ต้องอ่าน?"ต้นตำรับอารยะขัดขืนไชยันต์ ไชยพร"ตรวจการบ้านคสช.-ตีแสกหน้านักลต."ไม่มีรปห.ไม่มีวันนกม.ใหญ่เข้าสู่กระบวนยุติธรรม-หนูปูเป็นตัวอย่าง"

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"ผลงานรัฐฯ ด้านทุจริตที่เห็นชัดคือคดีจำนำข้าว"?! "ต้นตำรับอารยะขัดขืน ไชยันต์ ไชยพร" อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจการบ้าน 4 ปี คสช. ยันชัด เป้าหมายแรกของการทำรัฐประหาร คือ การยุติสภาวะที่ไหลลื่นลงไปเหมือนประเทศซีเรีย หรือ กัมพูชาสมัยก่อน ถ้าจะให้คะแนน 4 ปี ก็คงให้คะแนนการรักษาความสงบเรียบร้อย"

 

ขณะที่ในด้านอื่น ๆ เช่นด้านทุจริตผลงานที่เห็นชัด คือ คดีจำนำข้าว  โดย อ.ไชยันต์ ระบุว่า ถ้าไม่มีอย่างนี้ก็พิจารณาคดีอะไรไม่ได้เลย ถ้าเปรียบกับสมัยรัฐบาลทักษิณ กรณีเรื่องซื้อขายหุ้น กระบวนการยุติธรรมสามารถนำผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นนักการเมืองใหญ่เข้าสู่กระบวนการได้เลย จะต้องเกิดขึ้นหลังจากที่สุดแล้วต้องทำรัฐประหาร ในกรณี น.ส.ยิ่งลักณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีรัฐประหาร ถ้าปล่อยให้ใช้อิทธิพลของการเมือง ก็จะทำให้กระบวนการเหล่านี้ไม่เดินหน้า

ส่วน"จัดระเบียบสังคม" ก็ถือเป็นผลงานเด่น ขณะที่มีอีกหลายเรื่องที่ไม่มีสันได้เห็นในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

โดยการตรวจการบ้าน คสช.ของ  อ.ไชยันต์ ในครั้งนี้เกิดชึ้นจากการให้สัมภาษณ์กับ "หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ" และเผยแพร่ทางออนไลน์ ในหัวข้อ "INTERVIEW | 'ไชยันต์' ตรวจการบ้าน คสช. "สอบผ่านจัดระเบียบสังคม" เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดทั้งหมดที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ลงไว้ คือ


นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับผลงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในห้วงครบรอบ 4 ปี วันที่ 22 พ.ค. 2561 นี้ ว่า ช่วงที่ คสช. ขึ้นมาแล้ว ความประทับใจ คือ การยุติสภาวะความไร้ระเบียบ สภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมือง โดยเป้าหมายแรกของการทำรัฐประหาร คือ การยุติสภาวะที่ไหลลื่นลงไปได้ ถ้าจะให้คะแนน 4 ปี ก็คงให้คะแนนการรักษาความสงบเรียบร้อยและความขัดแย้งของบ้านเมือง

"ตอนที่ คสช. ขึ้นมา ความประทับใจคือ การยุติสภาวะความไร้ระเบียบ สภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมือง เป้าหมายแรกของการทำรัฐประหาร คือ การยุติสภาวะที่ไหลลื่นลงไปเหมือนประเทศซีเรีย หรือ กัมพูชาสมัยก่อน ถ้าจะให้คะแนน 4 ปี ก็คงให้คะแนนการรักษาความสงบเรียบร้อย"

ผลงานเด่น! "จัดระเบียบสังคม"
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวอีกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ถ้าคงความรู้สึกเหมือนช่วง พ.ค. 2557 คงบอกว่า 4 ปีนี้ คสช. สามารถทำให้เกิดความสงบในบ้านเมืองได้ในระดับที่เรียกว่า แตกต่างกัน แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี ก็ต้องคิดด้วยว่า กลุ่มธุรกิจใดที่ไม่ดี เพราะบางกลุ่มธุรกิจก็ดี แต่โดยรวมคนยังหากินได้ตามปกติ ขณะที่ ช่วงก่อน พ.ค. 2557 ไม่ว่าคนกลุ่มไหนก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ เรื่องเศรษฐกิจคนอาจคาดหวังจะดี แต่คงไม่มีใครทำได้อย่างรวดเร็วขนาดนั้น

