สถ.จัดเสวนาการบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียน มุ่งหวังโภชนาการที่ดีสู่เด็กไทย พร้อมผลักดันระบบแนะนำสำหรับอาหารกลางวัน

สถ.จัดเสวนาการบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียน มุ่งหวังโภชนาการที่ดีสู่เด็กไทย พร้อมผลักดันระบบแนะนำสำหรับอาหารกลางวัน

สถ.จัดเสวนาการบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียน มุ่งหวังโภชนาการที่ดีสู่เด็กไทย พร้อมผลักดันระบบแนะนำสำหรับอาหารกลางวัน

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2561 เวลา 10.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “การบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียนให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ” โดยมีอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง นักวิชาการด้านโภชนาการชุมชน สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC) เป็นผู้ร่วมเสวนา และมีว่าที่ ร.ท. ดร.สุวรรณ พิณตานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งมีบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 400 คน เข้ารับฟัง ณ โรงแรมอเล็กซานเดอร์ กรุงเทพมหานคร

สถ.จัดเสวนาการบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียน มุ่งหวังโภชนาการที่ดีสู่เด็กไทย พร้อมผลักดันระบบแนะนำสำหรับอาหารกลางวัน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมฯ มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งในรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับสถานศึกษาในสังกัด อปท. และการอุดหนุนเงินงบประมาณให้สถานศึกษาสังกัดส่วนราชการอื่นไปดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แจ้งซักซ้อมแนวทางการทำงบประมาณรายจ่ายเพื่อรองรับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ให้เป็นไปอย่างถูกและเพียงพอต่อจำนวนเด็กนักเรียนระดับปฐมวัย และระดับประถมศึกษาในสถานศึกษา ตามที่รัฐบาลอนุมัติให้จัดสรรงบประมาณในอัตราคนละ 20 บาทต่อวัน หลังจากที่กรมฯ ได้รับอนุมัติเงินประจำงวดแล้ว จะดำเนินการโอนจัดสรรงบประมาณให้ อปท. นำไปบริหารจัดการ โดยสถานศึกษาในสังกัด อปท. จะต้องส่งเงินค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของสถานศึกษา เพื่อนำไปใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวัน ส่วนสถานศึกษาสังกัดส่วนราชการอื่น ก็ให้ อปท.อุดหนุนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้แก่สถานศึกษา ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนของ อปท. และเพื่อเป็นหลักประกันว่า งบประมาณค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนสังกัด สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับจัดสรรอย่างรวดเร็วนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะกำหนดให้ อปท. จัดสรรงบประมาณไปให้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ได้รับโอนเงินงบประมาณจากกรมฯ ไป

สถ.จัดเสวนาการบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียน มุ่งหวังโภชนาการที่ดีสู่เด็กไทย พร้อมผลักดันระบบแนะนำสำหรับอาหารกลางวัน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อในส่วนของการป้องกันการทุจริต หรือการที่เด็กนักเรียนได้รับอาหารกลางวันหรือสารอาหารไม่ครบถ้วนว่า กรมฯ ได้กำชับ อปท. ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางการตรวจสอบด้านการเงิน การคลัง การพัสดุ และการบัญชีของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงการตรวจสอบบัญชีการเงินของ อปท. ในส่วนของค่าอาหารกลางวันอย่างเคร่งครัด และยังให้พิจารณานำระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch : TSL) มาใช้ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมความร่วมมือระหว่างสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จัดทำขึ้น เพื่อให้มีความครอบคลุมทั้งในด้านคุณค่าทางโภชนาการตามหลักวิชาการและความสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมหรือบริบทของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาใดใช้วิธีการจัดหาโดยซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันเอง ก็ขอให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วยทุกครั้ง และเพื่อความโปร่งใสและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณอาหารกลางวัน ก็ให้มีการปิดประกาศรายการอาหารและจำนวนวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน รวมถึงให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมั่นตรวจติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจ หรือลงพื้นที่ในการสุ่มตรวจเองเป็นระยะ ส่วนการแต่งตั้งกรรมการตรวจรับพัสดุนั้น ก็ให้มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบุคลากรมาทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย

สถ.จัดเสวนาการบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียน มุ่งหวังโภชนาการที่ดีสู่เด็กไทย พร้อมผลักดันระบบแนะนำสำหรับอาหารกลางวัน

