เปิดเส้นทางชีวิตยอดมวยไทยอัจฉริยะผู้อาภัพ สู่วีรบุรุษตกอับชั่วข้ามคืน

การต่อสู้บนสังเวียนผ้าใบถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่เป็นเสมือนความภูมิใจของชาวไทยด้วยความเป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะ "มวยไทย" ศิลปะการป้องกันตัวที่เต็มไปด้วยทวงท่าที่สง่างามแต่แฝงไปด้วยการออกอาวุธจากอวัยวะทุกส่วนอย่างเด็ดขาดและรุนแรง

เปิดเส้นทางชีวิตยอดมวยไทยอัจฉริยะผู้อาภัพ สู่วีรบุรุษตกอับชั่วข้ามคืน

 

    การต่อสู้บนสังเวียนผ้าใบถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่เป็นเสมือนความภูมิใจของชาวไทยด้วยความเป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะ "มวยไทย" ศิลปะการป้องกันตัวที่เต็มไปด้วยทวงท่าที่สง่างามแต่แฝงไปด้วยการออกอาวุธจากอวัยวะทุกส่วนอย่างเด็ดขาดและรุนแรง อันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนสู่อนุชนรุ่นหลัง

 

    และแน่นอนว่า หากจะกล่าวถึงบุรุษผู้หนึ่งที่หันเหชีวิตจากความเป็นยอดฝีมือ "มวยไทย" สู่สังเวียน "มวยสากลสมัครเล่น" ทั้งยังฝากวีรกรรมไว้ให้ทั้งโลกได้ประจักษ์ ด้วยการสวมนวมไว้ที่กำปั้นทั้งสองข้าง แบกความหวังของคนไทยไว้บนบ่าจนสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเป็นเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยคงไม่มีใครไม่รู้จักชายผู้มีนามว่า สมรักษ์ คำสิงห์ หรือ พิมพ์อรัญเล็ก เป็นแน่

 

 

เปิดเส้นทางชีวิตยอดมวยไทยอัจฉริยะผู้อาภัพ สู่วีรบุรุษตกอับชั่วข้ามคืน

 

    จากประเด็นที่ถูกวิจารณ์เป็นวงกว้างจากกรณี ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของ นางเสาวนีย์ คำสิงห์ จำเลยที่ 1, นายสมรักษ์ คำสิงห์ จำเลยที่ 2 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483  โดยบริษัท บริหารสินทรัพย์ มหานคร จำกัด ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย  มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลย เป็นเหตุให้สมรักษ์ คำสิงห์ กลายเป็นวีรุบุรุษตกอับในสายตาใครหลายคนทันที

 

    เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่ไม่น้อยที่ภาพจำของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสมรักษ์นั้น อาจเป็นเพียงความทรงจำในวัยเยาว์ที่พร่าเลือนในฐานะแชมป์โอลิมปิกมวยสากลสมัครเล่น หรือภาพของชายผู้หนึ่งผ่านโฆษณากางเกงชั้นในชายพร้อมวลี "ไม่ได้โม้" จนกลายเป็น "โม้อมตะ" จากความพ่ายแพ้บนสังเวียนในเวลาต่อมา ทว่านอกเหนือจากเหล่า "คอมวย"วัยดึก จะมีสักกี่คนที่มีโอกาสสัมผัสและรับรู้ว่าครั้งหนึ่งสมรักษ์ เคยเป็นหนึ่งในยอดอัจฉริยะมวยไทยที่หาตัวจับได้ยาก จนถึงขนาดที่ว่าไม่มีเข็มขัดคล้องเอวแม้สักเส้น เหตุที่ว่าไม่มีแชมป์คนใดในขณะนั้น กล้ารับคำท้าจากสมรักษ์เพราะรู้ดีว่าถึงชกด้วยอย่างไรก็แพ้

    สมรักษ์ คำสิงห์ หรือ บาส เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2516 เป็นคนจ.ขอนแก่นโดยกำเนิด เป็นบุตรคนกลาง ในจำนวนลูกทั้ง 3 คน ของ นายแดงและนางประยูร คำสิงห์ จากเด็กต่างจังหวัดที่ครอบครัวมีฐานะยากจนและด้วยเพราะได้รับอิทธิพลจากพ่อที่เคยเป็นนักมวยเก่า จึงจำต้องใช้ร่างกายต่อสู้เพื่อปากท้อง เส้นทางชีวิตนักมวยของเขาได้เริ่มต้นขึ้นขณะอายุได้เพียง 7 ปี โดยตระเวนชกตามเวทีงานวัดต่างๆ จนกลายเป็นหนึ่งในนักมวยที่มีชื่อเสียงไปทั่ว จ.ขอนแก่น 

 

    จากนักมวยบ้านนอกเดินทางตามความฝันสู่ความศิวิไลซ์ในเมืองกรุง สังกัดค่ายศิษย์อรัญวาดลวดลายทั้งมวยไทยและมวยสากลสมัครเล่นในชื่อ  พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ แต่ไม่นานนักเมื่ออายุได้ 14 ปี พ่อของเขาก็ถึงแก่กรรม ในเส้นทางมวยไทยนี้เองที่ทำให้สมรักษ์ได้ผงาดจนเป็นที่ยอมรับในเวลาต่อมา ผ่านสนามมวยจนเจนจบเกือบทุกเวทีมาตรฐานทั้งเวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินี มีโอกาสขึ้นชกกับนักมวยชื่อดังยุคนั้นหลายคน เช่น ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย ช้างน้อย ศรีมงคล  ถึงแม้จะไม่ดุดันเทียบเท่ามวยรุ่นพี่อย่าง "เพชรฆาตหน้าหยก" สามารถ พยัคฆ์อรุณ