สิ่งที่ คสช. พยายามจัดระเบียบ ก็คือ การซอยย่อยออกมาจากการรักษาความสงบเรียบร้อยและความขัดแย้งของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็น การจัดระเบียบรถตู้ แม้ทำไม่ได้เต็ม 100 แต่บางเรื่องก็ทำได้ เช่น สภาพคลองถมที่เปลี่ยนไป หรือ สภาพตามชายหาด ก็ต้องยอมรับว่า ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็คงทำยากมาก ส่วนลอตเตอรี่โดยรวมก็ดีขึ้น เห็นมีการปรับปรุงการแก้ไขปัญหาเป็นระยะ ถือว่าสอบผ่าน

เป้าหมายทำรัฐประหารที่จะลดเงื่อนไขการไปสู่สงครามกลางเมือง การรักษาสถาบัน เรื่องการควบคุมกองกำลังก็จำเป็นต้องทำต่อไป เพราะยุทโธปกรณ์ก็ต้องทำต่อไป รวมทั้งเรื่องการเปิดสถานบริการเกินเวลา ทำให้สถานบริการจำนวนมากเปิดตรงเวลา แต่ยังมีบางแห่งเปิดเกินเวลาอยู่ ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ แสดงว่า คสช. ยังทำงาน 2 มาตรฐานอยู่

ขณะที่ เรื่องปฏิรูปด้านต่าง ๆ คิดว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ตั้งไข่ ช่วงที่พยายามจัดระบบความคิด ในทางวิชาการการปฏิรูปเป็นสิ่งที่ไม่เร็ว ซึ่งต่างจากปฏิวัติ ที่ต้องพังครืนระบบเก่าในระยะเวลาที่เร็ว และเกิดการสร้างอะไรใหม่ขึ้นมา แต่การปฏิรูป คือ การกระทำที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีรากฐาน "ทำอะไร คือ ไทยแท้" และมีวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ที่ลงลึกมาแต่โบราณ

สะสาง 'คดีจำนำข้าว'
นายไชยันต์ ได้สะท้อนถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาล คสช. เรื่องทุจริต ว่า ที่ผ่านมา โดยภาพรวมมีการชี้เป้า แล้วใช้ ม.44 ตั้งกรรมการสอบยุติการทำงานของข้าราชการจำนวนมาก และมีทั้งที่ตั้งกรรมการแล้วพ้นมลทินก็มี ไม่พ้นมลทินก็มี ซึ่งยังไม่รู้ผลเป็นอย่างไร ไม่มีผลสรุปนี้ รวมทั้งข้อสงสัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เหตุใดไม่แจงทรัพย์สินให้ชัดเจน ขณะที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เคยมีภาพลักษณ์เป็นคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร คะแนนตรงนี้ คสช. ก็จะติดลบทันที

ผลงานรัฐบาลด้านทุจริตที่เห็นชัด คือ คดีจำนำข้าว ถ้าไม่มีอย่างนี้ก็พิจารณาคดีอะไรไม่ได้เลย ถ้าเปรียบกับสมัยรัฐบาลทักษิณ กรณีเรื่องซื้อขายหุ้น กระบวนการยุติธรรมสามารถนำผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นนักการเมืองใหญ่เข้าสู่กระบวนการได้เลย จะต้องเกิดขึ้นหลังจากที่สุดแล้วต้องทำรัฐประหาร ในกรณี น.ส.ยิ่งลักณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีรัฐประหาร ถ้าปล่อยให้ใช้อิทธิพลของการเมือง ก็จะทำให้กระบวนการเหล่านี้ไม่เดินหน้า

ผลงานการออกกฎหมายภายใต้การทำรัฐประหาร ก็ถือว่า โดดเด่น เป็นการออกกฎหมายมาจัดการกับการทุจริต เช่น คดีไม่มีอายุความ สิ่งที่ต้องทำ คือ การเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก ซึ่งก็ทำแล้ว แต่ปริมาณความเข้มข้นอาจจะยังไม่ได้เต็มที่ ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อจะให้ความเหลื่อมล้ำลดลง จะเห็นได้ว่า หลังจากกฎหมายออกมา คนก็ยักย้ายถ่ายเทมากมาย

ภายใต้ 4 ปี คสช. ยังมีการจับกุมผู้แอบอ้างหมิ่นเบื้องสูงระดับใหญ่ ๆ เยอะมาก ภายในปี 2557 พบว่า มีการจับกุม พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการสอบสวนกลาง กับพวก และกรณีนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ 'หมอหยอง' ในคดีหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะจับกุมได้หรือไม่ เราไม่เคยเห็นภาพที่ชัดเจนอย่างนี้จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่าใดนัก อาจจะจับแค่รายเล็ก ๆ อย่างกิมเอง

