"ไก่อู" เผย ครม.เห็นชอบร่าง "พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ"  ยังไม่แตะปม "ส.ข."

โฆษกรัฐบาลเผย ครม. เห็นชอบ ร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับรวด เพิ่มอำนาจ กกต. เป็นผู้จัดเลือกตั้ง ซึ่งแต่เดิม อปท.จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ยังไม่แตะปม ส.ข. ยังมีอยู่เช่นเดิม แม้ส่วนใหญ่จะหมดวาระแล้ว

 

โฆษกรัฐบาลเผย ครม. เห็นชอบ ร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับรวด เพิ่มอำนาจ กกต. เป็นผู้จัดเลือกตั้ง ซึ่งแต่เดิม อปท.จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ยังไม่แตะปม ส.ข. ยังมีอยู่เช่นเดิม แม้ส่วนใหญ่จะหมดวาระแล้ว

 

วันนี้ (4 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล "พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ให้ความเห็นชอบกับ  ร่างพ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น และร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เสนอ ซึ่งเป็นร่างพ.ร.บ. ที่เป็น กฎหมายกลาง เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น 1 ฉบับ ส่วนอีก 5 ฉบับเป็นพ.ร.บ.ที่ลงรายละเอียดการเลือกตั้งในแต่ละระดับ อาทิ สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 1 ฉบับ เทศบาล 1 ฉบับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ฉบับ กรุงเทพมหานคร 1 ฉบับ และเมืองพัทยา 1 ฉบับ โดยสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ สืบเนื่องมาจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 252 กำหนดว่า ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ในกรณี ที่เป็นอปท.รูปแบบพิเศษ จะมาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึกงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และสอดคล้องกับกฎหมายที่ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย

 

พล.ท.สรรเสริญ ระบุด้วยว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ตามกฎหมายเดิม การจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น อปท.จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่กฎหมายฉบับใหม่ระบุให้ กกต. เป็นผู้รับผิดชอบ แต่สามารถมอบให้ อปท.หรือกระทรวงมหาดไทย(มท.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ 2.ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในส่วนของ สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หมายความว่า ยังคงมี ส.ข.อยู่เช่นเดิม เพียงแต่ว่า ในเวลานี้ ส.ข.ทุกเขต หมดวาระทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่มีการอนุญาตให้มีการเลือกตั้ง โดยต้องรอการตัดสินใจจาก มท. อีกครั้งว่าจะยังให้มี ส.ข.อยู่หรือไม่ 


อย่างไรก็ตาม ต้องมีการร่างกฎหมายต่อกรณีดังกล่าว ในวันข้างหน้าต่อไป 3.กฎหมายฉบับนี้กล่าวระบุว่า การได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ต้องได้รับคะแนนเสียง มากกว่า คะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด  4.กกต.สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมในเชิงรุก โดยมีสิทธิในการตรวจสอบเมื่อได้รับข้อมูล ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยไม่ต้องรอให้มีคนมาร้องเรียน จากเดิมที่ต้องรอให้มีผู้มาร้องเรียนก่อน 5.มีการแก้คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีที่มีผลประโยชน์ ยึดโยง หรือมีชนักติดหลัง โดยมีการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทุจริตในส่วนนี้ได้ โดยยังคงมีวาระ 4 ปีเช่นเดิม นอกจากนี้ยังกำหนดหน้าที่ของอปท.แต่ละแห่งเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม้ให้ขัดกับกฎหมายของหน่วยงานอื่น จากเดิมที่มีบางข้อกฎหมายที่ยังไม่ลงตัวระหว่าง อปท.และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) พร้อมให้อำนาจ อปท.ในการดูแลจัดการจราจร โดยต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่โรงพัก และสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ โดยเราจะกำหนดหน้าที่ของอปท. ให้สามารถจ่ายงบประมาณสำหรับดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ต้องเป็นรายการที่ มท.ได้ออกระเบียบไว้แล้ว เท่านั้น

 

เขากล่าวต่อว่า มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตการเลือกตั้งในบางพื้นที่ อาทิ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดยการเพิ่มจำนวนคนจาก 100,000 คน เป็น 150,000 คน หากเป็นระดับหมู่บ้านในต่างจังหวัดนั้นมีการกำหนดจำนวนคนไว้ 25 คน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เนื่องจากมีบางหมู่บ้านที่มีคนไม่ถึง 25 คน จึงกำหนดให้สามารถรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันได้ และมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่เดิม ที่กำหนดให้ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และต้องเสียภาษีบำรุงท้องถิ่นติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ตัดเรื่องการเสียภาษีระดับท้องถิ่นออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งสส.ในภาพรวม

 

ขณะนี้คณะกรรมการกฎษฎีกา ได้ตรวจสอบกฎหมายทั้ง 6 ฉบับแล้ว กกต.ทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ให้ความเห็นชอบ เช่นเกียวกับกระทรวงมหาดไทย ลำกับต่อไปคือการส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาภายในเดือนก.ย.นี้  คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 2-3 เดือน คาดว่าภายในเดือน พ.ย.จะแล้วเสร็จ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จกระบวนการทั้งหมดในเดือน ก.พ. หากกระบวนการของกกต.แล้วเสร็จ คาดว่าอาจจะพอดีกับ โรดแมพ ที่ระบุวันเลือกตั้ง วันที่ 24 ก.พ. 2561 อย่างไรก็ตาม มีข้อตกลงที่เคยคุยกันไว้ระหว่างกกต.ชุดเก่าและชุดใหม่ ซึ่งพวกเขาอยากให้ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น มีระยะห่างกับการเลือกตั้งระดับชาติ 3 เดือน เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมการ แต่คงไม่สามารถ จัดทีเดียวพร้อมกันทั้งประเทศได้ แต่ต้องมีการแบ่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรก มีประมาณ 40 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งไปจากเดิม ในส่วนของจังหวัดที่เหลือที่มีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งนั้น จะจัดขึ้นตามมา

 

“ในส่วนของการตรวจสอบทุจริต เดิมกฎหมายกำหนดให้ กกต.มีสิทธิเพิกถอนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งก่อนและหลังการประกาศผล แต่กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริต กกต.สามารถเพิกถอนสิทธิได้ 1 ปี แต่ถ้าหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว กกต.พบข้อมูลยืนยันได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์ หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง กกต.มีสิทธิเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี พร้อมกำหนดให้ผู้ทุจริตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย” โฆษกรัฐบาล ระบุ