22 ส.ค. กำเนิดบุรุษผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ชาติจีน "เติ้งเสี่ยวผิง" ย้อนไทม์ไลน์ผลงานสร้างประเทศ

ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1970 หากจะกล่าวถึงประเทศจีนในอดีต จัดได้ว่าเป็นหนึ่งประเทศที่มีความยากจน

    ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1970 หากจะกล่าวถึงประเทศจีนในอดีต จัดได้ว่าเป็นหนึ่งประเทศที่มีความยากจน ไม่ต่างอะไรกับคนป่วยที่กำลังหายใจรวยรินในยุคนั้นนับว่าล้าหลังประเทศในแถบตะวันตก หรือแม้กระทั่งประเทศในแถบเอเชียบางประเทศ ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี หรือการเกษตร 

   

    หลายคนคงจะนึกภาพกันไม่ออก เนื่องจากประเทศจีน ณ ช่วงเวลานั้น มีความสวนทางกับปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เพราะทุกวันนี้ประเทศจีนถือเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจบนเวทีโลก และครองตำแหน่งชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ไปเสียแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า กว่าที่ประเทศจีนจะก้าวขึ้นมาประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ได้อย่างเต็มภาคภูมิและได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ เฉกเช่นทุกวันนี้ ประเทศจีนต้องผ่านบททดสอบนานัปประการ 

   

    เมื่อฟ้าประทานบุรุษผู้หนึ่ง ผู้ที่จะช่วยนำพาประเทศจีนเข้าสู่ความศิวิไลซ์ และความทันสมัยในเวลาต่อมาด้วยรากฐานเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เป็นความมั่นคงของชาติ และยังสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศจีนอย่างเหลือคณานับ ส่งผลให้บุรุษผู้นี้เป็นหนึ่งในผู้นำที่สถิตย์อยู่ในใจของชาวจีนจวบจนถึงปัจจุบัน และแน่นอนชายผู้นั้น คือ "เติ้งเสี่ยวผิง"

 

    เติ้งเสี่ยวผิง เกิดเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 1904 โดยมีภูมิลำเนาเดิมคือเมืองกว่างอัน มีชื่อเดิมคือ เติ้งเซียนเซิ่ง เมื่ออายุได้ 5 ขวบได้เริ่มเรียนหนังสือ และใช้ชื่อว่า เติ้งซีเสียน เมื่ออายุ 16 ปีภายหลังจบการศึกษาชั้นมัธยมในปี 1920 เติ้งซีเสียนสอบได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส และในปี 1922 นั้นเองได้เข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิก "สันนิบาติเยาวชนลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนในยุโรป" หรือในปัจจุบันคือ "สันนิบาติเยาวชนสังคมนิยมแห่งประเทศจีนในยุโรป"

 

 

22 ส.ค. กำเนิดบุรุษผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ชาติจีน "เติ้งเสี่ยวผิง" ย้อนไทม์ไลน์ผลงานสร้างประเทศ

    ต่อมาในช่วงกลางปี 1924 เติ้งซีเสียน ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และเดินทางไปเรียนต่อ ณ กรุงมอสโคในปี 1926 ขณะอายุได้ 22 ปี
เมื่อจบการศึกษาจึงเดินกลับประเทศบ้านเกิดของตน ในปี 1927 แต่เกิดความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์การทำงานของเติ้งซีเสียนทางด้านการปฏิวัติจึงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อได้รับมอบหมายจากพรรคคอมมิวนิสต์ให้ไปซีอัน โดยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ในสถาบันทหารและการเมืองซุนยัดเซน

 

    ภายหลังความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่าง ก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ถึงคราวสิ้นสุดลง เติ้งซีเสียน จึงต้องทำการปกปิดตัวตนและชื่อจริง โดยการเปลี่ยนชื่อเป็น เติ้งเสี่ยวผิง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยตำแหน่งและการปฏิบัติงานของเติ้งเสี่ยวผิง ส่งผลให้เขามีบทบาทในการนำการปฏิวัติ ณ มณฑลกว่างซี ในปี 1929 โดยใช้ชื่อว่า เติ้งปิน และในปี 1931 ได้ทำการย้ายฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์จากมนฑลเจียงซี ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำอำเภอรุ่ยจิน และศูนย์ฮุ่ยชั่ง

 

 

22 ส.ค. กำเนิดบุรุษผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ชาติจีน "เติ้งเสี่ยวผิง" ย้อนไทม์ไลน์ผลงานสร้างประเทศ

 

    ทำหน้าที่เผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง แต่ทว่าถูกกลุ่มเห็นต่างถอดถอนออกจากตำแหน่ง และเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่องค์กรบริหารส่วนกลางในกองทัพแดง ควบคู่กับการเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ "หงซิง" หรือดาวแดง ในเดือนมกราคม 1935 เมื่อเหมาเจ๋อตงได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้นำคณะรัฐบาลกลางอย่างเป็นทางการ พร้อมกันนั้นเติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหน่วยเผยแพร่อุดมการณ์ ของฝ่ายบริหารประจำกองทัพแดงที่ 1 และได้ขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารในเวลาต่อมา

 

    เมื่อสงครามจีน - ญี่ปุ่นได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง อันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สองที่เรียกอีกชื่อว่า "สงครามแปซิฟิค" เป็นสงครามที่ดำเนินเรื่อยมาโดยยุติลงพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่สอง ถือได้ว่าเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นได้นำเครื่องบินทิ้งระเบิดไปทำการโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐที่เพิร์ลฮาเบอร์ ส่งผลให้สงคราม จีน - ญี่ปุ่น บานปลายจนกลายเป็น สงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด โดยในช่วงเริ่มแรกของสงคราม เติ้งเสี่ยวผิงทำหน้าที่เป็นรองหัวหน้าฝ่ายบริหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ 8 ต่อมาในปี 1945 เมื่อสงครามสิ้นสุดลง จึงได้รับเลือกให้เป็นกรรมการกลาง ในการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 7

