ถึงขั้นหัวขาด! "บิ๊กตู่" สั่งกลาง ครม. "โกงเงินคนจน-ไม่เอาไว้" เรื่องนี้ "บิ๊กป้อม" เผยเอง

ถึงขั้นหัวขาด! "บิ๊กตู่" สั่งกลาง ครม. "โกงเงินคนจน-ไม่เอาไว้" เรื่องนี้ "บิ๊กป้อม" เผยเอง

 

ใครเอี่ยวรอบนี้ถึงขั้นหัวขาด! "บิ๊กตู่" สั่งกลาง ครม. "โกงเงินคนจน-ไม่เอาไว้" เรื่องนี้ "บิ๊กป้อม" เผยเอง นายกฯ สั่งกลางที่ประชุม ครม. เลย...ต้องให้ออกจากตำแหน่งโดยทันที

 

วันนี้ (19 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณี การโกงเงินคนพิการของกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการตามกฎหมาย หากพบความผิดก็ต้องดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุไว้ว่า ใครทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง ให้ออกจากตำแหน่งโดยทันที และเมื่อวานนี้ก็ได้สั่งการชัดเจนในที่ประชุม ครม.

 

ทั้งนี้ เรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การที่ พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกเปิดเผยผลการสอบวินัยร้ายแรงผู้เกี่ยวข้องกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์ ผู้มีรายได้น้อย และคนไร้ที่พึ่งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า "คดีโกงเงินคนจน" เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา


ซึ่งผลสอบสวนระบุว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวง พม. (อ.ก.พ.กระทรวง) ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้ถึง 3 วัน และมีมติเห็นด้วยตามที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงผู้เกี่ยวข้อง 26 คน ที่มี นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบวินัยฯ เสนอบทลงโทษมา ในจำนวนนี้เป็นโทษไล่ออกจากราชการ 6 คน ปลดออกจากราชการ 5 คน และกันไว้เป็นพยาน 15 คน

 

นอกจากนี้ ในส่วนของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ยังเสนอชื่อเข้ามาพิจารณาเพิ่มอีก 5 คน ซึ่งทั้ง 5 คน มีโทษไล่ออกจากราชการ จึงรวมพิจารณาโทษทั้งหมด 31 คน โดยเป็นโทษไล่ออก 11 คน ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่จงใจดำเนินการให้เกิดการทุจริตก็มีโทษให้ไล่ออก  

 
สำหรับผู้ที่ได้รับการพิจารณาโทษให้ไล่ออกจากราชการทั้ง 11 คน รวมถึง นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัด พม. ที่เสียชีวิตด้วย เพราะอยู่ในฐานความผิด แต่ถือว่าเสียชีวิตไปแล้วก็ต้องยุติคดีทางวินัย แต่ก็ยังเหลือความผิดทางละเมิดก็จะต้องพิจารณาต่อ

 
อย่างไรก็ดี รมว. พม. ระบุว่า ผู้ที่ถูกลงโทษไล่ออกและปลดออกสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. ได้ภายใน 30 วัน ขณะที่การสอบสวนวินัยในระดับปฏิบัติการ ยังมีอีกประมาณ 200 กว่าคน ซึ่งส่วนนี้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ท.) ร่วมกับกรม พส. ซึ่งจะต้องใช้เวลา เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรที่จะมาเป็นคณะกรรมการสอบสวน และยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ถูกไล่ออกและปลดออกได้ เนื่องจากยังเป็นมติของที่ประชุม อ.ก.พ. กระทรวง จากนี้ฝ่ายกฎหมายจะสรุป และทำคำสั่งสำนวนโดยต้องหารือกับ ก.พ. ต่อไป