สถ. ไขข้อข้องใจกรณีโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะของ อปท.

สถ. ไขข้อข้องใจกรณีโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะของ อปท.

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เพื่อแปรรูปผลิตพลังงาน หรือโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเด็นต่าง เช่น มติครม ให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนการบริหารจัดการ และแผนปฏิบัติการ เพื่อขอตั้งงบประมาณรายปี ในการจัดการขยะมูลฝอย โครงการมีการใช้งบประมาณสูง การจัดตั้งองค์กรเป็นการภายใน ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อพิจารณาโครงการศูนย์กำจัดขยะ เป็นการเฉพาะกิจ ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย หรือกรณีที่มีการงดเว้นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม : EIA และกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการ ว่า การจัดการขยะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย ในอดีตมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ซึ่งอาจขาดการบูรณาการอย่างจริงจัง ทำให้ปัญหาขยะสะสมเป็นภูเขาขยะมาอย่างต่อเนื่อง สร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องของกลิ่น น้ำเสีย เชื้อโรค แต่เมื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหาร ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะ จึงได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และหาแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง จุดเริ่มต้นเกิดจากปัญหากองขยะภูเขา ต.มหาพราหมณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา โดย คสช.มีมติวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล อปท. เข้าไปแก้ไขปัญหา เมื่อประสบผลในการแก้ภูเขาขยะ ครม. จึงมีมติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาขยะ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่กำกับ อปท. ผู้ปฎิบัติอยู่แล้ว โดยให้บูรณาการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยอื่นสนับสนุน กระทรวงมหาดไทยจึงได้ดำเนินการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อสรุปว่า ปัจจุบันไม่มีกฎหมายในเรื่องการคัดแยก เก็บ ขน ขยะมูลฝอย ที่ชัดเจน การตั้งงบประมาณไม่เพียงพอ ขาดการบูรณาการ และการเข้าสู่กระบวนการกำจัดใช้ระยะเวลานาน เพราะติดปัญหาทางด้านกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการขยะต่อ ครม. และ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 รับทราบแนวทางการจัดการขยะของกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ การดำเนินการยังอยู่ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ(2559-2564) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอต่อ ครม. และมีมติเห็นชอบเมื่อ 3 พฤษภาคม 2559 

สำหรับประเด็นงบประมาณ ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขงบประมาณที่ชัดเจน เนื่องจากนโยบายกำหนดให้โครงการเป็นการร่วมทุนกับเอกชน ไม่ได้ให้ใช้งบประมาณของรัฐ หรือของ อปท. โดยเอกชนต้องร่วมดำเนินการผ่านคลัสเตอร์ (Clusters) ที่ขณะนี้ได้มีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ 324 แห่ง ของ อปท. เพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยมีคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ระดับจังหวัดพิจารณา ซึ่งปัจจุบัน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จะกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากบ่อฝังกลบ ที่ขยะจะกองเป็นภูเขา สร้างปัญหามลพิษในบริเวณโดยรอบ ปัญหาบ่อขยะที่ส่งกลิ่นเหม็น มีน้ำเน่าเสียเหล่านี้ เป็นปัญหาของบ่อขยะปัจจุบันที่แก้ไม่ได้ แต่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จะเป็นการกำจัดขยะแบบระบบปิด ขยะจะถูกนำเข้าสู่พื้นที่โรงงานโดยตรง มีระบบบำบัดกลิ่นภายใน มีระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งยังมีการควบคุมมลพิษ ที่ควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กระทรวงพลังงาน และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อธิบดีกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการจัดตั้งองค์กรเป็นการภายในที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อพิจารณาโครงการฯ นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ไม่มีองค์กรเฉพาะ เพียงแต่การบริหารจัดการขยะปัจจุบัน ได้สร้างกลไกการบรูณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง คือ คณะกรรมการจัดการสิ่งปฎิกูลและมูลฝอยจังหวัด และคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฉบับที่ 2 ปี 2560 ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบไปด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นฝ่ายเลขาเท่านั้น เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และต่างคนต่างทำ อย่างเช่นในอดีต

