ถอดบทเรียน จากน้ำมือมนุษย์ สู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 2018

ตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก อาจเพราะด้วยเจตจำนงค์ของธรรมชาติที่ต้องการให้มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งและสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น เป็นสายใยแห่งการพึ่งพาอาศัยระหว่างกันและกัน ในอดีตกาลมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ

    ตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก อาจเพราะด้วยเจตจำนงค์ของธรรมชาติที่ต้องการให้มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งและสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น เป็นสายใยแห่งการพึ่งพาอาศัยระหว่างกันและกัน ในอดีตกาลมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในยุคนั้นจึงอยู่ในความเหมาะสม พอเพียงต่อปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตเพียงเท่านั้น จึงยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด เพราะอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติสามารถปรับสมดุลเองได้ 

 

    แต่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทุกวันนี้ กลับเป็นไปอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างไม่สิ้นสุดของมนุษย์ ทั้งการแข่งขันพัฒนาด้านเศรษฐกิจด้วยระบบอุตสาหกรรม หรือการสงคราม ที่ได้สร้างความเสียหายต่อธรรมชาติอย่างรุนแรง เมื่อความสมดุลถูกทำลายลง ธรรมชาติจึงเป็นฝ่ายกลับมาฟาดฟันมนุษย์ในรูปแบบของ "ภัยธรรมชาติ"  ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า แท้จริงแล้วธรรมชาติเป็นผู้ลงทัณฑ์มนุษย์ หรือเพราะมนุษย์เลือกที่จะเป็นฝ่ายท้าทายธรรมชาติเสียเอง
 

    ภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น นั้นล้วนมีสาเหตุมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ถูกวิธี ไม่เหมาะสม หรือไม่มีการควบคุม โดยปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้เกิดภัยพิบัติประเภทนี้คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มจะสูงมากขึ้นในทุกๆ ปีส่งผลให้ความต้องการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิตมีมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งการขยายพื้นที่อยู่อาศัยด้วยการบุกรุกป่า การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเร่งกำลังในการผลิตสินค้าเป็นต้น

 

 

ถอดบทเรียน จากน้ำมือมนุษย์ สู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 2018

 

 

    การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่นำมาซึ่งนวัตกรรมเพื่อเร่งผลผลิตทางการเกษตรก็ส่งผลเสียต่อธรรมชาติเช่นกัน จากการใช้สารเคมี หรือยาฆ่าแมลง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว ด้วยสารตกค้างที่ปนเปื้อนในสารเคมี นอกจากนี้การสร้างสิ่งก่อสร้างหรือที่อยู่อาศัย โดยไม่คำนึงถึงความสมดุลของพื้นที่ธรรมชาติ เช่นการบุกรุกป่า อาจส่งผลให้มีโอกาสที่พื้นที่ป่าจะหมดไปในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งยังเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เมื่อสัตว์ป่าไร้ที่อยู่อาศัยจะตามมาซึ่งการสูญพันธุ์ได้ในที่สุด 

 

ความขัดแย้งของมนุษย์ที่มาในรูปแบบการทำสงคราม เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นให้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้มากขึ้นรวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแร่ธาตุเพื่อผลิตเครื่องมืออาวุธมาใช้ในการประหัตประหาร แต่ผลสุดท้ายกลับนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งสองฝ่าย ทั้งชีวิตของมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอย่างประเมินค่ามิได้ ซึ่งปริมาณน้ำมันที่สูญเสียไปจากการทิ้งระเบิดเพียงครั้งเดียวนั้น อาจจะต้องอาศัยระยะเวลานานเป็นหลายล้านปีจึงจะเกิดขึ้นได้

    และในวันนี้ธรรมชาติกำลังจะตอบแทนมนุษย์อย่างสาสม มนุษย์อาจต้องใช้หนี้จากกรรมที่ตัวเองได้ลงมือก่อไว้ เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตกับเหตุการณ์ภัยทางธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นรอบโลกเราจะพบถึงความสูญเสียทั้งในชีวิตและทรัพย์สินโดยต้นเหตุหลักๆ ล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น เช่น

 

 

ถอดบทเรียน จากน้ำมือมนุษย์ สู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 2018

 

    เมื่อ 1952 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เกิดหมอกพิษสีเหลืองอมดำเข้าปกคลุมเมือง สาเหตุมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นรวมตัวกับควันพิษจากการทำเหมืองหิน ในช่วงระยะเวลาเพียง 5 วัน  มีรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษได้เริ่มต้นร่างกฏหมายเพื่อแก้ไขมลพิษทางอากาศ

 

 

ถอดบทเรียน จากน้ำมือมนุษย์ สู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 2018

 

