"วิษณุ" เผยหารือพรรคการเมืองรอบ 2 นายกฯ พร้อมนั่งหัวโต๊ะ ปัดตอบเรื่องไพรมารีโหวต

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

วันนี้ (28 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล "นายวิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ในวันนั้นไม่ได้มีการพูดถึงการปลดล็อกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่  53/2560 ว่าจะมีการผ่อนคลายเรื่องใดบ้าง และที่ประชุมก็ไม่มีใครถามเรื่องดังกล่าว คาดว่าในการพบปะหารือกับพรรคการเมืองในครั้งที่ 2 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธาน จึงจะมีการพูดถึงเรื่องนี้

เมื่อนักข่าวถามว่า ได้กำหนดวันพูดคุยกับพรรคการเมืองในครั้งต่อไปแล้วหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนด จะไม่มีการกำหนดวันจนกว่าจะรู้เวลาที่กฎหมายลูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ส่วนเมื่อถามว่า ในส่วนภาคประชาชนสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เคลื่อนไหวได้ภายในกรอบกฎหมาย

 

แล้วเมื่อถามอีกว่า ได้พูดคุยถึงแนวทางการทำไพรมารีโหวตกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ว่าจะเป็นในรูปแบบใด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ได้เล่าเพียงปัญหาที่มีการคุยกันในที่ประชุมให้นายกฯทราบเท่านั้น  และนายกฯ ก็ทราบปัญหาดังกล่าวจาก พล.อ.ประวิตร อยู่ก่อนแล้ว ส่วนจะมีการตัดสินใจอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของ คสช. ซึ่งจะหารือกับทุกฝ่าย ไม่ได้คิดกันเองแค่ไม่กี่คน แต่ตนยังไม่ทราบความเคลื่อนไหวในส่วนนี้


ส่วนคำถามว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่จำเป็น  เมื่อถามว่า จะต้องหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้มีการเผื่อเวลาให้เพียงพอต่อการทำไพรมารีโหวตหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ต้องหารือ เพราะจะต้องมีการแบ่งเขตภายใน 60 วันจากนั้นจึงจะมีการทำไพรมารีโหวต โดยการแบ่งเขตจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย. ดังนั้น มีเวลาอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามยังถึงกรณีที่มีพรรคการเมืองตั้งข้อสังเกตเรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.ต้องทำภายใน 60 วันนับจาก การเลือกตั้งใน 150 วัน แต่หากมีการเลือกตั้งซ่อมจะนับอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า “ผมจะไม่ตอบเรื่องนี้แล้ว เพราะเรื่องไม่เป็นเรื่องอย่ามาพูดให้เป็นเรื่อง ใครสงสัยก็ให้ไปส่งศาลเอา แต่รัฐบาลไม่สงสัย และรัฐบาลจะไม่มีวันส่งด้วย เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินแล้วว่า เมื่อได้จัดการเลือกตั้งทั่วประเทศเรียบร้อย ถือว่าได้จัดครบเสร็จในกำหนดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาการเลือกตั้ง ที่ไม่เรียบร้อยแล้วมาจัดใหม่อยู่ในช่วงเวลา 150 วันนั้นอีก เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เมื่อก่อนเวลายุบสภาเขาก็ต้องให้เลือกตั้งภายใน 45 วัน เมื่อเสร็จแล้วก็จบ แต่ต่อมาการเลือกตั้งเป็นโมฆะต้องเลือกตั้งใหม่ ก็มีคนเถียงว่าเกิน 45 วัน ซึ่งก็ใช่ที่มันต้องเกิน แต่นั่นแปลว่าไม่มีปัญหาแล้วก็ต้องนับใหม่กัน”