เปิดมหาอุทกภัยถล่มกรุงฯ ครั้งสำคัญ บทเรียนที่คนไทยจำไม่เคยลืม

 อุทกภัยถือเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดอีกเหตุการณ์หนึ่งของประเทศไทยเป็นภัยทางน้ำที่ชาวไทยต้องจัดการรับมือมาเป็นเวลานาน

 

       อุทกภัยถือเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดอีกเหตุการณ์หนึ่งของประเทศไทยเป็นภัยทางน้ำที่ชาวไทยต้องจัดการรับมือมาเป็นเวลานาน แม้จะสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ ใช้ทั้งในยามขาดแคลน และรองรับน้ำฝนที่ตกลงมา ระบายลงสู่เขื่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการท่วมของน้ำได้ ยิ่งในตอนนี้มีข่าวการรับน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานจนล้นสปิลเวย์ ทำให้น้ำจากเขื่อนแก่งกระจานล้นท่วมพื้นที่ หมู่บ้านท้ายเขื่อน จนต้องเร่งอพยพโดยด่วน เจ้าหน้าที่กรมชลประทานต้องประชุมกับผู้ว่าฯจังหวัดเพชรบุรี เพื่อประชุมจัดสรรค์น้ำและขุดคลองขนาดเล็กให้น้ำไหลผ่านได้เร็วเพื่อให้น้ำที่ท่วมอยู่ท้ายเขื่อนลดระดับลง 

และอีกเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นกับน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่น้ำตกวังตะไคร้ และน้ำตกนางรอง จังหวัดนครนายก จากฝนที่ตกหนักนาน 4 - 5 ชั่วโมง เป็นเหตุให้น้ำไหลเชี่ยว จนเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต้องประกาศห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ และอพยพนักท่องเที่ยวกว่า 100 คน พร้อมชาวบ้านที่อยู่ในจุดเสี่ยง ออกจากพื้นที่โดยด่วน

หากย้อนกลับไปในอดีตประเทศไทยต้องเจอกับอุทกภัยครั้งใหญ่อยู่หลายครั้งเราจึงได้รวบรวมมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สามารถเข้าถล่มในกรุงเทพมหานคร ได้สำเร็จจนเข้าขั้นวิกฤต มาย้อนให้ได้ชมกัน

 

 

เปิดมหาอุทกภัยถล่มกรุงฯ ครั้งสำคัญ บทเรียนที่คนไทยจำไม่เคยลืม

พ.ศ. 2485 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน จนถึง 30 พฤศจิกายน 2485 โดยมีปริมาณน้ำท่วมหนักกว่าปี พ.ศ. 2460 เกือบเท่าตัว น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงจนล้น สามารถวัดระดับน้ำได้ 2.27 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ในตอนนั้นต้องอาศัยพายเรือโดยสารไปมาจนถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน

เปิดมหาอุทกภัยถล่มกรุงฯ ครั้งสำคัญ บทเรียนที่คนไทยจำไม่เคยลืม

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ในเดือนกันยายน - ตุลาคม กรุงเทพต้องประสบอุทกภัยอีกครั้ง โดยอิทธิพลจากพายุที่พัดมาทางภาคเหนือหลายลูก ซึ่งถือว่าเป็นอีกปี
ที่กรุงเทพฯ พบกับสภาวะน้ำท่วมอีกครั้งหลังจากปี พ.ศ. 2485 ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร นานหลายเดือน วัดปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปีได้ 2119 มม.

