รับใช้พวกขี้ฉ้อโดนอีกหนึ่ง?! ศาลอุทธรณ์ฯ สั่งคุก 6 ปี "สุธรรม มลิลา" อดีตบิ๊ก ทศท. เอื้อ AIS ทำรัฐสูญรายได้ 6.6 หมื่นล้าน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

รับใช้นักการเมืองขี้ฉ้อโดนอีกหนึ่ง?! ศาลอุทธรณ์ฯ สั่งคุก 6 ปี "สุธรรม มลิลา" อดีตบิ๊ก ทศท. ทุจริตต่อหน้าที่เอื้อปนะโยชน์ให้บริษัท  AIS  ทำรัฐสูญเสียรายได้ 6.6 หมื่นล้าน พร้อมสั่งให้ชดใช้คืน 4.6 หมื่นล้าน ก่อนให้ประกันระหว่างฎีกา 8 แสนบาท

 

 วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรุงเทพฯ ว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค.61 ที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่อัยการสูงสุด(อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุธรรม มลิลา อดีต ผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็นจำเลยฐานผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

โดยคำฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 12 เม.ย. – 15 พ.ค. 2544 จำเลยเป็น ผอ.การ ทศท. และ กก.ทศท.ได้กระทำความผิดกฎหมายหลายบท โดยทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัดมหาชน (AIS) ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยบริษัทเอไอเอสจะต้องลงทุนอุปกรณ์ทั้งหมด และยกให้ ทศท.ก่อนที่จะนำไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการและกำหนดให้เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์ปีที่ 1-5 ร้อยละ 15 ปีที่ 6 -10 ร้อยละ 20 ปีที่ 11-15 ร้อยละ 25 และปีที่ 16 -20 ร้อยละ 30

ต่อมา เอไอเอสมีหนังสือลงวันที่ 22 ม.ค.44 ถึง ผอ.ทศท. ขอให้พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า โดยให้เหตุผลว่า ทศท.ปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกรณีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (Tac) จากเดิมอัตราร้อยละ 200 ต่อเลขหมาย ต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของหน้าบัตร แต่นายวิเชียร นาคสีนวล ผอ.บริหารผลประโยชน์ เห็นว่า กรณีมิใช่เป็นการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย แต่เป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่ และมิใช่การลดส่วนแบ่งรายได้ เหตุผลไม่สมเหตุผล จึงไม่พิจารณาปรับลดส่วนแบ่งรายได้ และเมื่อเทียบกับเงินที่บริษัท Tac จ่ายให้บริษัท กสท. และ ทศท.แล้ว บริษัท Tac จ่ายเงินมากกว่าเอไอเอสจ่ายให้ ทศท.

ต่อมา มีการจัดทำกรณีศึกษาแบบอัตราก้าวหน้าและอัตราคงที่ เสนอต่อนางทัศนีย์ มโนรถ รอง ผอ.ทศท. และนายสายัณห์ ถิ่นสำราญ ผอ.การเงินและงบประมาณได้สั่งให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยหลังจากมีการประชุม คณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมแล้ว ได้รับข้อเสนอของเอไอเอสและกำหนดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญา จำเลยได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ทำเอกสารเสนอกรรมการ ทศท.ให้ทันการประชุมครั้งต่อไป และการประชุม ทศท.ครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2544 ที่ประชุมมีความเห็นว่าที่เอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้จากอัตราร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว ทศท.และประชาชนน่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง จึงมีมติเห็นชอบส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าวันทูคอลที่ ทศท.จะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร โดยมีเงื่อนไขให้ ทศท.เจรจากับเอไอเอสให้ได้ข้อยุติก่อน