ชี้ช่อง 'บิ๊กตู่' นายกฯ รอบ 2
นายไชยันต์ กล่าวว่า อยากแนะนำ คสช. อย่ากังวลกับการที่ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ ควรจะเชื่อตามที่ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พูดไว้ช่วงร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เสร็จว่า ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ หลังเลือกตั้งแล้ว รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ ส.ส. และ ส.ว. ยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนในก่อน คือ เลือกตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเลือกไว้ เมื่อตกลงกันไม่ได้จริง ๆ หรือ ถ้าสภาสามารถหาเสียงได้ 250 เสียง เพื่อปลดล็อกหาคนนอก อันนั้นค่อยว่ากันว่า เขาเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ หรือใครใน คสช. หรือเปล่า เมื่อนักการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้ ค่อยมาตามเงื่อนไขที่จะเป็นและจะมีความชอบธรรมมาก

หรือ ถ้าอยากเป็นนายกรัฐมนตรีจริง ๆ ก็ต้องกล้าได้กล้าเสีย ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง นำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไปใส่ไว้ในตอนที่เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล้าได้กล้าเสีย คือ ถ้าประชาชนต้องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ พรรคนี้ แม้จะเป็นพรรคหน้าใหม่ก็อาจได้เสียงถล่มทลายก็ได้ และบัดนั้น ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนในและมีความชอบธรรม แต่ถ้ายอมให้เอาชื่อไปแล้ว แล้วเกิดเสีย ก็ต้องยอมรับสภาพ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีคนใน หรือ นายกรัฐมนตรีคนนอก ก็ยังหาไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 5 คือ ตามประเพณีการปกครอง


อย่างล่าสุด ผลการเลือกตั้งในมาเลเซียก็จะพลิกโผ พรรคของ 'มหาธีร์ มูฮัมหมัด' ก็กลับมา ประเด็น คือ พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งในมาเลเซียขณะนี้ ที่พูดเพื่อเทียบเคียงกับเมืองไทย ก็คือ ไม่มีพรรคไหนได้คะแนนมาก การจัดตั้งรัฐบาลคงยากมาก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองในต่างประเทศ บอกว่า ตามรัฐธรรมนูญต้องให้พระมหากษัตริย์ของมาเลเซียเป็นผู้ให้คำแนะนำว่า จะให้พรรคไหนเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาลตามการปกครองแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงให้คำปรึกษาได้

ขณะที่ ในบ้านเรา ถ้าติดขัดหรือเกิดทางตันทางการเมืองจริง ๆ จะมี 2 ทาง คือ เลือกตั้งเสร็จแล้วจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ตามประเพณีการปกครองรัฐสภาของเรา หนึ่งคือ ยุบสภา เพื่อให้ตัวเลขเปลี่ยนแปลงหลังประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ หรือ ทูลเกล้าฯ ให้พระองค์พระราชทานคำแนะนำ ก็จะกลายเป็นรัฐบาลแห่งชาติ

ตอนนี้ เค้าลางของรัฐบาลแห่งชาติปะทุขึ้นแล้ว ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินสายไปทั่ว ดึงพรรคเดิมที่มีขนาดกลาง ก็ไปเยี่ยมหมด หลายคนมองว่า นี่คือ การต่อรองสัญญากันว่า หลังเลือกตั้งจะสนับสนุนกัน

"น่าคิดว่า หลังเลือกตั้งของไทย แม้จะมีพรรคที่ได้คะแนนมาอันดับที่ 1 ที่ 2 ก็มีแนวโน้มคะแนนไม่ห่างกันเลย และไม่มีพรรคใดได้เกินครึ่ง เพราะเราจะเห็นภาพดึง ส.ส. ออกจากพรรคใหญ่ มีการแตกตัวกันออกมา มีพรรคใหญ่ที่แม้จะชนะเลือกตั้งก็คงไม่ได้ตำแหน่งอะไร พวกนี้ก็จะถอนตัวออกมาเพื่ออนาคตที่ดีกว่าและรวดเร็วกว่า"

"ผมว่า จริง ๆ แล้ว เป็นภาพที่จะนำไปสู่การเป็นรัฐบาลแห่งชาติ แต่ต้องค่อย ๆ รอเงื่อนไขทางการเมืองที่รอให้เป็นด้วย" อาจารย์รัฐศาสตร์ จากรั้วจามจุรี สะท้อนความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ


ขอบคุณพิเศษ : "ฐานเศรษฐกิจ" , "อ.ไชยันต์ ไชยพร"