ส่วนการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 งดเว้นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และยกเว้นกฎหมายผังเมือง ขอเรียนว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดปัญหาอุปสรรคต่างๆนั้น จึงได้ปรับปรุงกฎหมาย ดังนี้ 1) ปัญหาผังเมือง เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ภูเขาขยะภู ซึ่งมีมาช้านานก่อนผังเมืองบังคับใช้ ย่อมเป็นอุปสรรคในการเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยการสร้างโรงกำจัดขยะ ซึ่งมีพื้นที่จำกัด มีขั้นตอนยาวนานในการยกเว้นตามกฎหมายเดิม จึงจำเป็นต้องยกเว้นโดยกฎหมายพิเศษ แต่ทั้งนี้ แม้ยกเว้นผังเมืองแล้ว การจัดสร้างโรงงานกำจัดขยะ ได้มีกฎหมาย และระเบียบอื่นๆ ต้องปฎิบัติ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดพื้นที่ห้ามก่อสร้างบ่อฝังกลบ เตาเผา และโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน สนง.กกพ.กำหนดหลักการปฏิบัติของ Code of Practice : COP เรื่องพื้นที่ และ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดพื้นที่ห้ามก่อสร้างด้วยเช่นกัน และ 2) การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม : EIA นั้น ขอเรียนว่า โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานต่างๆ เช่น ชีวมวล ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น ได้ปรับเปลี่ยนการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทโครงการ การดำเนินงาน และหน่วยกำกับที่เรียกว่า CoP (Code of Practice) ประมวลหลักปฎิบัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เห็นชอบระบบรายงาน CoP และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 มีผลเป็นการยกเว้นให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงาน EIA โดยได้เปลี่ยนให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice/ COP) และ สำนักงาน กกพ. กระทรวงพลังงาน ได้ออกระเบียบ CoP แต่ละประเภทของโรงไฟฟ้าออกมา โดยการจัดทำรายงานนั้น ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานกลาง(Third Party) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีประสบการณ์และขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับการจัดทำ EIA แต่เปลี่ยนผู้ควบคุมเป็น สำนักงาน กกพ. ซึ่งกำกับโครงการโรงไฟฟ้าโดยตรง ดังนั้น โครงการไฟฟ้าพลังงานขยะ ไม่ได้ยกเลิกรายงานสิ่งแวดล้อม แต่เปลี่ยนจากระบบ EIA เป็น CoP เป็นการเฉพาะ โดยใช้มาตรฐานและกระบวนการเทียบเคียงกับ EIA เดิม ไม่ใช่ไม่มีการทำรายงานสิ่งแวดล้อมเลย อย่างที่มีข้อสงสัยมา รวมถึงโรงไฟฟ้าประเภทอื่นด้วย ไม่ใช่โรงไฟฟ้าขยะอย่างเดียว

อธิบดียังกล่าวเสริมต่อว่า ในขั้นตอนของการเสนอโครงการของ อปท. นั้น ได้มีการกำหนดให้ อปท. ต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ก่อน และในขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กกพ. ก่อนก่อสร้าง ก็ต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งเช่นกัน ตามระเบียบ กกพ.ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2559 ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การจัดทำโครงการได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น หากประชาชนไม่เห็นด้วย โครงการก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือหากประชาชนต้องการเสนอแนะให้ปรับปรุงโครงการอย่างไร ก็สามารถเสนอได้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ และในการพิจารณาโครงการนั้น ก็ขอเรียนว่าโครงการไฟฟ้าพลังงานขยะ ไม่ได้เป็นการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยแต่เพียงหน่วยเดียว โดย อปท. จะเป็นผู้เสนอโครงการฯ ซึ่งกระบวนการในการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯนั้น จะให้สถาบันการศึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะดำเนินการตามหลักวิชาการ และเสนอผ่านการพิจารณาโครงการในรูปแบบของคณะกรรมการ ตั้งแต่ระดับจังหวัดและระดับกระทรวง รวม 3 ชุด ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากหลายภาคส่วนราชการ ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น โดยคณะกรรมการจะทำหน้าที่สนับสนุน พิจารณาเชิงเทคนิค ความเหมาะสมเท่านั้น นอกจากนี้ ยังต้องผ่านการพิจารณาความเหมาะสมและได้รับอนุญาตประกอบกิจการจากกระทรวงพลังงานอีกขั้นตอนหนึ่งด้วย ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย จึงไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่จะกำหนดการเกิดขึ้นของโครงการได้นั่นเอง