ส่วนการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ ให้ ทศท.เป็นรายเดือน และการนำผลประโยชน์ที่เอไอเอสได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการโดยตรง ให้กำหนดเงื่อนไขท้ายสัญญาและให้ ทศท.ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ล่วงหน้า เพื่อเป็นข้อมูลปรับปรุงหลักเกณฑ์เก็บส่วนแบ่งในโอกาสต่อไป แต่จำเลยกลับมิได้ดำเนินการเสนอผลการศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทบทวนอัตราส่วนแบ่งรายได้ของเอไอเอสให้คณะกรรมการ ทศท.พิจารณาอีกครั้ง ตามมติคณะกรรมการ ทศท.จนกระทั่งคณะกรรมการ ทศท.ทั้ง 7 คน พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2545 จำเลยในฐานะ ผอ.ทศท.ได้ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตดำเนินกิจการครั้งที่ 6 ให้กับเอไอเอสและกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ วันทูคอล ให้เอไอเอสแบ่งส่วนรายได้อัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร ทำให้ ทศท.ได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลงจากเดิมที่ได้รับตามสัญญาหลักในอัตราร้อยละ 25-30 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก กับสัญญาที่แก้ไข ทศท.สูญเสียรายได้ 17,848,130,000 บาท และสูญเสียรายได้ในอนาคตถึงสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน อีกเป็นเงิน 53,490,900,000 บาท รวมเป็นเงิน 71,339,030,000 บาท ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า การแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมครั้งที่ 6 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอไอเอสตามคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 ระหว่างอัยการสูงสุดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และตามรายงาน ปปช. การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงของฝ่ายบริหารผลประโยชน์ของ ทศท. ได้มีความเห็นเสนอจำเลยว่า บริษัท Tac ต้องจ่ายให้ภาครัฐมากกว่าเอไอเอส จำเลยย่อมทราบข้อมูลความแตกต่างการพิจารณาการขอลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ของเอไอเอสเป็นอย่างดีแล้ว แต่มิได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวเสนอให้ ทศท.ทราบถึงความแตกต่าง

การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 มาตรา 157

ทั้งนี้ บริษัท ทีโอที จำกัด ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 จากการที่จำเลยลงนามข้อตกลงครั้งที่ 6 กับบริษัทเอไอเอส เป็นผลให้ผู้ร้องสูญเสียรายได้ คิดเป็นเงิน 66,060,686,735.94 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงิน 93,710,927,981.84 บาทด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องของบริษัท ทีโอที ผู้ร้อง

ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ขอให้ลงโทษจำเลยด้วย

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงทางไต่สวนพยานโจทก์ - จำเลยและผู้ร้องประกอบรายงาน ปปช.เรื่องการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายแก่เอไอเอส ในชั้นนี้ฟังได้ว่าทศท. เป็นรัฐวิสาหกิจ ต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัท ทศท. คอเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน )และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด และคณะกรรมการ ทศท.มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้อำนวยการ ทศท. ต่อมาจำเลยแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่(ฉบับหลักลงวันที่ 27 มี.ค.2533 ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2544 ปรับส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าแก่เอไอเอส ซึ่งตามสัญญาหลักเอไอเอสต้องจ่ายภาษีในปีที่ 1-5 ร้อยละ 15 ปีที่ 6-10 ร้อยละ 20 ปีที่ 11-15 ร้อยละ 25 และปีที่ 16-20 ร้อยละ 30 เป็นอัตราก้าวหน้าแก่ ทศท.

ต่อมา ในการประชุมคณะกรรมการ ทศท.ครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2544 จำเลยเข้าร่วมประชุมและพิจารณามีความเห็นกรณีบริษัทเอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้จากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว ทศท.และประชาชนหน้าจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจึงมีมติเห็นชอบ ที่ ทศท.จะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร โดยมีเงื่อนไขให้ ทศท.เจรจากับเอไอเอสให้ได้ข้อยุติเรื่องการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท.เป็นรายเดือน และนำผลประโยชน์ที่เอไอเอสได้รับ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ให้บริการพร้อมให้กำหนดเงื่อนไขไว้ในท้ายสัญญา โดยจำเลยในฐานะ ผอ.ทศท.ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 กับบริษัทเอไอเอสมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2544 ว่าให้เอไอเอสแบ่งส่วนรายได้ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยวินิจฉัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอไอเอส ไม่ใช่การทำเพื่อประโยชน์ของราชการ และทำให้ ทศท.เสียหาย อีกทั้งการแก้ไขสัญญาในครั้งนั้นอัตราส่วนแบ่งรายได้แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ควรเป็นไปตามสัญญาหลักเนื่องจากการกำหนดส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายแก่คู่สัญญาภาครัฐในแบบอัตราก้าวหน้าหรือขั้นบันได เป็นการกำหนดอัตราที่มีความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐผู้ให้สัญญา เพราะได้กำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐผู้ให้สัญญาตามสัดส่วนของรายได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าความผิดข้อหาเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ รักษาทรัพย์ ใช้อำนาจตำแหน่งโดยทุจริตฯ อย่างน้อยผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรค 2 แล้ว ผู้กระทำผิดยังต้องมีเจตนาพิเศษด้วย และจำเลยจะมีเจตนาดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องภายในใจของจำเลยที่จะต้องดูการกระทำเป็นสำคัญ เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ในการประชุมเปรียบเทียบจำนวนเงินที่บริษัทTac จะต้องจ่ายแก่รัฐมากกว่าที่บริษัทเอไอเอสจ่าย และในการประชุมกลั่นกรองวาระการประชุมของคณะกรรมการ ทศท.มีมติให้เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตราคงที่ร้อยละ 22

