เลวสุดบรรยายเงิน 10 ล้านโกงไป 9 ล้าน?! เงินทอนวัดลามขอนแก่น "ปปป." ลุยขอข้อมูล"วัดธาตุ" หลังถูกแก๊งงาบโกงวัดไปกว่า 90 %

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

เงินทอนวัดลามขอนแก่น?! "ปปป." ลุยขอข้อมูล"วัดธาตุ" หลังถูกแก๊งงาบโกงทางวัดกว่า 90 %  โดยพบว่างบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ที่ทาง พศ. โอนมาให้กับวัด มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงโอนเงินคืนมาเป็นของตนเอง เหลือไว้ให้ทางวัดประมาณ 1 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็นยักยอกไปกว่า 9 ล้านบาท หรือ 90 % ทีเดียว

 

วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว กรณีทุจริตเงินทอนวัดที่กำลังเป็นประเด็นหนักในขณะนี้ว่า วันนี้เจ้าหน้าที่กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ได้เดินทางไปยัง "วัดธาตุ" พระอารามหลวง ริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น เพื่อขอข้อมูลจากพระผู้ใหญ่ ในฐานะที่ทางวัดตกเป็นผู้เสียหาย เพราะจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่างบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) โอนมาให้กับวัด มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองพระพุทธศาสนาโอนเงินคืนมาเป็นของตนเอง โดยเหลือไว้ให้ทางวัดประมาณ 1 ล้านบาทเท่านั้น

 

ทั้งนี้ วัดธาตุ พระอารามหลวง จ.ขอนแก่น เป็นวัดที่มีโรงเรียนปริยัติธรรม หรือโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา ตั้งอยู่ และเป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เป็นงบอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม

 

แหล่งข่าวระบุว่า การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ บก.ปปป.ครั้งนี้ ได้สอบปากคำบุคคลในฐานะพยานภายในวัดไปแล้ว 3 ราย ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะรวบรวมหลักฐานเสนอผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันทุจริต โดยจะเสนอไปที่สำนักงาน ป.ป.ช. คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานพอสมควร

นอกจากการสอบปากคำพยานบุคคลแล้ว ยังมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินงบประมาณที่ถูกโอนมายังบัญชีของโรงเรียนปริยัติธรรมว่ามีการโอนกี่ครั้ง ครั้งละเท่าไหร่ และเงินงบประมาณที่โอนมาได้ถูกถ่ายโอนเข้าบัญชีใครบ้าง โดยเป็นการสอบข้อเท็จจริงในฐานะพยาน เน้นไปที่การตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่กองพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ไม่ได้มาตรวจสอบเพื่อเอาผิดพระแต่อย่างใด

 

ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัดหรือไม่นั้น จากการตรวจสอบเงินงบประมาณก้อนดังกล่าวไม่ได้โอนเข้าบัญชีของเจ้าอาวาสวัดโดยตรง แต่เป็นการโอนเข้าบัญชีของทางวัด แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลด้วยว่า กรณีทุจริตครั้งนี้เจ้าอาวาสวัดและพระสงฆ์ภายในวัดธาตุ น่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ผู้ที่ดำเนินการในเรื่องงบประมาณ คือ อดีตผู้อำนวยการกองพระพุทธศาสนา เมื่อปี 2556 โดยเจ้าหน้าที่พบพฤติการณ์ คือ หลังจากที่สำนักงาน พศ. โอนเงินงบประมาณเข้าบัญชีของทางวัด อดีตผู้อำนวยการกองพระพุทธศาสนาในขณะนั้นจะเป็นผู้จัดการ โดยโอนเงินให้กับโรงเรียนปริยัติธรรม หรือโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา 3 ครั้ง ครั้งแรก 3 ล้านบาท ครั้งที่ 2 จำนวน 5 ล้านบาท และครั้งที่ 3 จำนวน 10 ล้าน รวมแล้วเป็นเงิน 18 ล้านบาท

 

หลังจากนั้น อดีตผู้อำนวยการกองพุทธศาสนาคนดังกล่าว จะขอเงินงบประมาณคืนไปเกือบทั้งหมด เหลือไว้ให้โรงเรียนแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น โดยที่ทางโรงเรียนเข้าใจว่าเป็นขั้นตอนของทางราชการที่สามารถทำได้จึงคืนให้ไป


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : แนวหน้าออนไลน์