อภิมหาโปรเจคประชานิยม  "บ้านเอื้ออาทร" งัดหลักฐานชัดระบอบทักษิณรุมฟาดงบฯแผ่นดิน

รื้อฟื้น โครงการบ้านเอื้ออาทร ในสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พบมีการทุจริตงบประมาณแผ่นดิน

กลับมาเป็นจุดสนใจของสังคมอีกครั้ง สำหรับกระบวนการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรตามนโยบายรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร  ที่มีการพิพากษาความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง  แต่ก็ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกบางส่วนเพิ่งมีการรื้อฟื้นนำมาพิจารณาความผิดถูกอีกครั้ง  จนกระทั่งมีการชี้มูลบุคคลที่เข้าข่ายกระทำผิด และเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม ล่าสุดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ประทับรับฟ้อง นำทีมโดย นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 60 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลทักษิณ 2 และแกนนำพรรคเพื่อไทย พร้อมพวก ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ขณะเดียวกัน นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง พร้อมพวก  ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

 

อ่านเพิ่ม เรียงหน้าชำระกรรม ศาลฎีกาฯประทับรับฟ้องคดีทุจริต"บ้านเอื้ออาทร"แล้ว "วัฒนา"นำทีม พ่วง"อริสมันต์"ด้วย  http://www.tnews.co.th/contents/475581

และเพื่อขยายความกรณีนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  เพื่อนำสืบค้นในรายละเอียดต่อ ๆ ไป ว่าทำไมโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คนมีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงกลายเป็นโครงการที่มีการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย  เราจะย้อนกลับไปดูมติครม.ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร  ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นโครงการนี้

 

      โดยการประชุมครม.เมื่อวันที่  14 ม.ค. 2546  มีมติเห็นขอบในการให้การสนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส  หรือ   "โครงการบ้านเอื้ออาทร"  สำหรับผู้มีรายได้ครัวเรือนเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท และ 15,000 บาท   จำนวน 11,727 หน่วย โดยจัดสร้างทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในเมืองหลักเมืองรองในภูมิภาค โดยมีการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จำนวน 4,175 หน่วย และระยะที่ 2 จำนวน 7,552 หน่วย โดยมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,620.229 ล้านบาท  ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานโครงการ "บ้านเอื้ออาทร"   แล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2548  รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ   3  ปี

 

ที่น่าสนใจก็คือไม่นานนักจากการเริ่มต้นโครงการก็มีการร้องเรียนปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการแฝงตัวเข้าไปรับงานก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรของกลุ่มทุนการเมืองภายใต้ระบอบทักษิณ   อย่างกรณีหนึ่งที่  “ประชาชาติธุรกิจ”  สืบค้นพบก็คือ การที่บริษัท กลอรีคอนสครัคชั่น จำกัด และ บริษัท กลอรี แมนเนจเม้นท์ จำกัด  เข้าไปทำสัญญารับเหมาแบบเทิร์นคีย์ กับการเคหะฯ  จำนวน 23,000 หน่วย 

 

ทักษิณสมัยเป็นนายก

 

 และพบว่าผู้บริหาร  บริษัท กลอรีคอนสครัคชั่น จำกัด  ก็คือ  นายเอกภพ รักตพงษ์ไพศาล  ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท  โดยระบุว่าตนเองมีความสัมพันธ์เป็นเพียงญาติห่างๆกับนายพงษ์ศักดิ์  รักตพงษ์ไพศาล  รมว.คมนาคม  (ในขณะนั้น)  ส่วนการเข้ารับงานก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร  ก็เป็นผลมาจากการชักชวนจาก  นายวัฒนา เมืองสุข รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ในขณะนั้น)
     

      ขณะที่การสืบค้นข้อมูลการถือหุ้นของบริษัท กลอรีคอนสตรัคชั่น จำกัด  กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์   ย้อนหลังไปตั้งแต่ก่อตั้ง    พบว่า นายพงษ์ศักดิ์   ได้ถือหุ้นในบริษัทกลอรี่ คอนสตรัคชั่น  ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2535 จำนวน 30,000 หุ้น  ก่อนลดจำนวนเหลือ 6,000 หุ้น และโอนให้นางศรีวรรณ รักตพงศ์ไพศาล ผู้เป็นน้องสาว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2543  หรือก่อนเลือกตั้งในต้นปี 2544   ไม่นานนัก 

 

      (ข้อมูลประกอบ :  1. บริษัท กลอรี่คอนสตรัคชั่น จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 15 สิงหาคม 2533 ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท   ที่ตั้ง 999/211 ซอยเกศินีวิลล์ เขตห้วยขวาง เดิมมี  นายพงษ์ศักดิ์   รักตพงศ์ไพศาล  ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ    มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย   นายเอกภพ รักตพงศ์ไพศาล 138,000 หุ้น  ,  นายผ่านภพ รักตพงศ์ไพศาล 120,000 หุ้น ,  นายทรงพล ชินวัตร 120,000 หุ้น  ,  นายเผ่าภพ รักตพงศ์ไพศาล 120,000 หุ้น ,  นายชัยวัฒน์ สุทธาวาสสุนทร 30,000 หุ้น  , นายก้องเกียรติ รักตพงศ์ไพศาล 48,000 หุ้น ,  น.ส.ศรีวรรณ รักตพงศ์ไพศาล 12,000 หุ้น และนายรชต จุฑาธุชธิปตัย 12,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีนายเอกภพ รักตพงศ์ไพศาล และนายทรงพล ชินวัตร เป็นกรรมการ

