นิ้วโป้งของโยมแม่ไม่เคยเสื่อม สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ากำลังใจ โดย ว.วชิรเมธี

นิ้วโป้งของโยมแม่ไม่เคยเสื่อม สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ากำลังใจ โดย ว.วชิรเมธี

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี เจ้าของนามปากกา ว.วชิรเมธี หากพูดถึงชื่อนี้น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ด้วยความที่เป็นพระนักปราชญ์ผู้ที่ร้อยเรียงตัวหนังสือออกมาเพื่อใช้เป็นคติสอนใจชาวพุทธให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท แถมยังมีคำคมแฝงไว้ในความรู้ชวนให้ติดตามซึ่งข้อคิดเหล่านั้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธที่จะนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดี ผลงานที่สร้างชื่อให้พระมหาวุฒิชัย กลายเป็นที่รู้จักแก่สาธารณคือ การออกหนังสือพ็อกเกตบุ๊กที่ชื่อ "ธรรมะติดปีก" เป็นการเขียนเรื่องธรรมะด้วยถ้อยคำที่เรียบง่าย ทำให้คนทั่วไปสามารถจับต้องได้และเข้าถึง

 

นอกจากนี้ในเพจ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ยังได้ลงเรื่องราวธรรมะ คติสอนใจ หยิบยกเรื่องใกล้ตัวมานำเสนอแบบแฝงแง่คิดไว้หลากหลายด้วยกัน ในวันนี้สำนักข่าวทีนิวส์ ได้หยิบยกเรื่องราวที่ทางเพจลงไว้เมื่อช่วงวันนี้แม่ที่ผ่านมา เกี่ยวกับช่วงเวลาในวัยเยาว์ของท่าน ว.วชิรเมธี ความทรงจำที่มีต่อแม่บังเกิดเกล้า แม้วันนี้โยมแม่ของท่านว.วชิรเมธี จะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม โดยเนื้อความได้ระบุว่า...

 

นิ้วโป้งของโยมแม่ไม่เคยเสื่อม สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ากำลังใจ โดย ว.วชิรเมธี

 

 

"สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า กำลังใจ" โยมแม่ชอบไปวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาโยมแม่จะต้องไปทำบุญทุกวันพระโดยไม่เคยขาดหลักฐานอย่างหนึ่งที่ยืนยันคำกล่าวนี้ได้ดีก็คือ มีอยู่พรรษาหนึ่งโยมแม่ได้รับรางวัล "สตรีดีเด่นผู้ไปวัดโดยไม่เคยขาดตลอด ๑ พรรษา" และนั่นดูเหมือนจะเป็นเพียงรางวัลเดียวที่โยมแม่ได้รับด้วยตัวเอง ส่วนรางวัลที่สองนั้น มีผู้เสนอให้โยมแม่ได้รับรางวัลอะไรสักอย่างหนึ่งเนื่องในวันแม่แห่งชาติ

 

ตอนที่พระลูกชายของโยมแม่เริ่มจะเป็นที่รู้จักบ้างแล้วในฐานะพระนักเขียน แต่โยมแม่ก็มาด่วนจากโลกนี้ไปเสียก่อนผลจากการที่โยมแม่ชอบไปวัดนั่นเองก็ทำให้ลูกชายคนสุดท้องของโยมแม่ซึ่งชอบตามแม่ไปวัดต้อยๆ พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วยโดยปริยาย แต่ลูกชายของโยมแม่ดูท่าว่าจะไปได้ไกลกว่าโยมแม่เสียอีก เพราะแกไม่เพียงแต่ชอบไปขลุกอ่านหนังสืออยู่ที่ห้องสมุดเก่าๆ ของวัดเท่านั้นแต่ทว่ายังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในวัดในฐานะสามเณรน้อยเลยทีเดียว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า โยมแม่จะมีความสุขเพียงไรในวันที่ได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูกชายคนสุดท้องซึ่งแม่รักเป็นนักหนา

 