 

    4 ปีต่อมา ในเดือนกันยายน 1949 ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการรัฐบาลประชาชน และเข้าร่วมในพิธีสถาปนาสาธารณะรัฐประชาชนจีน หนึ่งเดือนต่อมา ได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการในกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งชาติ และปฏิบัติภารกิจทางการทหารโดยการนำทัพรบบุกทั้งภาคใต้และตะวันตก รวมถึงการรบเพื่อปลดปล่อยทิเบตอีกด้วย ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 1952 ได้กลับเข้ามาทำงานที่ส่วนกลาง ในตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นต้น และในปี 1954 ก็ได้ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมาธิการฝ่ายป้องกันประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 8 ครั้งที่ 1 ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการประจำฝ่ายบริหาร คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และเลขาธิการใหญ่

 

    ในระหว่างที่ เติ้งเสี่ยวผิง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 10 ปีนั้น เรียกได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทในการพัฒนาระบบการปกครองแบบสังคมนิยมของประเทศจีนเป็นอย่างมากด้วยแนวคิดที่มุ่งเน้นทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจและเสถียรภาพและได้มีการเดินทางไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและ แนวทางการพัฒนาประเทศกับผู้นำสหภาพโซเวียตที่กรุงมอสโคว หลายครั้งด้วยกัน

 

 

22 ส.ค. กำเนิดบุรุษผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ชาติจีน "เติ้งเสี่ยวผิง" ย้อนไทม์ไลน์ผลงานสร้างประเทศ

    แต่แล้วเมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมได้เริ่มขึ้นในปี 1966 ซึ่งมาจากความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์เอง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อบังคับใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศโดยการขจัดองค์ประกอบที่เป็นทุนนิยม ประเพณีและวัฒนธรรมจีน ออกจากวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์และเพื่อกำหนดแนวทางแบบเหมาภายในพรรค เติ้งเสี่ยวผิง  จึงต้องเผชิญปัญหามรสุมทางการเมือง จนถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำทางการเมืองทั้งหมด 

 

    ในปี 1973 ได้กลับสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้งด้วยการดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้แทนของรัฐบาลจีนในการประชุมวิสามัญสมัยที่ 6 ขององค์การสหประชาชาติในปี 1974 และ 1 ปีต่อมา ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานคณะกรรมการกลางการทหาร และหัวหน้าเสนาธิการกองทัพปลดแอกประชาชน เรียกได้ว่านั่งเก้าอี้ผู้นำทางการเมือง และการทหารในเวลาเดียวกัน

 

    จากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ส่งผลให้ประเทศจีนได้รับความเสียหายในหลายๆ ด้าน ประกอบกับ นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นป่วยหนัก เติ้งเสี่ยวผิง จึงได้รับแรงสนับสนุนจากเหมาเจ๋อตง ทำหน้าที่ฟื้นฟูประเทศจีนให้กลับมายืนได้อีกครั้ง และด้วยความร่วมมือจากประชาชนในชาติ ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นที่น่าพอใจ แต่แล้วกลับถูกแก๊ง 4 คน ใส่ร้าย จนต้องออกจากตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง

 

    เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมในเดือนตุลาคมปี 1976 แก๊ง 4 คน ถูกล้มล้าง และจากการประชุมของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 10 จึงมีมติให้ เติ้งเสี่ยวผิง กลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง และในที่สุด เดือนสิงหาคม ปี 1977 เติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ จนเดือนมีนาคม ปี 1978 ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมือง และด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเติ้งเสี่ยวผิง จึงเสนอให้รัฐบาลจีนทบทวนนโยบายที่ผิดพลาดจากในอดีตมาเป็นบทเรียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมโดยมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก

 

    เดือนธันวาคม 1978 ถือได้ว่าเป็นการเปิดม่านฉากใหม่ของประเทศจีนภายหลังการประชุมภายในรัฐบาล ภายใต้การนำของคณะกรรมการบริหารพรรครุ่นที่ 2 ซึ่งมีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นแกนนำ ให้มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการพัฒนาระบอบสังคมนิยมแบบพิเศษ หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบจำเพาะให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศจีน

 

    ในที่สุด เดือน พ.ย. 1989 เติ้งเสี่ยวผิงก็ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางการทหาร และทำการส่งมอบตำแหน่งประเทศแก่เจียงเจ๋อเหมิน อันเป็นการปิดฉากชีวิตที่อุทิศตนให้แก่ประเทศชาติของมหาบุรุษผู้หนึ่ง ที่ได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ประเทศจีน โดยในวันที่ 19 ก.พ. 1997 เติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม จากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยวัย 93 ปี ถึงแม้ว่าจะไม่เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศ คือ ประธานาธิบดี แต่ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เติ้งเสี่ยวผิง เป็นนักปกครองผู้มีความสามารถอันหลากหลาย และช่วยนำพาประเทศจีนมาสู่ความมั่งคั่งและเป็นประเทศที่พัฒนา จวบจนทุกวันนี้

 

 

22 ส.ค. กำเนิดบุรุษผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ชาติจีน "เติ้งเสี่ยวผิง" ย้อนไทม์ไลน์ผลงานสร้างประเทศ