 

 2. บริษัท กลอรี่แมเนจเม้นท์ จำกัด จัดตั้งเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ทุนจะดทะเบียน   30 ล้านบาท  ประกอบธุรกิจรับจ้างบริหารทรัพย์สิน    ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ประกอบด้วย   นายเอกภพ รักตพงศ์ไพศาล 294,000 หุ้น  ,  นายทรงพล ชินวัตร  , นายศิระ มงคลพิทักษ์สุข  ,  นายสุริยะ แซ่ลี้  ,  นายชัยวัฒน์ สุทธาวาสสุนทร  , นายเทียมศักดิ์ จุฑาธุชธิปตัย และนายก้องเกียรติ รักตพงศ์ไพศาล คนละ 1,000 หุ้น โดยมีนายเอกภพ รักตพงศ์ไพศาล และนายทรงพล ชินวัตร เป็นกรรมการ

 

 

  ขณะที่ข้อมูลของสำนักข่าวอิศรา ระบุจากการตรวจสอบพบว่า  ในช่วงปี 2548-2550 บริษัท กลอรี่ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด   เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรและจัดซื้อที่ดินของการเคหะแห่งชาติ (กคช.)ทั้งสิ้น 9 สัญญา  วงเงินรวม 5,376,682,000 บาท ,   สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์บริการชุมชน แบบ B-1  โครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดปราจีนบุรี(ดงพระราม) วงเงิน 5,520,000 บาท

 

 

      นอกจากนี้ยังร่วมทุนกับ บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด (ในนามกิจการร่วมค้า เอ.เอส.แอสโซซิเอท และบริษัท กลอรี่ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด) ดำเนินการรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร จ.สมุทรปราการ(เทพารักษ์3) วงเงิน 2,792.1 ล้านบาท วันที่ 16 ม.ค. 2549  และ ก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยสูง 5 ชั้น ขนาด 33 ตรว. จำนวน 855 หน่วย วงเงิน 359.1 ล้านบาท

 

 

      โดย  บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด  พบข้อมูลจากการตรวจสอบ มีทุนจดทะเบียน 1,010 ล้านบาท   และมีชื่อ  นายสุชาติ อารีกุล นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล เป็นเจ้าของ โดยนับจากปี 2542-2554   ได้รับเหมาก่อสร้างกับหน่วยงานรัฐ  อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย) เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 58 โครงการ

 

 

      ที่สำคัญจากการตรวจสอบของ “ประชาชาติธุรกิจ”   โดยการสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ของการเคหะฯ และใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540   ยังพบด้วยว่าผู้เหมาโครงการบ้านเอื้ออาทรในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร  ส่วนหนึ่งยังเป็นเครือญาตินักการเมืองพรรคไทยรักไทย เจ้าของนโยบายบ้านเอื้ออาทร     อาทิ   โครงการบ้านเอื้ออาทรขอนแก่น  ,หนองคาย  ,  นครราชสีมา , ปราจีนบุรี , สมุทรปราการ รวมมูลค่าโครงการหลายพันล้านบาท 
 

 

 และที่เป็นปัญหาหนักและก่อเกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินในขณะนั้น   ก็คือ ข้อมูลการตรวจสอบพบว่าในช่วง 3-4 ปีที่มีการดำเนินการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร   มีการส่งมอบโครงการและส่งมอบงานช้ามาก โดยส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาที่ผู้รับเหมารับงานไปแล้ว แต่ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากสภาพคล่องทางการเงิน หรือความพร้อมของบริษัท โดยเฉพาะอย่างกรณีของบริษัท ถิรสิทธิ  หนึ่งในหลายบริษัทที่มีการตรวจพบว่ามีการรับงานไปทั้งสิ้น 7 โครงการรวม 2,524 ยูนิต ขณะที่บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพียง 200 ล้านบาท  ส่วนบริษัท กรมณีฯ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง   100 ล้านบาท  ได้รับงานไปจำนวน 27 โครงการ รวมกว่า 20,000 ยูนิต  และบริษัท ไชน่า จงต้า วิศวโยธา (ประเทศไทย) มีการรับงานไป กว่า 3,000 ยูนิต 

 

  ประเด็นหลักคือแม้การดำเนินโครงการจะมีปัญหาแต่บริษัทเหล่านี้มีการรับเงินล่วงหน้า 5% ของมูลค่าโครงการไปแล้ว   รวมถึง  บริษัท   พาสทิญ่า ไทย จำกัด ซึ่งได้รับการจัดสรรให้ดำเนินการก่อสร้าง   7 โครงการ รวม 7,500 ยูนิต   ที่มีการเบิกจ่ายและโอนเงินเป็นค่าตอบแทนสู่ระบบการเมือง  โดยใช้บริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง   ของนายอภิชาต จันทร์สกุลพร  หรือ เสี่ยเปี๋ยง   เป็นตัวกลางในการซิกแซกเงินงบประมาณแผ่นดินกลับสู่กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ???

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สิ้นสุดกันที..มรดกบาปทักษิณ!!!"กคช."ใช้เวลาถึง 16 ปีปิดมหากาพย์"บ้านเอื้ออาทร" ต้องรอยุค"บิ๊กตู่" ฟ้องเอาผิด"วัฒนา"กับพวกได้!??