กระหึ่มโลก!! "สินบนข้ามชาติ" กี่ครั้งแล้ว กับความอัปยศของคนไทย

นำมาซึ่งความเสื่อมเสียให้แก่ประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ข่าวคึกโคมจากประเทศญี่ปุ่น สะเทือนมาถึงเมืองไทยเรา เพราะเป็นการโกงข้ามชาติข้ามประเทศ โดยสำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียวกำลังสืบสวน บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ท่าเรือของไทยกรณีขนส่งอุปกรณ์โรงไฟฟ้าปี 2556 มูลค่า 60 ล้านเยน หรือประมาณ20 ล้านบาท สำหรับบริษัท และพนักงานที่กระทำผิดมีโทษจำคุก 5 ปีหรือปรับ 5 ล้านเยน

 

 แต่สำหรับประเทศไทย เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและทำมาอย่างต่อเนื่อง มีความก้าวหน้าไปมาก โดยได้ทำงานร่วมกับอัยการญี่ปุ่นซึ่งเรื่องนี้มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แม้กระทั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น กรมเจ้าท่า หน่วยงานในท้องถิ่นและหลายหน่วยงาน

 

หากย้อนไปเมื่อช่วงปี56 ตรงกับยุคของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" โดยมี "พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล" เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ,"ศรศักดิ์ แสนสมบัติ" เป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า 

 

ส่วนปลัดกระทรวงคมนามคมคือ “พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" ขณะที่กระทรวงคมนาคม มีรัฐมนตรีที่ได้รับฉายาว่า แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"

ทั้งนี้ก็ต้องติดตามการทำงานของปปช.กันต่อไป ว่าจะสามารถลากตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้หรือ!! แต่อย่างไรเสียการโกงบ้านกินเมือง โดยเฉพาะการติดสินบนข้ามชาติอื้อฉาวระดับโลก สร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศชาติอย่างร้ายแรง แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างคดีดังๆที่เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่ลืม 

 

คดีแรกที่จะพูดถึง เป็นคดีการสินบนข้ามชาติ คดีแรกที่ทางการไทยร่วมกับต่างประเทศ คือ "บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล"  การเรียกรับเงินจากนักธุรกิจชาวอเมริกัน เพื่อให้สิทธิ์ในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท ของนางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

 

คดีนี้โด่วดังจากเมื่อต้นปี 2553 ศาลสหรัฐฯ และเอฟบีไอ ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act) หรือ FCPA ของสหรัฐฯ กับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ กระทั่งปลายปี 2553 ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย 6 เดือน จากนั้นกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน จ่ายเงินชดใช้ 2.5 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท โดยนอกเหนือจากนางจุฑามาศ แล้วยังกล่าวหาบุตรสาวนางจุฑามาศด้วย

 

ท้ายสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้จำคุกนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วัย 70 ปี กับลูกสาว จิตติโสภา วัย 43 ปี ที่ตกเป็นจำเลยร่วมคดีสินบนข้ามชาติและศาลสั่งให้ริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินด้วย 

 

 

ต่อมา คดีกล่าวหานักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ รับสินบนเอื้อประโยชน์บริษัททำเหมืองแร่ทองคำข้ามชาติ ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.ลพบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบ 

 

ปี58 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ข้อมูลและหลักฐานจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในไทยด้วย

 

การเปิดเผยพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 13 ราย เข้าไปพัวพันกับการกล่าวหาว่า  มีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย และนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา 

คดีกล่าวหานักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ รับสินบนจากเอกชนข้ามชาติ เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจสอบระเบิด (CTX) ในสนามบินสุวรรณภูมิ เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี48 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ 2

 

จากผลการสอบสวนของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐฯ ตรวจพบการติดสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐของบริษัท อินวิชั่น หรือ InVision ประกอบธุรกิจออกแบบ และผลิตระบบการตรวจสอบวัตถุระเบิดเพื่อติดตั้งในท่าอากาศยาน ถูกกล่าวหาว่า มีการติดสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือไทย โดยพบว่า มีความพยายามจะติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทย แต่ยังไม่ทันทำเสร็จ ถูกสื่อมวลชนสหรัฐขุดคุ้ยขึ้นมาเสียก่อน  แต่อย่างไรก็ดีการจัดซื้อ CTX ได้มีการชงเรื่องเมื่อปี46 ซึ่งตรงกับในยุครัฐบาลนายทักษิณ 1 

 

 

และอีกหนึ่งคดีดังที่ถูกเปิดเผยเมืองช่วงปี60ที่ผ่านมา นั้นก็คือ กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้การยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ว่าจ่ายสินบนให้หลายประเทศที่ซื้อขายเครื่องยนต์ของ ‘โรลส์-รอยซ์’ โดยจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทยฯ ด้วย ในระหว่างปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือในการจัดทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์ T-800 

 

นอกจากเจ้าหน้าที่แล้ว ทางกระทรวงยุติธรรม สหรัฐ ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ในช่วงปี 2543-2556 เป็นเงินประมาณ 385 ล้านบาทด้วยเช่นเดียวกัน

 

นี้เป็นเพียงส่วนครึ่งของคดีที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการการทุจริตอย่าว่าแต่ข้ามชาติเลย ทั้งในประเทศ หรือหน่วยงานไหน ไม่ว่าจะยุครัฐบาลใดก็ตาม ต้องถือเป็นความอัปยศของคนไทยทุกคน

 

นำมาซึ่งความเสื่อมเสียให้แก่ประเทศชาติและประชาชน  ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง  ตรวจสอบดำเนินคดีเอาผู้กระทำความผิดไปเข้าคุกให้ได้ ท้ายที่สุด...ก็ต้องแต่หวังว่า คดีนี้คงเป็นคดีสุดท้ายที่เกิดขึ้น กับประเทศชาติของเรา