เปิดเบื้องหลัง คสช.! ไม่เคาะ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

27 มี.ค. 61- พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเบื้องหลังของการประชุม คสช. ที่ยังไม่มีการอนุมัติประกาศ คสช. ช่วยเหลือธุรกิจค่ายมือถือ 2 ค่าย และทีวีดิจิทัล ว่า วันนี้มีการเชิญ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และทีมงานมาชี้แจง แต่ คสช. ยังไม่มีการพิจารณาในรายละเอียด จึงให้ กสทช. กลับไประดมความคิดเห็นจากทีมงาน กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประมวลข้อมูลมา ว่า พวกเขาอ้างว่าอะไร เเละต้องการอะไรในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ถ้ารัฐบาลตอบสนอง กสทช. จะมีข้อมูลมุมมองอย่างไรได้บ้าง

"เพราะเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีก็มีข้อมูลที่หลายฝ่ายส่งมาให้โดยตรง เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะบางคนมองว่าเป็นเรื่องของการประกอบธุรกิจจะอ้างอย่างอื่นไม่ได้ เพราะวันที่คุณประมูลกันก็หวังที่จะมีกำไร แต่ยังมีมุมมองอีกว่า คนที่ทำเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่มีปัญหาทุกอย่างจะกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจหรือไม่ มีข้อมูลค่อนข้างเยอะ นายกฯ จึงไม่อยากด่วนตัดสินใจ นายกฯ จึงขอให้ กสทช. ไปนำข้อมูลมาผสมผสานกันให้ลงตัวที่สุดแล้วรีบนำข้อมูลมาเสนอโดยเร็ว”

 

เปิดเบื้องหลัง คสช.! ไม่เคาะ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ

                                    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
                                    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนบรรยากาศในการประชุมนั้น พล.ท.สรรเสริญ เล่าว่า ในวาระนี้ของการประชุม คสช. ใช้เวลานานที่สุด แต่ไม่ขอเปิดเผยว่า มีวาระอะไรบ้าง แต่เริ่มประชุม คสช. ตั้งแต่ 09.00 น. เลิกประชุมเกือบ 10.30 น. จึงประชุม ครม. ต่อได้ และในที่ประชุมมีข้อคิดเห็นมากมาย แต่ไม่สามารถเล่าได้ แต่มองกันทุกมิติเลยว่า "ถ้าเปิดแบบนี้จะมีคู่แข่งรายเดียวเลยหรือไม่ แล้วถ้าทำให้คู่แข่งรายเดียวกู้เงินมาเต็มเพดานแล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง"

เมื่อถามว่า กสทช. อธิบายหรือไม่ ว่า ทำไมจะต้องนำเรื่องทีวีดิจิทัลกับค่ายมือถือไว้ด้วยกันโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เขาไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นประกาศฉบับเดียวกัน แต่เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องในการสื่อสารโทรคมนาคม งานออกอากาศทีวีวิทยุ ก็อยู่ในโหมดเดียวกัน”

เมื่อถามว่า มีโอกาสแยกประกาศ คสช. ออกจากกันหรือไม่ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้ แต่นายกฯ ไม่ได้กำหนดเวลาเสนอเรื่องกลับมา แต่ให้เร่งรัดให้เร็ว เพราะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และไม่ได้นิ่งเฉย เพราะ คสช. เคยช่วยมาแล้วครั้งหนึ่งในการยืดเวลาการชำระงวดออกไป

ขอบคุณที่มา ฐานเศรษฐกิจ