ศาสตร์พระราชา ถอดบทเรียนแผนกู้ภัย "ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่" 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน (รายละเอียด)

ศาสตร์พระราชา ถอดบทเรียนแผนกู้ภัย "ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่" 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน เตรียมจัดทำแผนบทเรียน เพื่อเป็นประโยชน์การวางแผนป้องกันภัยรอบด้าน

วันนี้(17 ก.ค. 61) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ ได้นำข้อมูลจาก "Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย"  ซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่กล่าวถึงปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งการดำเนินแผนการในภารกิจช่วยเหลือครั้งนี้ ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกหลายสาขา นอกจากนั้นยังมีการเตรียมจัดทำแผนบทเรียน เพื่อเป็นประโยชน์การวางแผนป้องกันภัยรอบด้าน  โดยโมเดลถ้ำหลวงนี้ จะถูกขยายไปทุกแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย เพื่อให้ชาวไทยและต่างชาติได้รับบริการที่ดีและปลอดภัย

 

ถ้ำหลวง

 

 

โดยข้อความที่โพสต์ระบุว่า "ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ถือเป็นภารกิจกู้ภัยระดับโลก ที่มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เข้ามาร่วมให้ข้อมูลและปฏิบัติภารกิจจำนวนมาก ดังนั้น เหตุการณ์นี้จะเป็นสิ่งย้ำเตือนให้คนต้องทำความเข้าใจธรรมชาติและภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยง เตรียมพร้อมรับมือและตอบสนองต่อภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของบทเรียนครั้งนี้ เพราะเป็นแบบอย่างที่ดีของการจัดทำแผนบทเรียน บันทึกสิ่งที่ดำเนินการไประหว่างภารกิจ องค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญต่างชาติหลากหลายสาขาวิชา การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์อำนวยการร่วมและกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนป้องกันภัยอย่างรอบด้าน โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า โมเดลถ้ำหลวงนี้ จะสามารถนำไปขยายผลใช้ได้กับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ เพื่อให้ไทยมีมาตรฐานด้านการดูแลนักท่องเที่ยวที่ปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม

 

ถ้ำหลวง

 

 


 การจัดทำแผนบทเรียนต้องตอบอีก 3 โจทย์ ได้แก่ การแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต การป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ในอนาคต โดยโมเดล “ถ้ำหลวง” นี้ จะต้องถูกนำไปขยายผลกับทุกแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา ถ้ำ น้ำตก แม่น้ำ ทะเล จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ได้รับบริการที่ดี ประทับใจและปลอดภัย โดยเจ้าหน้าที่ต้องมีการตรวจตรา กำกับดูแลให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎกติกา เพื่อสวัสดิภาพของตนและเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีคู่มือ – มีคำแนะนำ สำหรับนักท่องเที่ยวหลายภาษา มีระบบเตือนภัย กล้องวงจรปิดและแผนเผชิญเหตุซึ่งกำหนดช่องทางการสื่อสารเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินและกำหนดผู้ปฏิบัติที่ชัดเจน

 

 

ถ้ำหลวง

 

 


 ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยประสบภัยพิบัติไม่บ่อยครั้ง แผนการรับมือจึงอาจมีการนำแบบแผนของต่างประเทศมาร่วมประยุกต์ใช้ ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการลำเลียงผู้ป่วยและกู้ชีพทางอากาศ นายแพทย์สุระ เจตน์วาที แพทย์เวชศาสตร์การบิน ที่เคยทำงานในประเทศญี่ปุ่น เล่าว่า ระบบการบริหารจัดการ การสื่อสารและความเป็นผู้นำ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้แผนการปฏิบัติต่างๆ ประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือการฝึกซ้อมการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย คุ้นชินกับแผนที่จัดทำขึ้น ซึ่งจากเหตุการณ์ถ้ำหลวง สามารถถอดบทเรียนนำมาใช้เป็นแผนรองรับกรณีภัยพิบัติอื่นในอนาคตต่อไปได้แน่นอน

 

ถ้ำหลวง

 


จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการถอดบทเรียนแล้ว การซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอและการทบทวนแผนการปฏิบัติที่ผ่านมา จะทำให้การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติจริง สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

 

ศาสตร์พระราชา ถอดบทเรียนแผนกู้ภัย "ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่" 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน (รายละเอียด)

 

 

ศาสตร์พระราชา ถอดบทเรียนแผนกู้ภัย "ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่" 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน (รายละเอียด)

 

 

 

 

ข้อมูลจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  , "Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย"