จาก "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" อันเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการบูรณาการจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภายในประเทศ และความช่วยเหลือจากนานาประเทศจนภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยด

ปิดทองหลังถ้ำ สู่การถอดบทเรียน "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" (ฮุก 31)

 

    จาก "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า"  อันเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการบูรณาการจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภายในประเทศ และความช่วยเหลือจากนานาประเทศจนภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ปฏิบัติการในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ทั่วโลกประจักษ์ว่า ขีดความสามารถของมนุษย์ในยามคับขันนั้น สามารถที่จะฝ่าฟันบททดสอบจากธรรมชาติ ได้ด้วยศักยภาพของตัวผู้ปฏิบัติงานเองที่หล่อหลอมขึ้นเป็นความสามัคคี และไม่ย่อท่อต่ออุปสรรค แต่อีกด้านหนึ่งยังแสดงให้เห็นถึง จิตวิญญาณแห่งมนุษยธรรม จากหลากหลายหน่วยงานที่พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตของผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน

 

    หากอุปมาได้ว่าหน่วยงานภาครัฐและกองทัพเป็นเสมือนทัพหน้า เปรียบดั่งหัวหมู่ทะลวงฟัน ทีมอาสาสมัครและหน่วยงานของเอกชนก็ไม่ต่างอะไรกับทัพหลังเป็นทีมสนับสนุน ประหนึ่งผู้ปิดทองหลังพระที่แท้จริง หากในวันนั้นไร้ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ บทสรุปของภารกิจในครั้งนี้อาจมีความยืดเยื้อ และเกิดความสูญเสียมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

 

ปิดทองหลังถ้ำ สู่การถอดบทเรียน "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" (ฮุก 31)

 

    และในวันที่ 29 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลศิริราชได้จัดการเสวนาเรื่อง "ปิดทองหลังถ้ำขึ้น" นำโดยทีมวิทยากร อาสาสมัครผู้เกี่ยวข้องกับ "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" โดยวันนี้สำนักข่าวทีนิวส์จะพาทุกท่านถอดรหัส เบื้องหลังการปฏิบัติงานของผู้เสียสละในครั้งนี้ 

 

    เริ่มจาก นายชาญชัย ศุภวีระกุล ตัวแทนทีมนักประดาน้ำ ฮุก 31 จากการสัมภาษณ์ของวิทยากร ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

 

 

ปิดทองหลังถ้ำ สู่การถอดบทเรียน "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" (ฮุก 31)

 

วิทยากร : ทีมนักประดาน้ำ ฮุก 31 เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจุดประสงค์ในการก่อตั้งคืออะไร?

 

ฮุก 31 :  มูลนิธิพุทธธรรม 31 หรือเรียกสั้นๆ ว่า ฮุก 31 คำว่า "ฮุก" เป็นภาษาจีน แปลว่าพระ หรือ ผู้มีจิตอันเป็นกุศล เลข 31 คือปีที่ก่อตั้ง คือปี พ.ศ. 2531 โดยมีงานหลักคือการทำสาธารณกุศล และงานบรรเทาสาธารณภัย แบ่งเป็นทางถนน และทางน้ำซึ่งหน่วยงานทางน้ำ เป็นหน่วยเฉพาะกิจ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2536 ภายหลังเหตุการณ์ตึกถล่มที่นครราชสีมา โดยมีความคิดที่ว่างานของกู้ภัยมิใช่แต่เพียงเก็บศพบนถนน จึงมีการรวมตัวเพื่อเรียนดำน้ำ เพื่อนำความรู้มาปฏิบัติงานค้นหาผู้สูญหายใต้น้ำในเวลาต่อมา

 

 

ปิดทองหลังถ้ำ สู่การถอดบทเรียน "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" (ฮุก 31)

 

วิทยากร : ตัดสินใจเรียนดำน้ำและออกค่าใช้จ่ายกันเองใช่หรือไม่?

 

ฮุก 31 : เนื่องจากนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีประชากรอยู่อาศัยเป็นอันดับสองรองจาก กรุงเทพฯ มีทั้งหมด 32 อำเภอ และมีเหตุจมน้ำเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เวลาที่มีผู้ประสบภัยจมน้ำทางญาติก็มีความคิดที่อยากจะนำประสบภัยขึ้นมาโดยเร็ว ไม่ว่าจะยังมีลมหายใจหรือไม่ก็ตาม ในสมัยก่อนมักนิยมใช้เคียวเกี่ยวหมูมัดเชือก และโยนเพื่อควานหาร่าง ทางหน่วยจึงไม่อยากเห็นภาพทำนองนี้อีก จึงทำการรวมตัวเพื่อเรียนดำน้ำโดยมีจุดประสงค์เพื่อทำการค้นหาให้ได้โดยเร็วที่สุด

 

วิทยากร : ก่อนหน้าเหตุการณ์ "ถ้ำหลวง" มีผลงานใดที่สร้างชื่อเสียงแก่ ฮุก 31 บ้าง?