จำได้ไม่ลืมว่า บวชเป็นสามเณรน้อยพรรษาแรก อายุ ๑๓ ย่าง ๑๔ หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็มอบหมายให้ขึ้นเทศน์ต่อหน้าคนทั้งหมู่บ้านในวันพระใหญ่ พยายามบ่ายเบี่ยงอย่างไร หลวงพ่อก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้ ท่านบอกว่า "ธนูเมื่อขึ้นสายแล้วก็ต้องยิง เป็นพระก็ต้องเทศน์" จะปฏิเสธไม่ได้ สุดท้ายก็จำต้องปีนธรรมาสน์สูงท่วมหัวขึ้นไปนั่งเทศน์เจื้อยแจ้วเหมือนกแก้วนกขุนทอง ยังจำได้ดีว่าตื่นเต้นจนนึกไม่ออกว่าให้ศีล ๕ จบลงไปได้อย่างไร

 

ครั้นให้ศีลจบแล้วก็ถึงคราวต้องจับคัมภีร์เทศน์ในสภาพหัวใจเต้นโครมครามกึ่งๆ จะเป็นไข้เพราะความกลัว ความประหม่า เข้าครอบงำเบ็ดเสร็จตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ในนาทีที่จะต้องชี้ชัดว่า จะเป็นการแจ้งเกิด หรือแจ้งตาย บนธรรมาสน์นั่นเองก็เหลือบไปเห็นโยมแม่ยกนิ้วโป้งขึ้นชูให้กำลังใจอยู่ข้างเสาท้ายๆ ของวิหาร เท่านั้นเอง ความมั่นใจก็ตีตื้นขึ้นมาจนกลบความกลัวเสียหมดสิ้น จากนั้นธรรมเทศนากัณฑ์แรกในชีวิตก็ดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่รู้ตัวว่า ขนเอาอะไรมาพูดบ้างในวันนั้น

 

นิ้วโป้งของโยมแม่ไม่เคยเสื่อม สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ากำลังใจ โดย ว.วชิรเมธี

พอลงจากธรรมาสน์มาโดยที่หัวใจของพระลูกชายและโยมแม่ยังไม่วายไปเสียก่อน (เพราะฝ่ายหนึ่งตื่นเต้นเนื่องจากเป็นครั้งแรก ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งลุ้นเอาใจช่วยให้พระลูกชายสอบผ่าน) คนที่ได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ ก็คือโยมแม่ ชาวบ้านเอาไปลือกันปากต่อปากว่า เณรน้อยลูกชายของโยมแม่เทศน์ดีเหมือนฝนห่าแก้วตก (=ชื่นอกชื่นใจ) ฟังยังไม่ทันอิ่มเลย ก็จบเสียแล้วโยมแม่กลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนในหมู่บ้านเล็กๆ ที่โอบล้อมด้วยขุนเขาแห่งนั้นทันที

 

มาถึงวันนี้ โยมแม่จากไปได้กว่ายี่สิบปีแล้วเจ้าเณรน้อยลูกชายของโยมแม่ก็ยังอยู่ โยมพ่อก็ยังคงอยู่แต่สังขารของโยมพ่อก็เสื่อมไปตามกาลเวลา

 

เมื่อวันเวลาล่วงไป อะไรๆ ก็พลอยเสื่อมตามหลักอนิจจังแต่ดูเหมือนว่า มีอยู่อย่างหนึ่งที่ยังคงแจ่มกระจ่างสว่างแก่ใจ ไม่ยอมเสื่อมไปตามวัน เดือนปี สิ่งนั้น ก็คือ "นิ้วโป้งของโยมแม่" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยชูขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เณรน้อยลูกชายในพรรษาแรก และยังคงส่งผลสะเทือนต่อมาถึงพรรษานี้และตลอดไป

 

(ว.วชิรเมธี) ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ หมายเหตุ เป็นเรื่องราวที่ลูกศิษย์ถอดจากเสียงธรรมบรรยาย เกี่ยวกับพระคุณของแม่ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ โดยท่านว.วชิรเมธี เมื่อปี ๒๕๕๔

 

นิ้วโป้งของโยมแม่ไม่เคยเสื่อม สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ากำลังใจ โดย ว.วชิรเมธี

 

ขอบคุณ : พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี