อดีตอาจารย์ธรรมศาสตร์เผยการอวดเรือนร่าง ..มันผิดตรงไหน  สยบดราม่าโปสเตอร์คัดลีด เปลือยเนินอก!

วิวาทะTUCL : การอวดเรือนร่าง (my body) เพื่ออวดตัวตนของฉัน (self expression) มันผิดตรงไหน / รศ.ดร. สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กลายเป็นประเด็นร้อนประจำโซเชียลในขณะนี้  กับภาพโปสเตอร์โปรโมตกิจกรรมคัดตัวเชียร์ลีดเดอร์ รุ่น 73 แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทันทีที่มีการโพสต์ภาพของเหล่าตัวแทนนักศึกษาทั้งชายและหญิง ผ่านทางเฟซบุ๊ก TU Cheerleader FC เป็นรูปถ่ายที่แสดงออกมาลักษณะคล้ายกับว่าไม่ได้สวมเสื้อ จนกลายเป็น กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ถึงความเหมาะสม เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถานศึกษา อีกทั้งสถานภาพของนางแบบ-นายแบบที่ยังเป็นนักศึกษา  แต่ทั้งนี้มีบางส่วนมองภาพถ่ายดังกล่าวเป็นศิลปะ และตอนถ่ายรูปนักศึกษาหญิงคงมีการเซฟ ด้วยการใส่เกาะอก

 

อดีตอาจารย์ธรรมศาสตร์เผยการอวดเรือนร่าง ..มันผิดตรงไหน  สยบดราม่าโปสเตอร์คัดลีด เปลือยเนินอก!

 

ล่าสุดทางด้าน รศ.ดร. สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาแสเงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ระบุว่า..

 

วิวาทะTUCL : การอวดเรือนร่าง (my body) เพื่ออวดตัวตนของฉัน (self expression) มันผิดตรงไหน / รศ.ดร. สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล

 

ผมเกษียณราชการจากธรรมศาสตร์มาจะครบสองปีเต็มแล้ว ถ้าตอนนี้ผมยังสอนวิชา มธ.124 "สังคมกับเศรษฐกิจ" หรือวิชาศ.401 "เศรษฐศาสตร์การเมือง" รับรองว่าต้องมีนักศึกษาหลายคนในชั้นเรียนอยากฟังและแลกเปลี่ยนทัศนะกับผมอย่างแน่นอน

 

ก่อนอื่น วิวาทะTUCL ที่กลายเป็น Talk of The Townในโลกโซเชียลเมื่อวานนี้ มันสะท้อนถึงการปะทะระหว่างสองโลกทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง คือโลกทัศน์อนุรักษ์นิยมกับโลกทัศน์ลิเบอรัล ในเรื่องเส้นแบ่งและขอบเขตของการอวดเรือนร่างเพื่ออวดตัวตนของผู้นั้น

สิ่งที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ มาจากโลกทัศน์แบบบูรณานิยม (integralism) ซึ่งอยู่ในชั้นต้นๆของเทียร์ชั้นที่ 2 ของระดับจิต ซึ่งต่างไปจากโลกทัศน์แบบอนุรักษ์นิยม และโลกทัศน์แบบลิเบอรัล ซึ่งต่างก็อยู่ในเทียร์ชั้นที่ 1 ของระดับจิตเหมือนกัน แต่ต่างไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับกันและกันในเชิงพหุนิยม จึงปะทะขัดแย้งทางโลกทัศน์กันอย่างรุนแรง โดยที่วิวาทะ TUCL ตอนนี้มันแค่สะท้อน ปรากฏการณ์ "สงครามระหว่างโลกทัศน์"ที่เริ่มฝังรากลึกในสังคมไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น มันจะมีเหตุวิวาทะแบบนี้อีกมาก แค่โดนสะกิด หรือมีใครจุดชนวนวิวาทะขึ้นมาเท่านั้น ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม

 

