำรวจ”  โดยการสำรวจเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0     

 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความโปร่งใสยุติธรรมของขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า ร้อยละ 9.68  ระบุว่า มีความโปร่งใสยุติธรรมมาก เพราะ ทำตามระบบและขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดี ร้อยละ 39.60 ระบุว่า ค่อนข้างมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ มีระบบการทำงานที่ดี มีหลักฐานประกอบชัดเจน ร้อยละ 35.20 ระบุว่าไม่ค่อยมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ เกิดความล่าช้า มีข้อผิดพลาดค่อนข้างบ่อย มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และใช้ระบบพวกพ้อง ร้อยละ 14.64 ระบุว่า ไม่มีความโปร่งใสยุติธรรมเลย เพราะ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมในการสอบสวนได้ บางครั้งมีหลักฐานที่ไม่ชัดเจน ชอบยัดข้อหาให้กับคนจน ถูกแทรกแซงการทำงานจากผู้มีอิทธิพล และเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


ด้านความมั่นใจต่อขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า ร้อยละ 11.12 ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะมีระบบขั้นตอนการทำงานที่ละเอียด ชัดเจน และตำรวจทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว ร้อยละ 37.20 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะมีระบบการทำงาน ที่ค่อนข้างละเอียดอยู่แล้ว ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และหลักฐานที่มี ร้อยละ 40.56 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะมีการใช้ระบบพวกพ้อง มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงการทำงาน และมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ร้อยละ 10.72 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะมีอำนาจของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง คนรวยมักหลุดพ้นคดี และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
 

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวทางในการปรับปรุงงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.52 ระบุว่า ควรมีการบันทึกเสียงและภาพในระหว่างการสอบสวน เพื่อลดความผิดพลาดและเพิ่มความโปร่งใส รองลงมา ร้อยละ 26.24 ระบุว่า ส่งเสริมด้านการมีจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ร้อยละ 20.00 ระบุว่า กระจายอำนาจการสอบสวนไปให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยลดปริมาณงานของพนักงานสอบสวน ทำให้การสอบสวนคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร้อยละ 17.36 ระบุว่า ให้พนักงานอัยการ มีบทบาทในกระบวนการสอบสวนคดีอาญาร่วมกับพนักงานสอบสวน ร้อยละ 15.36 ระบุว่า ควรให้หน่วยงานภายนอกหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ 


ร้อยละ 15.28 ระบุว่า แยกหน่วยงานสอบสวนออกจากตำรวจ ร้อยละ 13.84 ระบุว่า ออกกฎหมาย ที่รับรองความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนไม่ให้ถูกแทรกแซง ร้อยละ 6.48 ระบุว่า เพิ่มบุคลากรด้านงานสอบสวนและงบประมาณให้เพียงพอ ร้อยละ 1.84 อื่น ๆ ได้แก่ พัฒนาระบบงานสอบสวนให้มีความรวดเร็วมากกว่านี้ เพิ่มทักษะให้ตำรวจ เช่น ความรู้ด้านกฎหมาย เรื่องคดีความให้หาข้อมูลในการสอบสวน ลงพื้นที่ หาพยานหลักฐานเพิ่มมากขึ้น ลดอำนาจของตำรวจลง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ระบบงานสอบสวนดีอยู่แล้ว และไม่มีทางแก้ไขได้ และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

 

สังคมไทยไม่โอเค!! ผลโพลความเชื่อมั่น “งานสอบสวนตร.” มีปัญหา? ปชช.มองไม่ค่อยโปร่งใส ยุติธรรม (คลิป-รายละเอียด)