 

ฮุก 31 : โดยปกติแล้วจะทำอยู่เป็นประจำ แต่มีหนึ่งเหตุการณ์คือ มหาอุทกภัย พ.ศ.2554 ที่เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ จ.อุทัยธานี ในวันที่ 16 ก.ย. 2554 จนเข้ามาถึงในเขตเมือง โดยร่วมการทำงานอยู่ประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้ยังทำงานกู้ภัยร่วมกับต่างประเทศ เช่นเหตุการณ์เครื่องบินตกที่ สปป. ลาว ในปี พ.ศ.2556 ร่วมช่วยเหลือด้วยการส่งทีมนักประดาน้ำกู้ภัยข้ามจากอุบลราชธานีไปยัง ปากเซ ประมาณ 40 กิโลเมตร ใช้เวลาปฏิบัติงาน 3 วัน เนื่องจากความไม่พร้อมในด้านกู้ภัยของ สปป.ลาว 

 

 

ปิดทองหลังถ้ำ สู่การถอดบทเรียน "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" (ฮุก 31)

 

    แต่เนื่องจากการกู้ภัยในลักษณะกู้ร่างผู้เสียชีวิตนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงมีการทำในเรื่องของการป้องกันการจมน้ำร่วมด้วย และทำมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ในสมัยก่อนหากวัดสัดส่วนเป็นตัวเลข จ.นครราชสีมา มีเด็กจมน้ำเยอะกว่าปัจจุบันนี้มาก แต่ในวันนี้ภายหลังนำเสนอผลงาน การป้องกันเรื่องการจมน้ำไประดับโลกทำให้ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศและภายในประเทศ จนวันนี้ในปี 2561 จ.นครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเพียง 21 ราย เท่านั้น หากเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งหมดที่มีแสนกว่าราย ถือว่าเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตที่น้อย แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในระดับหนึ่ง

วิทยากร : ฮุก 31 เข้าร่วมการปฏิบัติภารกิจในเหตุการณ์ถ้ำหลวงได้อย่างไร?

 

ฮุก 31 :  ทางเราทราบว่าหน่วยซีลมีหน้าที่ดูแลเรื่องภายในถ้ำและการดำน้ำ ที่ทุกคนต่างฝากความหวังไว้ จึงมีความคิดที่ว่าจะทำการสนับสนุนหน่วยซีลได้อย่างไร ภายหลังได้ทำการส่งถังดำน้ำเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน และหน่วยซีลได้ร้องขอนักประดาน้ำเพิ่มเติมในเวลาต่อมา จึงได้ส่งทีมเข้าไปช่วย ส่วนนี้คือการสนับสนุนหน่วยซีลในภารกิจถ้ำหลวง

 

 

ปิดทองหลังถ้ำ สู่การถอดบทเรียน "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" (ฮุก 31)

 

วิทยากร : เข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่วันที่เท่าไร?

 

ฮุก 31 :  เข้าไปในวันที่ 31 ซึ่งรอจังหวะที่จะได้เข้าไปช่วยเหลืออยู่แล้ว และมีการเตรียมพร้อมตลอดเวลา โดยส่วนตัวเข้าใจว่า ซีลนั้นมีศักยภาพและขีดความสามารถสูง แต่ส่วนใดที่ทางนั้นขาดเหลืออะไร ทางเราก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเหล่านี้คือความจริงใจที่ ฮุก 31 พร้อมที่จะทำให้อุปกรณ์ในวันนั้นที่ส่งไปสนับสนุนน่าจะมีราคาประมาณ 3-4 แสนบาท ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้คืน เพราะมีความคิดว่า ถ้าเรามีอุปกรณ์แต่ไม่ได้นำไปช่วยชีวิตคน ถึงแม้ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ แต่หากเก็บไว้โดยไม่ได้นำไปช่วย จะเป็นความผิดในจิตใจ แต่ในวันนี้เราได้ส่งมอบไปให้ โดยไม่ได้คิดว่าจะต้องได้ดำน้ำร่วมด้วย ถือว่าได้ช่วยเพียงเล็กน้อยก็ยังดี

 

วิทยากร : ในท้ายที่สุดได้เข้าไปช่วยเหลือในรูปแบบของการดำน้ำหรือไม่?