ขอให้คนอ่านนึกเสียว่า ผมกำลังบรรยายและอธิบายมุมมองของผมเกี่ยวกับวิวาทะTUCL นี้ให้นักศึกษาในชั้นเรียนของผมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฟังก็แล้วกัน คนที่จิตใจคับแคบ ไม่สนใจเปิดกระโหลกกระลาของตนเอง อย่าเสียเวลาอ่านบทความชิ้นนี้ของผมจนจบเลย เพราะผมต้องการจะสื่อสารกับนักศึกษารุ่นนี้ที่เหมือนลูกเหมือนหลานผมเท่านั้น ในประเด็นเรื่อง My Body My Opinion ที่กำลังฮอตอยู่ตอนนี้

 

ก่อนอื่น เราควรเข้าใจตรงกันว่า ยุคนี้เป็นยุคอวดตัวตนของปัจเจก (self expression) โดยที่ การอวดเรือนร่าง(my body) กับการอวดภาพลักษณ์ (my image)เป็นวิธีการที่ตรงและโจ่งแจ้งที่สุดในการอวดตัวตนให้สังคมรับรู้ โดยเฉพาะสำหรับคนหนุ่มสาวยุคนี้ ในสมัยก่อนในยุค 2.0 และ 3.0 มีแต่พวกดาราเท่านั้นที่แทบจะผูกขาดการอวดเรือนร่างและอวดภาพลักษณ์ของตนเองต่อสังคม เพราะข้อจำกัดของยุคสมัยที่สื่อหลักในยุคนั้นแทบผูกขาดพื้นที่การเผยแพร่โฆษณาภาพของดาราผ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และโทรทัศน์

 

แต่ปัจจุบันมิใช่เช่นนั้นแล้ว การโผล่ขึ้นมาแทนที่ของสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค ที่สามารถถ่ายทอดสดได้ ยูทูปและอินสตาแกรม ทำให้หนุ่มสาวรุ่นนี้ สามารถอวดเรือนร่างและอวดภาพลักษณ์ของตนผ่านสื่อโซเชียลของตนเองโดยตรงได้ โดยไม่ต้องง้อสื่อหลักอีกต่อไป 

 

การปรากฏขึ้นพรวดพราดของเน็ทไอดอล จำนวนมาก ที่มีความนิยมเป็นรองก็แค่ดาราอาชีพระดับท็อป ได้ช่วงชิงพื้นที่ สถานะ "กึ่งดารา"มาเป็นของตนเองโดยตรงได้ง่ายขึ้น ทำให้การแข่งขันอวดเรือนร่างและอวดภาพลักษณ์ของคนหนุ่มสาวยุคนี้เกิดขึ้นแบบแทบล้นทะลักราวกับเขื่อนแตก และเกิดขึ้นแทบทุกมุมทุกพื้นที่ของสังคม ทุกวงการวิชาชีพ (ถ้ายังจำได้ เคยมีกรณีภาพพยาบาลสาวกับครูสาวโรงเรียนมัธยมที่แต่งตัวทำท่าเซ็กซี่ในเครื่องแบบออกมาเป็นประเด็นแล้ว)

ครั้งนี้ที่ วิวาทะ TUCL เกิดเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา ก็เพราะ ภาพลักษณ์ อิทธิพลชื่อเสียงบารมีที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของตัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั่นเอง บอกตามตรง ผมมองภาพถ่ายของพวกเธอและพวกเขาเป็นภาพศิลป์ ตอนที่มองเห็นครั้งแรกก็ไม่เกิดความรู้สึกลามกขึ้นในใจ บางคนดูแล้วรู้สึกมีเสน่ห์ดึงดูดใจแค่นั้นเอง

 