    ปี 1980 บริษัทขุดเจาะน้ำมัน Texaco Oil Rig ทำการขุดเจาะพลาดบริเวณใต้ดินของทะเลสาบ Lake Peigneur ความผิดพลาดครั้งนั้นทำให้เกิดรูรั่วเพียงไม่กี่นิ้วแต่ผลร้ายที่ตามมามหาศาลเกินคาดคิด ด้วยความที่รูนั้นเล็กมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมหาศาลในทะเลสาบ ทำให้เกิดน้ำทะลักจนเป็นวังวนขนาดใหญ่ดูดกลืนพื้นดิน และต้นไม้บริเวณนั้นลงไปด้วย นอกจากนี้ยังดูดเอาน้ำเค็มและเรือบรรทุก กลายเป็นน้ำตกชั่วคราวที่สูงกว่า 50 เมตรเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนี้เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ที่ได้ทำลายทะเลสาบแห่งหนึ่งจนกลายเป็นทะเลสาบน้ำเค็ม แต่โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต 

 

 

ถอดบทเรียน จากน้ำมือมนุษย์ สู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 2018

 

 

    ปี 2006 เกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟโคลนระเบิดขึ้นที่ Sidoarjo เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในอินโดนีเซียคือ PT Lapindo Brantas ทำการขุดเจาะเพื่อสำรวจแหล่งพลังงานธรรมชาติ เป็นรูลึกกว่า 2,837 เมตร ส่งผลให้เกิดความดันและน้ำใต้โคลนที่มีความร้อนสูงถึง 60 องศาเซลเซียสปะทุไหลทะลัก ท่วมทุ่งนาและที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย ทุกวันนี้ภูเขาไฟโคลนแห่งนี้ก็ยังคงรอวันปะทุได้ทุกเมื่อ

 

    สำหรับในประเทศไทยเองนั้นต้องประสบปัญหาความสุดขั้วของสภาพอากาศทั้งภัยแล้งบางพื้นที่ ที่บางช่วงอยู่ในระดับวิกฤต ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการทำลายธรรมชาติ ทั้งทางตรงและทางอ้อมของมนุษย์เช่นการทำลายพืชพรรณธรรมชาติจากการใช้สารเคมี การบุกรุกพื้นที่ป่าทำให้ไม่มีต้นไม้ที่ทำหน้าที่ดูดซับน้ำฝนลงสู่ใต้ผิวดิน อุ้มน้ำเอาไว้ และยึดดินให้มีความมั่นคง ก็จะขาดแคลนน้ำ ที่จะถูกปลดปล่อยออกมาสู่ลำธารและลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง

ถอดบทเรียน จากน้ำมือมนุษย์ สู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 2018

 

    รวมถึงการขาดจิตสำนึกของคนในชุมชนที่ไม่ตระหนักถึงการใช้และอนุรักษ์น้ำ เช่นใช้น้ำไม่ประหยัด ใช้น้ำอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม  การบุกรุกทำลายแหล่งน้ำ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาว ในบางพื้นที่ต้นเหตุมาจากการวางผังเมืองที่ไม่เหมาะสม โดยแบ่งแยกพื้นที่เพื่อการทำกิจกรรมไม่เหมาะสมสอดคล้องกับแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ขาดการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า

 

 

ถอดบทเรียน จากน้ำมือมนุษย์ สู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 2018

 

 

    สำหรับปัญหาน้ำท่วมก็เป็นอีกปัญหาที่พบได้บ่อยแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย สาเหตุนอกเหนือจากอิทธิพลของลมมรสุม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกิจกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่นปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำระบายไม่ทัน เพราะมีเศษขยะสิ่งปฏิกูลที่กักขังตามท่อระบายน้ำ การไม่วางแผนระยะยาว เฝ้าระวังภัยด้านความเสี่ยงตามความเหมาะสม ที่มักปล่อยให้ปริมาณน้ำฝน แทบจะล้นเขื่อนอยู่บ่อยครั้ง จนต้องระบายน้ำออกมาท่วมพื้นที่อยู่อาศัย อีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศ คือภาวะโลกร้อน ส่วนหนึ่งมาจากการใช้รถยนต์บนท้องถนนมลภาวะทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งการใช้เครื่องปรับอากาศอย่างฟุ่มเฟือยเหล่านี้

 

 

ถอดบทเรียน จากน้ำมือมนุษย์ สู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 2018

 

    และจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะด้วยปริมาณน้ำในแม้น้ำจากกการสะสมของน้ำฝนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรมอุตุฯ ได้พยากรณ์สภาพอากาศใน 24 ชั่วโมงข้างหน้าจนถึงวันที่ 30 ส.ค. ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร 

 

    นี่คงถึงเวลาแล้วที่มนุษย์จะตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลธรรมชาติ การนำทรัพยากรมาใช้อย่างพอเพียงเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติได้ทางหนึ่ง และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเฉกเช่นเหตุการณ์ในอดีต

 

ขอบคุณ thaiwater ,กรมอุตุนิยมวิทยา

 

ถอดบทเรียน จากน้ำมือมนุษย์ สู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 2018