 

ฮุก 31 :  การทำงานดำน้ำนั้น คือทำร่วมกับต่างชาติและต้องขอบคุณ คุณนรินทร ณ บางช้าง ที่ช่วยประสานงานให้ที่พักจะอยู่ห่างจากถ้ำประมาณ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 นาที ก็ถึงหน้าถ้ำ ในแต่ละวันจะมีอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้าถ้ำ โดยจะเป็นอุปกรณ์ยังชีพทั่วไป ภายหลังได้เข้าไปพบว่าภายในถ้ำนั้นกว้าง มีความน่ากลัวและอึดอัดมาก

 

 

ปิดทองหลังถ้ำ สู่การถอดบทเรียน "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" (ฮุก 31)

 

    การทำงานระหว่าง ฮุก 31 กับ หน่วยซีล มีข้อตกลงกันคือเรื่องภายในถ้ำเป็นของในถ้ำห้ามถ่ายรูปนำออกมาในวันที่ทีมเข้าไปก็ต้องดำนำเข้าเพราะมีปริมาณน้ำเยอะ ในขั้นตอนการทำงานนั้นเป็นการลำเลียงขวดอากาศและอุปกรณ์ยังชีพ สายเคเบิ้ลซึ่งแต่ละวันจะมีแผนปฏิบัติงานแตกต่างกันไป ต้องมีการตรวจสอบรายชื่อ ลงทะเบียนว่าในวันนั้นๆ ทำหน้าที่อะไรไปบ้าง และต้องมีการเตรียมพร้อมเสมอ

วิทยากร : ในวันหนึ่งนั้นทำงานถึงกี่โมง? จากที่ทราบมาว่าเช็คชื่อในช่วงเช้า และในตอนเย็นต้องเช็คชื่อออกหรือไม่?

 

ฮุก 31 : 17.00-19.00 แล้วแต่วัน

 

วิทยากร : การดำน้ำในถ้ำ ต่างจากการปฏิบัติงานด้วยการดำน้ำที่ผ่านมา อย่างไรบ้าง?

 

ฮุก 31 : การดำน้ำในถ้ำเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ในการดำน้ำนั้นเมื่อศีรษะพ้นน้ำลงไปแล้ว ถือว่าตายไปแล้วครึ่งตัว อีกครึ่งตัวคือการรักษาชีวิตเพื่อกลับขึ้นมา ด้วยความเสี่ยงนี้เอง ถึงขนาดว่าประกันชีวิตไม่รับทำให้ เพราะเป็นกีฬาที่เสี่ยง

 

วิทยากร : ความรู้สึกที่ได้ไปปฏิบัติงาน เป็นอย่างไรบ้าง?

 

ฮุก 31 : เรามีความสุขในการทำงานเพื่อช่วยเหลือคนครับ

 

วิทยากร : จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ฮุก 31 ได้อะไรกลับมาบ้าง?

 

ฮุก 31 : ในวันที่เกิดเหตุการณ์ ได้อยู่ใกล้ชิดกับต่างชาติมีโอกาสได้พบเห็นอุปกรณ์ที่ทันสมัย การปฏิบัติงานมีความรัดกุม เราต้องปรับตัวเยอะ จากที่ดำ 1 ถัง กลายเป็นดำ 4 ถัง ก่อนหน้านี้การดำน้ำแบบ sidemount ตนก็ไม่รู้จัก เพราะประเทศไทยมีการดำน้ำประเภทนี้ไม่ถึง 5 คน นักประดาน้ำแบบถ้ำนั้นแทบไม่มีหรือมีน้อยมาก และเกี่ยวกับอุปกรณ์ full face mask สำหรับผู้ที่ดำน้ำไม่เป็น ที่ใช้ในการนำผู้ประสบภัยออกมาจนภารกิจสำเร็จลุล่วง รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้สื่อสารกันได้

 

ปิดทองหลังถ้ำ สู่การถอดบทเรียน "ปฏิบัติการกู้ภัย 13 ชีวิตทีมหมูป่า" (ฮุก 31)

 

    จึงเห็นว่าเทคโนโลยีสามารถนำมาปรับใช้ จนตอนนี้ได้มีการส่งนักประดาน้ำของเราไปเรียนเพิ่มเติม และซื้ออุปกรณ์ที่มีความทันสมัย เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานให้มีความทัดเทียมกับต่างชาติ เพราะโดยปกติประเทศไทยนิยมการดำน้ำแบบสันทนาการเป็นหลัก แต่เมื่อได้เห็นการดำน้ำของชาวต่างชาติที่เรียกว่า tec dive หรือ technical diving international ซึ่งมีความพร้อมสูง ในวันนี้เราไปถึงตรงนั้นแล้ว เรากำลังเรียนรู้และไปสอบ 

 

    ตอนนี้ใช้เงินไป 5 แสนบาท ด้วยการระดมทุนเพียงเวลา 4 ชั่วโมง เพราะทุกคนต่างเชื่อมันว่า อุปกรณ์ใดที่มอบให้ ฮุก 31 อุปกรณ์นั้น สามารถช่วยชีวิตคนได้อีกมาก เพราะทุกภารกิจ จะเจอเราอยู่ภาคสนามตลอด เราได้ถอดบทเรียนมากมายจากการที่เห็นชาวต่างชาติได้ทำไว้

 

    ในฉบับต่อไปเราจะพาทุกท่านไปพบกับ นายสุทิน ไชยชมภู "นายกสมาคมน้ำบาดาล" ผู้เป็นที่กล่าวขานในโลกออนไลน์ด้วยปรากฏรูปที่เนื้อตัวเต็มไปด้วยโคลน จะน่าสนใจมากเพียงใด โปรดติดตามต่อฉบับหน้า