ถ้าพวกเขาและพวกเธออวดเรือนร่างของตนเองในฐานะชายหนุ่มหญิงสาวคนหนึ่ง โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานะนักศึกษาธรรมศาสตร์ใดๆทั้งสิ้น ผมคิดว่าสังคมคงไม่มีปฏิกิริยารุนแรงขนาดนี้ ผมอยากจะบอกพวกเขาและพวกเธอว่า "ความเป็นธรรมศาสตร์มันยิ่งใหญ่และสูงส่งมาก"ในความนึกคิดและในสายตาของสังคมนะ บางทีพวกคุณอาจจะยังเด็กเกินกว่าที่จะตระหนักถึงคุณค่าแห่งการได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวธรรมศาสตร์ที่ตัวผมเองเคยสังกัดมา 32 ปีเต็ม

 

แต่แม้ตัวผมจะเกษียณราชการจากธรรมศาสตร์แล้ว แต่การที่ได้เป็น เคยเป็น และยังเป็นชาวธรรมศาสตร์ในฐานะ "ชุมชนเชิงจินตนาการ" มันคือความภาคภูมิใจสำหรับผมไปชั่วชีวิต และตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

*****

 

ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง ที่ผมอยากจะเสริม ที่ไม่เกี่ยวกับพวกเขาและพวกเธอใน TUCL โดยตรง แต่มันเกี่ยวกับเรื่องระบบคุณค่า และทัศนะคติในการมองเรือนร่างตนเองของคนรุ่นเจน Y โดยทั่วไป

กล่าวคือในยุคทุนนิยมวัฒนธรรมในยุคนี้ กระบวนการกลายเป็นสินค้าของเรือนร่างได้ดำเนินมาถึงขีดสุดแล้ว
ในยุคนี้ คนหนุ่มสาวทุกคนมีโอกาส "ขายเรือนร่าง"ของตนเองเพื่อแลกกับเงินตราในรูปแบบต่างๆได้อย่างแทบไร้ข้อจำกัดทางช่องทางการสื่อสารใดๆ
ขอเพียงมีคนต้องการซื้อ และเจ้าตัวก็เต็มใจขายเท่านั้น

 

สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ รุ่นปู่รุ่นย่าของพวกคุณ จึงไม่แปลกที่คนสูงวัยกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ (อย่าลืมว่าสังคมไทยเริ่มเป็นสังคมคนสูงวัยไปแล้ว) ยากจะทำใจยอมรับได้ 
ผมอยากให้พวกคุณมองคำติเตียนของพวกเขาว่าเป็นการแสดงออกถึงความเป็นห่วงมากกว่าความเกลียดชังนะ (อย่าไปติดใจคำพูดแบบคนปากร้ายของพวกคนแก่บางคนที่ด่าว่าพวกคุณเลยนะ)

กล่าวคือ เส้นแบ่งระหว่างการอวดเรือนร่าง กับการขายเรือนร่างเพื่อแลกกับเงินหรือเพื่อเป็นสินค้า มันบางจางเหลือเกินในยุคนี้ ถ้าหากคนหนุ่มสาวรุ่นเจน Y ขาดความยับยั้งยั่งใจ ผมมิอาจกล้าพูดได้เต็มปากว่า คนหนุ่มสาวรุ่นเจน Y ส่วนใหญ่จะมีความยับยั้งชั่งใจมากพอที่จะไม่ข้ามเส้นแบ่งที่เย้ายวนระหว่างการอวดเรือนร่าง กับการขายเรือนร่าง แต่ผมมั่นใจในหนุ่มสาวชาว TUCL ทุกคนว่าจะไม่ข้ามเส้นแบ่งที่ว่านี้อย่างแน่นอน

 

ผมเชื่อมั่นพวกเขาและพวกเธอนะในฐานะที่พวกเขาและพวกเธอเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ และจากประสบการณ์ที่ตัวผมได้สอนนักศึกษาธรรมศาสตร์มาค่อนชีวิต

รศ.ดร. สุวินัย ภรณวลัย  คนที่เคยสอนพวกพี่ พวกน้า และพวกอาของพวกคุณที่ธรรมศาสตร์

หมายเหตุ : ถ้าเห็นด้วยกับบทความของผม ขอความกรุณาช่วยแชร์ด้วย เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างคนต่างวัย