เจาะลึก !!! รายได้เกาหลีเหนือมาจากไหน ? รวมถึงที่มาของท่อน้ำเลี้ยง "คิม จอง อึน"

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

ซีเอ็นเอ็น อ้างข้อมูลว่า เศรษฐกิจเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในระบบที่สั่งการโดยตรงจากศูนย์กลางมากที่สุด และเปิดกว้างน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

ในรายงาน "เวิลด์ แฟ็กต์บุ๊ก" ของหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐ (CIA)ยังชี้ด้วยว่า "โครงสร้างอุตสาหกรรมย่ำแย่เกินกว่าจะซ่อมแซม ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่ต่ำกว่าที่ควรมานานหลายปี การขาดแคลนอะไหล่ และการบำรุงรักษาที่เลวร้าย รายจ่ายด้านการทหารก้อนโตดึงทรัพยากรไปจากการลงทุนที่จำเป็นและการบริโภคของพลเรือน"

แจง จิน-ซุง บรรณาธิการบริหารของเว็บไซต์ "นิวโฟกัส อินเตอร์เนชั่นแนล" ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกระจายเสียงกลาง และเป็นกวีผู้ทรงคุณวุฒิของโสมแดง แต่หลบหนีออกจากประเทศในปี 2547 เขาผลิตข่าวจากข้อมูลของผู้ที่อพยพออกจากเกาหลีเหนือ รวมถึงแหล่งข่าวที่ยังอยู่ในประเทศดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลว่า การลงทุนจากเกาหลีใต้ช่วยนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในเกาหลีเหนือจำนวนมาก 

นอกจากนี้ยังมีรายได้ก้อนใหญ่จากการค้ากับจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายอาวุธ ธุรกิจทุกอย่างของเกาหลีเหนือที่เกี่ยวข้องกับจีนต้องนำส่งกำไรบางส่วน ซึ่งปกติแล้วสูงกว่า 50% ให้กับองค์กรการเงินของรัฐ ที่รู้จักกันในชื่อ "ออฟฟิศ 38" โดยถือว่าเงินดังกล่าวเป็น "การแสดงความภักดี" หน้าที่หลักของหน่วยงานนี้คือหาเงินให้รัฐบาลนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ และเป็นเหมือนถุงเงินส่วนตัวของคิม จอง อิล ผู้นำรุ่นที่แล้ว

ตามข้อมูลของซีไอเอ จีนเป็นคู่ค้าเบอร์หนึ่งของโสมแดง เกาหลีใต้ตามมาเป็นที่ 2

 

จิม โฮอาร์ จากวิทยาลัยตะวันออกและแอฟริกาศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสถานทูตอังกฤษในเกาหลีเหนือในปี 2544 เปิดเผยว่า ในช่วงต้นของทศวรรษที่แล้ว เกาหลีใต้เคยเป็นคู่ค้าหลักของรัฐบาลเปียงยาง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เสื่อมทรามลงในยุคของอดีตประธานาธิบดี ลี เมียง บัค แห่งเกาหลีใต้ ทำให้จีนผงาดเป็นคู่ค้าหลักของโสมแดงจนถึงปัจจุบัน

"มีสินค้าจีนอยู่ทั่วเกาหลีเหนือ จีนป้อนทุกอย่างตั้งแต่น้ำมัน อาหาร รถโดยสาร ไปจนถึงโถชักโครก" โฮอาร์ระบุ

นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุที่จีนหนุนหลังโสมแดงเต็มที่ เป็นเพราะรู้สึกปลอดภัยที่มีเกาหลีเหนือเป็นเพื่อนร่วมชายแดน มากกว่าเกาหลีใต้ซึ่งเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับสหรัฐ

ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจแบบเป็นทางการของเกาหลีเหนือพึ่งพาอุตสาหกรรมหนักเป็นหลัก จนถึงกลางยุค 1970 โสมแดงเป็น 1 ใน 2 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของเอเชียเคียงคู่ญี่ปุ่น โดยได้รับประโยชน์จากสภาเพื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจร่วมกัน (Council for Mutual Economic Assistance) ซึ่งนำโดยอดีตสหภาพโซเวียต 

แต่หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ตลอดจนภัยธรรมชาติกระหน่ำหลายครั้ง ภาคอุตสาหกรรมก็เข้าสู่ขาลงในช่วง 1980 สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงอีกในยุค 1990 เกาหลีเหนือเจอปัญหาน้ำมันขาดแคลนเพราะโซเวียตไม่ส่งพลังงานให้อีกต่อไป ส่วนภาคเกษตรก็อยู่ในวังวนความเสื่อมโทรมตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เพราะพึ่งพาปุ๋ยเคมีเกินพอดี 

นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังขาดแคลนกระแสไฟฟ้าด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลเปียงยางยกขึ้นอ้างในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์

และตั้งแต่เกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์ครั้งแรกในปี 2549 สมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็มีมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเรื่อยมา ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโสมแดงอย่างหนัก

 

แต่อย่างไรก็ตามนิคมอุตสาหกรรมแคซอง เป็นอีกแหล่งนำเข้าเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลคิม จอง-อึน เพราะมีชาวโสมแดงทำงานที่นั่นราว 5 หมื่นคน ผลิตสินค้าเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี คนงานได้รับค่าจ้าง 134 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ซึ่ง 45% ถูกเจ้าหน้าที่หักภาษี

ขณะที่ สกุล เงินอย่างเป็นทางการคือเงินวอนเกาหลีเหนือ แต่ทุกอย่างในแดนโสมแดงถูกผูกไว้กับเงินดอลลาร์ รวมถึงตลาดมืด เงินวอนแทบไม่ต่างกับ "กระดาษชำระ" สถานทูตของประเทศต่าง ๆ ก็ต้องดำเนินงานโดยใช้สกุลเงินต่างประเทศ

รัฐบาลเปียงยางพยายามปรับ มูลค่าเงินวอน แต่เพราะทุกคนใช้เงินดอลลาร์ในการซื้อขาย เงินดอลลาร์จึงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เงินวอนเสื่อมค่าลง

เงิน ยูโรเองก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นในตลาดแดนโสมแดง เพราะรัฐบาลกังวลว่าสหรัฐจะหยุดป้อนเงินดอลลาร์ให้เกาหลีเหนือ โดยทุกวันนี้เงินตราต่างประเทศถูกส่งผ่านมายังประเทศ

เกาหลีเหนือหลาย ทาง รวมถึงการค้ากับจีน การมาเยือนของคนต่างชาติ และการส่งเงินกลับประเทศของชาวเกาหลีเหนือที่อพยพไปอยู่ญี่ปุ่นหรือเกาหลี ใต้