 

 

 

    แต่ด้วยสไตล์การชกแบบเล่นเอาเถิดเจ้าล่อสายตาดีเยี่ยม ไอคิวมวยไม่เป็นรองใคร พริ้วไหวดั่งสนลู่ลมชดเชยจุดด้อยที่อาวุธไม่หนัก และโดดเด่นด้วยรอยยิ้มอันยียวนอันเป็นเอกลักษณ์ เหล่านี้ทำให้คู่ต่อสู้ถึงกับต้องหลงเหลี่ยมเสียเชิงมวยมานักต่อนักทั้งยังมีการนำแม่ไม้มวยไทยมาประยุกต์ใช้บนสังเวียนอย่างครบเครื่อง จนเป็นที่ติดตาตรึงใจของเหล่าคอมวยในยุคนั้นโดยทั่วกัน ค่าตัวสูงสุดได้รับจากการชกมวยไทยของสมรักษ์ อยู่ที่ราว 180,000 บาท จัดเป็นนักมวยเงินแสนคนหนึ่ง แต่อนิจจาโชคชะตากลับเล่นตลกความเก่งกาจของเขากลับกลายเป็นความอาภัพ เพราะไม่มีแชมป์คนใดกล้ารับคำท้าจากสมรักษ์ เนื่องด้วยกลัวจะเสียเข็มขัดให้ยอดมวยผู้นี้จนต้องเบนเข็มชีวิตมาเอาดีด้านมวยสากลในเวลาต่อมา

    และแล้วในปี 2539 มหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 26 ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ที่เมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมทั้งหมด 13 คน ใน 5 ชนิดกีฬา แน่นอนว่าหนึ่งในความหวังเหรียญทองคือมวยสากลสมัครเล่นที่ส่งไปถึง 6 คน ทว่าการจะไปถึงฝั่งฝันนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสุดท้ายกลับเหลือเพียง 2 คนเท่านั้นคือ สมรักษ์ คำสิงห์ และวิชัย ราชานนท์

 

 

เปิดเส้นทางชีวิตยอดมวยไทยอัจฉริยะผู้อาภัพ สู่วีรบุรุษตกอับชั่วข้ามคืน

 

 

เปิดเส้นทางชีวิตยอดมวยไทยอัจฉริยะผู้อาภัพ สู่วีรบุรุษตกอับชั่วข้ามคืน

 

    4 ส.ค. 2539 การแข่งขันที่ทำให้ให้หัวใจของคนไทยทั้งประเทศแทบจะหยุดเต้น ระหว่าง สมรักษ์ คำสิงห์ และ เซราฟิม โทโดรอฟ ก็ได้เริ่มขึ้น และได้กลายเป็นเหรียญทองประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา
สมรักษ์เอาชนะคู่ชกจากบัลแกเรียได้ด้วยคะแนน 8-5 ภายหลังจากได้เหรียญทองแล้วสมรักษ์กลายเป็นวีรบุรุษและบุคคลมีชื่อเสียงในทันที เริ่มมีงานโฆษณาและบันเทิงเข้ามาไม่ขาดสาย รวมถึงงานแสดงในบท "นายขนมต้ม" ทางช่อง 7 ที่หลายคนคุ้นเคย

 

 

เปิดเส้นทางชีวิตยอดมวยไทยอัจฉริยะผู้อาภัพ สู่วีรบุรุษตกอับชั่วข้ามคืน  

 

    แต่แล้วทุกอย่างล้วนไม่จีรังเพราะภายหลังสมรักษ์คว้าเหรียญทองกลับมาได้อีกครั้งจากกีฬาเอเชียนเกมในปี 2541 สมรักษ์กลับไม่ประสบความสำเร็จในเส้นทางนักมวยอีกเลย เพราะตกรอบสามในการแข่งขันโอลิมปิกที่ซิดนีย์ ปี 2543 เลวร้ายที่สุดคือตกรอบแรกในโอลิมปิกที่เอเธนส์ ปี 2547 จนมีคำสบประมาทว่าอ่อนซ้อม อดีตวีรบุรุษผู้นี้จึงเลือกปิดม่านชีวิตนักสู้ ประกาศแขวนนวมในที่สุด เรียกได้ว่าเป็นตอนจบที่ดูจะไม่สวยงามนัก

 

    ถึงแม้ว่าวันนี้ "วีรบุรุษ" จะกลายเป็นเพียงความทรงจำในอดีต เหลือไว้แต่เพียง "บุคคลล้มละลาย" ที่ถูกปรามาศในชั่วข้ามคืน แต่โปรดอย่าลืมว่าอย่างน้อยครั้งหนึ่งชายผู้นามว่า สมรักษ์ คำสิงห์ ก็ได้มอบรอยยิ้มและสีสันบนสังเวียนผ้าใบในฐานะยอด "มวยไทย" อีกทั้งยังทุ่มเทแรงกายแรงใจพาคนไทยไปถึงฝั่งฝันด้วยดีกรีแชมป์เหรียญทองโอลิมปิก "มวยสากลสมัครเล่น" คนแรกของประเทศไทย

 

 

เปิดเส้นทางชีวิตยอดมวยไทยอัจฉริยะผู้อาภัพ สู่วีรบุรุษตกอับชั่วข้ามคืน