ในตอนท้าย อธิบดีได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะที่สะสมมาอย่างยาวนาน ต้องหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” โดยเน้นการจัดการครบวงจรทั้ง 3 ระยะ คือต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยระยะต้นทางนั่นสำคัญที่สุด คือการลด และคัดแยกขยะ ซึ่งยากที่สุดแต่ใช้ต้นทุนถูกที่สุด นั่นคือ ความร่วมมือของพี่น้องประชาชนผู้สร้างขยะ ที่ต้องช่วยกันลดขยะ ตามหลัก 3ช หรือ 3Rs : ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ และช่วยคัดแยกขยะ เพื่อการบริหารจัดการง่ายขึ้น ทางด้านระยะกลางทาง คือ การจัดระบบเก็บขนมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ อปท. และระยะปลายทาง คือการกำจัดขยะให้หมดไป ซึ่งระยะปลายทางนั้น รัฐบาลก็เล็งเห็นแล้วว่า ระบบการฝังกลบปัจจุบัน มีปัญหาในหลายพื้นที่ ขยะกองเป็นภูเขา สร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและจะเพิ่มปัญหามากขึ้น จึงได้มีแนวทางในการรวมกลุ่ม อปท. เพื่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยวิธีการเผาเป็นวิธีที่จะทำให้ขยะหมดไป โดยให้เอกชนมาร่วมทุนกับ อปท. เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐ ขอย้ำว่ากระทรวงมหาดไทย ต้องการโรงกำจัดขยะเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อให้ขยะหมดไป ส่วนไฟฟ้านั้นเป็นผลพลอยได้จากการเผาขยะ และช่วยให้ค่ากำจัดขยะถูกลง เพราะเอกชนที่ลงทุนสร้างโรงงาน จะมีรายได้จากค่ากำจัดขยะ หากไม่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าด้วย จะส่งผลให้ค่ากำจัดขยะที่เก็บจาก อปท. มีอัตราที่สูง เป็นภาระทางงบประมาณ ส่วนค่าไฟฟ้าที่รัฐซื้อ ก็จะเฉลี่ยให้กับประชาชนทุกคนซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดขยะ ซึ่งไฟฟ้าที่รับซื้อจากขยะ มีผลกระทบค่าไฟฟ้าน้อยมาก เนื่องจากพลังงานขยะมีสัดส่วนที่น้อยมากๆ เพียง 0.0071 % เทียบกับพลังงานอื่นๆ ตามแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2015) และในระยะต้นทางนั้น ปัจจุบันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็ตั้งเป้าหมายในการนำแนวคิดเรื่องการจัดทำ "ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน" ที่ท่าน ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะ รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในวัยเด็ก ให้รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชน ซึ่งกรมฯ มีเป้าหมายว่าภายในเดือนกันยายน 2561 ทุกครัวเรือนจะมีการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนไม่น้อยกว่า 80% ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนนี้ จะช่วยทั้งการลดปัญหาขยะเน่าเหม็นได้ แล้วยังมีผลพลอยได้คือทำให้ได้ปุ๋ยหมักบำรุงดิน ปลูกผักผลไม้ให้งอกงามได้ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อหาอีกด้วย

ก็ขอฝากให้ทุกภาคส่วน รวมถึงพี่น้องประชาชน ช่วยกันขับเคลื่อนวาระสำคัญของชาติในเรื่องการบริหารจัดการมูลฝอยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เน้นย้ำในเรื่องการสร้างจิตสำนึก ให้สังคมตระหนักรู้ถึงการบริการจัดขยะที่ดี โดยเฉพาะการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ที่ต้องเริ่มจากตัวเราเอง เพื่อบ้านเมืองของเรา เพื่อคุณภาพชีวิตของเราและเพื่ออนาคตของลูกหลานเรานั่นเอง