ทางออกค่าโง่รถเมล์ NGV!!"ดร.สามารถ"แนะทำอย่างไรขสมก.ไม่ต้องจ่าย1.1 พันล้าน" ชี้น่าแปลกซื้อของได้ถูกแล้ว ทำไมยังฉีกสัญญาไปจ่ายแพงกว่า??

ทางออกค่าโง่เมล์ NGV!!"ดร.สามารถ"แนะทำอย่างไรขสมก.ไม่ต้องจ่าย1.1 พันล้าน"แต่น่าแปลกซื้อของได้ถูกแล้ว ทำไมยังฉีกสัญญาไปจ่ายแพงกว่า

จากกรณีที่ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด,   บริษัท รถยนต์เซินหลง (เซี่ยงไฮ้) จำกัด และบริษัทเทคโนโลยีพลังงานใหม่เป่ยฟังกวางโจว จำกัด เนื่องจากบอกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์โดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี และบำรุงรักษาจำนวน 489 คัน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเงิน 1,159,969,552.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 1,147,831,350.06 บาท  

ล่าสุด  ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์  โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ "ทางออกรถเมล์เอ็นจีวี ไม่ต้องเสียค่าโง่ 1.1 พันล้าน" ระบุข้อความว่า ...


ทางออกรถเมล์เอ็นจีวี ไม่ต้องเสียค่าโง่ 1.1 พันล้าน!

ผมเขียนบทความนี้โดยมีจุดมุ่งหวังที่จะให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ใช้รถเมล์ที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึงภายในเวลาไม่นาน ผมทราบดีว่ารถเมล์ที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ใช้วิ่งรับส่งคนกรุงมีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทำให้รถมีสภาพเสื่อมโทรม

ขสมก.ได้พยายามจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 แต่มีปัญหาต่างๆ นานา จนถึงรัฐบาลนี้ ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น แม้ว่าต้องการซื้อล็อตแรกเพียง 489 คันเท่านั้น จากทั้งหมด 3,183 คัน ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ จนถึงบัดนี้มีการประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมด 8 ครั้งแล้ว ล้มเหลวไป 7 ครั้ง จนถึงครั้งที่ 8 ซึ่งผลจากการประมูลปรากฏว่าบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล ทำให้มีรถเมล์เอ็นจีวีใหม่มาวิ่งอยู่บนท้องถนนจำนวน 100 คัน ดังที่เห็นกันอยู่ทั่วไป แต่ยังไม่ครบ 489 คัน ตามที่ต้องการซื้อล็อตแรก

แต่ก่อนจะถึงการประมูลครั้งที่ 8 มีการประมูลที่น่าสนใจอย่างมาก นั่นคือการประมูลครั้งที่ 4 ซึ่งบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะ แต่ถูกขสมก.บอกเลิกสัญญา

เป็นที่รู้กันในวงการผู้ประกอบการรถโดยสารว่า ช.ทวี และเบสท์ริน เป็นคู่แข่งที่หวังจะคว้าชัยชนะจากการประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ของขสมก. มีการผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนถึงการประมูลครั้งที่ 4 เบสท์รินเป็นผู้ชนะ ด้วยการเสนอราคารถและค่าซ่อมบำรุงรักษาระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินรวมประมาณ 3,389.7 ล้านบาท จากราคากลางประมาณ 4,021.7 ล้านบาท หรือเบสท์รินเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 632 ล้านบาท ต่อมาเบสท์รินนำรถเข้ามาจำนวน 489 คัน แต่ได้ส่งมอบให้ขสมก.จำนวน 292 คัน และขสมก.ได้มอบอำนาจให้เบสท์รินนำรถจำนวน 292 คัน ไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก โดยมีขสมก.เป็นเจ้าของ ทั้งนี้ก่อนจดทะเบียน ขสมก.ได้ติดตั้งระบบติดตามรถหรือจีพีเอสในรถทุกคันเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้ติดตั้งจีพีเอสก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนได้ แต่ต่อมาขสมก.ได้บอกเลิกสัญญากับเบสท์ริน โดยอ้างว่า (1) เบสท์รินส่งมอบรถช้ากว่ากำหนดในสัญญา และ (2) ไม่ได้เป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนและประกอบในประเทศมาเลเซียตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่เป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนทั้งหมด ทำให้เบสท์รินนำเรื่องนี้ไปฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง

ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้เบสท์รินเป็นเงินจำนวนประมาณ 1,160 ล้านบาท โดยศาลปกครองกลางมีเหตุผลดังนี้ (1) การที่ขสมก.อ้างว่าเบสท์รินส่งมอบรถช้ากว่ากำหนดนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะขสมก.ได้มีการขยายเวลาการส่งมอบแล้ว และการมอบอำนาจให้เบสท์รินนำรถไปจดทะเบียนโดยมีขสมก.เป็นเจ้าของนั้นถือว่าเป็นการรับรถโดยปริยาย และ (2) ในประกาศประกวดราคาของขสมก.ระบุชัดว่ารถที่จะส่งมอบให้ขสมก.ต้องเป็นรถที่ผลิตในต่างประเทศหรือประกอบในประเทศไทยก็ได้ ดังนั้น หากรถที่นำเข้ามาทั้งหมดเป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนก็ไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การบอกเลิกสัญญา

เมื่อย้อนดูราคาที่เบสท์รินเสนอต่อขสมก.คือ 3,389.7 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าราคากลางของขสมก.ถึง 632 ล้านบาท เป็นค่าซื้อรถ 489 คัน และค่าบำรุงรักษารถระยะเวลา 10 ปี หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้เท่ากับ 6.93 ล้านบาท พบว่าถูกกว่าราคาที่ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอต่อขสมก.ในการประมูลครั้งที่ 8

กล่าวคือช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคา 4,260 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท เป็นราคารถจำนวน 489 คัน พร้อมค่าบำรุงรักษารถระยะเวลา 10 ปี เหมือนกัน หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้เท่ากับ 8.71 ล้านบาท นั่นหมายความว่าราคาของเบสท์รินถูกกว่าราคาของช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ถึงคันละ 1.78 ล้านบาท ดังนั้น หากขสมก.ซื้อรถจากเบสท์รินทั้งหมด 489 คัน จะทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 870 ล้านบาท

แต่น่าแปลกมากที่ได้มีความพยายามบอกเลิกสัญญากับเบสท์ริน จนถูกศาลปกครองกลางสั่งให้ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้เบสท์รินถึงประมาณ 1,160 ล้านบาท ดังกล่าวแล้วข้างต้น ในขณะที่กรณีของช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ซึ่งเสนอราคาแพงกว่าถึงคันละ 1.78 ล้านบาท รวม 489 คัน เป็นเงินที่แพงกว่าถึง 870 ล้านบาท และที่สำคัญ ราคาของช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์สูงกว่าราคากลางของขสมก.ถึง 240 ล้านบาท แต่กลับมีความพยายามเร่งรัดให้มีการทำสัญญา ทั้งๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีมติของคณะกรรมการขสมก.อนุมัติให้ขสมก.ทำสัญญากับช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ จนถูกศาลปกครองกลางสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการขสมก.ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั่นหมายความว่าไม่มีมติของคณะกรรมการขสมก.ที่อนุมัติให้ขสมก.ทำสัญญาซื้อรถเมล์กับช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เกิดขึ้นในการประชุมดังกล่าว สำหรับรายละเอียดของประเด็นนี้ผมจะนำเสนอในบทความต่อไป

เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผมขอเสนอให้ขสมก.รับรถของเบสท์รินจำนวน 292 คัน ซึ่งขสมก.ได้มอบอำนาจให้เบสท์รินไปจดทะเบียนโดยมีขสมก.เป็นเจ้าของแล้ว จะทำให้ขสมก.ไม่ต้องเสียค่าโง่ 1,160 ล้านบาท และจะทำให้คนกรุงมีรถใหม่ใช้ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขให้เบสท์รินชำระภาษีให้ถูกต้องตามที่ถูกกล่าวหาว่าเบสท์รินสำแดงแหล่งกำเนิดของรถอันเป็นเท็จ

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังที่อยากให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ใช้รถเมล์ที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึงในอนาคตอันใกล้ และที่สำคัญ จะต้องเป็นรถที่ได้มาจากการประมูลที่โปร่งใส ในราคาที่เป็นธรรม และประหยัดงบประมาณของประเทศ

โปรดติดตามตอนต่อไป “เบื้องลึกประมูลรถเมล์เอ็นจีวีที่คนไทยต้องรู้” ในวันพรุ่งนี้ (วันพุธที่ 18 เมษายน 2561)

ทางออกค่าโง่รถเมล์ NGV!!"ดร.สามารถ"แนะทำอย่างไรขสมก.ไม่ต้องจ่าย1.1 พันล้าน" ชี้น่าแปลกซื้อของได้ถูกแล้ว ทำไมยังฉีกสัญญาไปจ่ายแพงกว่า??