ต่อมาเมื่อมีการประชุมครั้งที่ 5/2554 ลดส่วนแบ่งรายได้ให้แก่เอไอเอส หรืออัตราร้อยละ 20 โดยมีเงื่อนไขให้ ทศท.ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเก็บส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป แต่จำเลยก็ไม่ดำเนินการจนกรรมการ 7 คน พ้นจากหน้าที่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2545

หลังจากจำเลยลงนามในสัญญาลดส่วนแบ่งรายได้ครั้งที่ 6 ให้แก่บริษัทเอไอเอส ในการประชุม ทศท.ครั้งที่ 8/2544 จำเลยกลับรายงานต่อที่ประชุมว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการทำร่างข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 ทั้งที่ความจริงจำเลยได้ลงนามในข้อตกลงครั้งที่ 6 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2544 โดยมิได้กำหนดข้อตกลงให้มีการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเรียกเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป อีกทั้งจำเลยทราบดีว่าการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงแก่บริษัทTac จากอัตราร้อยละ 200 บาท ต่อหมายเลข ต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตร เป็นอัตราเชื่อมโยงขึ้นใหม่ ไม่ใช่การลดอัตราตามที่เอไอเอสกล่าวอ้าง และTac ยังจ่ายผลตอบแทนให้ ทศท.สูงกว่าที่เอไอเอสจ่าย

แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยปกปิดข้อเท็จจริง ไม่แจ้งให้ที่ประชุมทราบด้วยเจตนาจะให้เอไอเอสได้รับผลประโยชน์จากการลดส่วนแบ่ง และศาลฎีกานักการเมืองฯได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งว่าข้อตกลงสัญญาฉบับที่ 6 ที่จำเลยลงนามเอื้อประโยชน์แก่เอไอเอสที่จำเลยอ้างว่าที่ประชุมไม่มีคำถาม จำเลยจึงไม่ต้องรายงานข้อเท็จจริง นอกจากเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผลแล้วโดยตำแหน่งที่จำเลยดำรงอยู่นั้น ต้องรักษาผลประโยชน์ขององค์กร สมควรแจ้งข้อเท็จจริงที่เป็นผลประโยชน์ได้เสียขององค์กรให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาด้วยความรอบคอบ บ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยในการลงนามสัญญาครั้งที่ 6 ถือว่าเป็นการใช้อำนาจตำแหน่งโดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ทศท.ได้รับส่วนแบ่งน้อยลง การกระทำที่มุ่งให้เอไอเอสได้ประโยชน์ เป็นการกระทำโดยทุจริตครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 เมื่อการกระทำจำเลยเป็นความผิดอันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่ปรับบทมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นบททั่วไปที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

ส่วนจำเลยต้องรับผิดค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัททีโอทีหรือไม่ เห็นว่าแม้ทีโอทีจะไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนคดีแพ่งก็ตามแต่ได้ยื่นคำร้องเข้ามา ตามมาตรา 44/1 เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์จึงถือว่าคำร้องดังกล่าวได้อุทธรณ์ด้วยทำนองเดียวกัน และเมื่อข้อเท็จจริงส่วนอาญาฟังว่าจำเลยใช้อำนาจในทางทุจริต จำเลยต้องรับผิดชอบใช้เงินแก่ทีโอที โดยบริษัททีโอทีได้คำนวณค่าเสียหายที่ต้องขาดรายได้จากเงินส่วนแบ่งตลอดอายุสัญญาแต่ละช่วงเป็นต้นเงิน 66,060,686,735.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดนำมาไต่สวนเป็นอย่างอื่น แต่ข้อเท็จจริงแม้เชื่อได้ว่าบริษัททีโอทีได้รับความเสียหายตามจำนวนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอนุมัติลดอัตราส่วนแบ่งรายได้แก่เอไอเอสเป็นมติคณะกรรมการ จำเลยไม่ได้พิจารณาแต่เพียงลำพัง หากจำเลยต้องรับผิดเต็มจำนวนความเสียหายคงไม่เป็นธรรม จึงสมควรให้จำเลยรับผิดเพียงกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2559 ซึ่งเป็นวันที่บริษัททีโอทียื่นคำร้อง

จึงพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151(เดิม)จำคุก 9 ปี พยานหลักฐานที่จำเลยนำเข้าไต่สวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี และให้จำเลยชำระเงิน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2559

ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยตีราคาประกัน 8 แสนบาทโดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นได้รับอนุญาตจากศาล