 

เปิดมหาอุทกภัยถล่มกรุงฯ ครั้งสำคัญ บทเรียนที่คนไทยจำไม่เคยลืม

 

 

ถัดจากนั้นมา 12 ปี พ.ศ.2537 กรุงเทพฯ ต้องพบกับอิทธิพลจากพายุโอลิส จนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2.27 เมตร ถือเป็นวิกฤติครั้งประวัติศาสตร์ พอๆ กับปี พ.ศ.2485 น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นทะลักเข้าท่วมภายในกรุงเทพฯ ชั้นในสูงถึง 50 -100 เซ็นติเมตร รัฐบาลต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะผลักดันน้ำให้ลดลงได้

หลังจากนั้นในปี 2549 ช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม  พายุข้าวสารเคลื่อนตัวสู่ประเทศไทย ส่งผลให้กรุงเทพ ฯ ต้องพบกับสภาวะฝนถล่มขั้นรุนแรง สามารถวัดค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนได้ 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ตกหนักในเขตบางซื่อ วัดได้ 110.5 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ตอนนั้นระบบระบายน้ำภายในกรุงเทพฯสามารถรับน้ำได้สูงสุด 60 มิลลิเมตร  เมื่อมีน้ำเหนือ
ไหลมาสมทบ จึงทำให้กรุงเทพฯ น้ำท่วมอีกครั้งแม้จะเป็นเพียงเวลาไม่นานแต่พื้นที่บริเวณแอ่งกระทะ บริเวณตะวันออกเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

เปิดมหาอุทกภัยถล่มกรุงฯ ครั้งสำคัญ บทเรียนที่คนไทยจำไม่เคยลืม

 

ปี 2553 ร่องมรสุมกำลังแรงจากปรากฎการลานีญา  ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหลายพื้นที่จนเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าไหลหลากในบริเวณพื้นที่ติดภูเขา
ประกอบกับน้ำในอ่างกักเก็บน้ำมีปริมาณน้ำที่กักเก็บหนาแน่นจนต้องเร่งระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเหตุให้น้ำที่ถูกระบายออกมาเป็นจำนวนมาไหลเข้าท่วมหลายจังหวัดจนในที่สุดก็ไหลเข้าท่วมกรุงเทพฯ แม้รัฐบาลจะสั่งให้มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่องจนปริมาณน้ำลดลงแต่ก็ไม่อาจหยุดมวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมได้ โดยไหลเข้าท่วมขังบริเวณแอ่งกระทะฝั่งตะวันออกเช่นเดิม คือ เขตหนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา มีนบุรี สายไหม สะพานสูง และคันนายาว

 

เปิดมหาอุทกภัยถล่มกรุงฯ ครั้งสำคัญ บทเรียนที่คนไทยจำไม่เคยลืม

ปี 2554 รัฐบาลต้องกลับมาคิดทบทวนการบริหารจัดการน้ำภายในกรุงเทพฯ อีกครั้งเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 70 ปี หากนับจากเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2485 จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นมหาอุทกภัยกินเวลากว่า 6 เดือน และมีพื้นที่ประสบภัยกระจายตัวในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานาน โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ย่านเศรษฐกิจ อาทิ เขตปทุมวัน, บางรัก, สาธร, ดินแดง, พญาไท ฯลฯ รัฐบาลพยายามปกป้องไว้อย่างสุดความสามารถ มีการระดมเครื่องสูบน้ำมาดักไว้ไม่ให้ถึงพื้นที่เศรษฐกิจทำให้บริเวณดังกล่าวมีน้ำท่วมน้อยกว่าพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯและเขตปริมณฑล 

อุทกภัยครั้งนั้นส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก พื้นที่ประสบอุทกภัยและมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ถึงเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน

จากความรุนแรงของน้ำท่วมในปี 2554 รัฐบาลจึงทบทวนจริงจังกับปัญหาการจัดการน้ำมากขึ้นในปี 2555  มีการสำรวจสภาพอากาศตรวจสอบร่องมรสุมอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่อาจหยุดร่องมรสุมและพายุที่ผิดปกติจากเหตุการณ์ น้ำท่วมในปี 2554 ได้ โดยเริ่มมีความชัดเจนช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หลังกรมอุตุนิยมวิทยาออกแถลงการณ์ระบุถึงร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง เฉพาะในกรุงเทพมหานครก็มีฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน
 
ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังทั้งหมด 16 จุด อาทิ เขตทวีวัฒนา, ดินแดง, บางพลัด และสามเสน ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเหนือมาผสมเล็กน้อย

จากนั้น ปี 2556 ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันจำนวนมาก กระทั่งกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ "ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย" เพื่อให้เฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนัก
ที่จะเกิดขึ้น มวลน้ำเหนือขนาดใหญ่บวกกับปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ทำให้ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นสร้างความเสียหายหลายพื้นที่ในภาคกลางตอนล่างเป็นวงกว้าง เช่น สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา หรือปทุมธานี ที่ต้องจมอยู่ใต้บาดาลเป็นเวลานาน ขณะที่ตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ รอดพ้น แต่ตัวเมืองชั้นนอกฝั่งตะวันออก ได้แก่ มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา ต้องจมบาดาล

 

เปิดมหาอุทกภัยถล่มกรุงฯ ครั้งสำคัญ บทเรียนที่คนไทยจำไม่เคยลืม

 

ในปี 2560 มีพายุที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยจำนวน 10 ลูก ประกอบด้วย 1. พายุโซนร้อน ตาลัส  2. พายุโซนร้อน เซินกา  3.พายุไต้ฝุ่นทกซูริ  4.พายุดีเปรสชัน  5.พายุไต้ฝุ่นขนุน  6.พายุไต้ฝุ่นดอมเรย 
 7.พายุดีเปรสชั่นTWENTYNINE 8. พายุโซนร้อนคีโรกี  9.พายุโซนร้อนไคตั๊ก  10. พายุไต้ฝุ่นเทมบิน ซึ่งมีพายุ 2 ลูกที่เคลื่อนเข้ามาในบริเวณประเทศไทยขณะมีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน ได้แก่ พายุตาลัส และพายุทกซูริ 

และมีพายุอีก 1 ลูก ที่เคลื่อนเข้ามาในขณะที่เป็นพายุดีเปรสชัน คือ พายุเซินกา ส่วนปี พ.ศ. 2554 มีพายุที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเพียง 5 ลูก ประกอบด้วย 1.พายุโซนร้อน ไหหม่า 2.พายุโซนร้อน นกเต็น
3. พายุโซนร้อน ไห่ถาง 4.พายุไต้ฝุ่น เนสาด  5. พายุไต้ฝุ่น นาลแก  เมื่อเปรียบเทียบจำนวนพายุของทั้งสองปี จะเห็นได้ว่าปี พ.ศ. 2560 มีพายุที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากกว่าปี พ.ศ. 2554 ถึง 5 ลูกแต่ความรุนแรงของพายุที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมีน้อยกว่าปี พ.ศ. 2554 ค่อนข้างมาก 
      
 
       จากข้อมูลน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทั้งหมดจะพบว่ารัฐมีการจัดสรรค์ระบบการระบายน้ำไม่ให้มีน้ำเข้าท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน แต่สวนทางกับพื้นที่ในต่างจังหวัดที่ต้องประสบปัญหาการจัดการน้ำอยู่ทุกปีเมื่อถึงฤดูฝนถือเป็นปัญหาที่แก้ไม่หาย แม้ในปี พ.ศ. 2561 นี้จะเพิ่งเข้าสู่ปลายฤดูฝนแต่กลับมีข่าวเหตุการณ์เกี่ยวกับน้ำเกิดขึ้นถึง 2 เหตุการณ์ใหญ่ คือ 1 . เหตุการณ์เขื่อนแก่งกระจาน 2. เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากจังหวัดนครนายก จึงถือเป็นเรื่องน่าคิดว่าจากนี้อีก 80 กว่าวัน หากมีพายุเข้ามาอีก ภาครัฐจะจัดการเฝ้าระวังไม่ให้มีน้ำไหลเข้าท่วมกรุงเทพฯ อย่างปีที่ผ่านมาได้เช่นไร ถือเป็นงานที่ท้าทายพอดู