ทางด้านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ได้กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนให้มีคุณภาพว่า การสร้างประชากรที่มีคุณภาพ เริ่มจากเด็กที่ต้องเสริมพัฒนาการให้สูงดี สมวัย ไอคิวดี จะพึ่งอาหารกลางวันมื้อเดียวที่โรงเรียนไม่ได้ แต่ต้องได้รับอาหารที่มีคุณภาพทุกมื้อ ซึ่งครอบครัวต้องมีส่วนร่วม และในทางกลับกันถ้าอาหารกลางวันไม่มีคุณภาพ แม้จะเป็นเพียงแค่มื้อเดียวต่อวันจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนของเด็กด้อยกว่าเด็กที่กินอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ และแน่นอนว่ากระทบกับการเจริญเติบโตของเด็ก และผลกระทบสองอย่างนี้ จะกระทบกับคุณภาพของเด็ก เมื่อไม่มีประสิทธิภาพ เติบโตไม่สมวัย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่คุณภาพด้อยลงได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีสารอาหารครบถ้วนถูกต้องตามหลักโภชนาการ ไม่ใช่เพียงแต่อิ่มอาหารเท่านั้น ต้องอิ่มสารอาหารด้วย ซึ่งในอนาคต ประเทศไทยควรจะต้องมี "นักโภชนาการท้องถิ่น" ทำหน้าที่เป็น "นักการจัดการด้านอาหารและโภชนาการชุมชน" เข้ามาดูแลการบริโภคอาหารและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโภชนาการของเด็กและเยาวชนให้พึงประสงค์

ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง นักวิชาการด้านโภชนาการชุมชน สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวด้วยว่า การจัดอาหารแต่ละสำรับให้กับเด็กนักเรียนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า มีความครอบคลุมจำนวนผู้รับบริการและจำนวนวันที่จัดบริการเพิ่มขึ้นจากอดีตมาก แต่ในด้านคุณค่าสารอาหารนั้น ยังขาดระบบการตรวจสอบรับประกันความครบถ้วนของสารอาหารสำคัญที่เด็กวัยเรียนควรได้รับตามหลักโภชานาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามหาระบบการจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แต่ละโรงเรียน ในมิติด้านโภชนาการตามหลักวิชาการ อาหารจะต้องมีครบทั้งคุณค่าของพลังงาน โปรตีน รวมทั้งวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานศึกษาให้สามารถจัดหาและตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวันนักเรียนตามหลักโภชนาการ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เราจึงต้องสร้างและพัฒนาครูหรือบุคลากรแกนนำในสถานศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียน โดยเสริมด้วยโปรแกรมระบบออนไลน์ Thai School Lunch : TSL หรือโปรแกรม INMU-School Lunch ที่เป็นโปรแกรมใช้จัดสำรับอาหารกลางวันโรงเรียนเพื่อช่วยให้ครูผู้ดูแลอาหารสามารถตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพสำรับอาหารได้ด้วยตนเอง ซึ่งอำนวยความสะดวกในการวางแผนและบริหารจัดการงบประมาณค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการรับประกันคุณภาพอาหาร

สถ.จัดเสวนาการบริหารจัดการอาหารกลางวันนักเรียน มุ่งหวังโภชนาการที่ดีสู่เด็กไทย พร้อมผลักดันระบบแนะนำสำหรับอาหารกลางวัน

สำหรับทาง ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวถึงการออกแบบและพัฒนาระบบแนะนำสำรับอาหารสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ Thai School Lunch : TSL และโปรแกรม INMU-School Lunch ว่า โปรแกรมนี้เป็นระบบที่ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงโปรแกรมได้ง่าย และผู้พัฒนาฯ สามารถทำการเพิ่มเติมและปรับปรุงรายการอาหารและข้อมูลสำรับให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยเนคเทค (NECTEC) ได้พัฒนาเพิ่มการแนะนำสำรับอาหารแบบอัตโนมัติเพื่อให้โรงเรียนจัดเมนูอาหารกลางวันได้เร็วและมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งในอนาคตระบบนี้จะช่วยให้ต้นสังกัดสามารถติดตามคุณค่าอาหารและงบประมาณในแต่ละโรงเรียนได้แบบ real-time ด้วย เพื่อให้เด็กไทยได้มีอาหารกลางวันที่ “อิ่ม คุ้มค่า ถูกหลักโภชนาการ” อันจะส่งผลต่อภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น 

อธิบดีกล่าวในตอนท้ายอีกด้วยว่า การเสวนาในครั้งนี้ กรมฯ ต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่เสียสละเวลามาให้ความรู้ และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทาง และการวางแนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนให้เกิดระบบการบริหารจัดการอาหารกลางวันที่ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมตามหลักประชารัฐ ให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน สืบไป โดยกรมฯ จะดำเนินการผลักดันให้มีนักโภชนาการท้องถิ่น อย่างน้อยอำเภอละ 1 คน เพื่อช่วยดูแล แนะนำคุณครู หรือผู้บริหาร อปท. เกี่ยวกับการบริโภคอาหารและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโภชนาการของเด็กนักเรียนด้วย และขอฝากให้บุคลากรทางการศึกษาทุกท่านร่วมกันพัฒนาการศึกษาของเด็กไทย ให้มีการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ให้เด็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความพัฒนาในทุกๆด้าน ทุกๆวัน อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ทุกคนในสังคมมาร่วมกันเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยกันพัฒนาการศึกษาของลูกหลานเราให้กว้างไกลต่อไป