วงในยังฝุ่นตลบ!!"รถไฟเร็วสูง"กทม.-โคราชโดนติงหนักให้อภิสิทธ์"จีน"คุมก่อสร้างล่าสุด"ไพศาล"กุนซือ"บิ๊กป้อม"เปิดประเด็นใหม่ไม่ใช่ข้อตกลงไทย-จีน

ติดตามรายละเอียด : http://www.tnews.co.th

กลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องสำหรับการเดินหน้า  โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา    เพราะถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช.  จะออกมาเรียกร้องให้ประชาชนคนไทยเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเร่งเดินหน้าโครงการ โดยการใช้คำสั่งมาตรา 44  ปลดล็อกในหลาย ๆ ประเด็นปัญหาค้างคาให้โครงการเดินหน้าได้  ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสมให้วิศวกร-สถาปนิกเข้ามาดำเนินการ โดยมีข้อยกเว้นไม่ต้องยึดโยงกับข้อห้ามตามกฎหมายไทย   รวมถึงเงื่อนไขอื่น  ๆ   ที่อาจเป็นอุปสรรคการทำงาน 

 

“ขอร้องว่าอย่าไปขวางเลยเรื่องการก่อสร้างรถไฟอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ เพราะมันเป็นผลประโยชน์โดยร่วมของประเทศ การที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง ผมเห็นข่าวทีวีช่องไหนไม่รู้ บอกว่าผมต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-โคราช เพราะว่าผมเป็นคนโคราช ดูสิ คิดแบบนี้ได้อย่างไร ผมจะเกิดที่ไหนก็เรื่องของผม นั่นเรื่องส่วนตัวของผม แต่ผมทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อพื้นที่เกิดของผมเพียงอย่างเดียว”   

 

หากแต่กรณีนี้มีหลากหลายมุมมองความเห็น    ทั้งสนับสนุนในเชิงหลักการแต่คัดค้านวิธีปฏิบัติ   และคัดค้านกระบวนการทั้งหมด   โดยมองเรื่องความคุ้มค่าเป็นปัจจัยสำคัญ     ทั้งนี้   ดร.ธเนศ  วีระศิริ  นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์   ระบุว่าเห็นด้วยกับการเดินหน้าโครงการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางการ ขนส่งในภูมิภาคนี้ตามแนวนโยบาย ( road map) ของรัฐบาล แต่มีความ กังวลและไม่เห็นด้วยกับการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะใช้งบประมาณของประเทศโดยไม่ได้ รับผลประโยชน์ใดจากจีน รวมถึงวิตกกังวลต่อท่าทีของ รัฐบาลที่อาจกระทบการความเชื่อมั่น ขวัญ และกําลังใจของสมาชิกวิศวกรผู้ปฎิบัติวิชาชีพตามกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์สําคัญในการสรางความปลอดภัยสาธารณ

 

ด้าน  ดร.สามารถ  ราชพลสิทธิ์   อดีตรองผู้ว่ากทม. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน วิศวกรรมจราจรและขนส่ง  ระบุก่อนหน่นี้ว่า   ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูง หากรัฐบาลมีความพร้อมที่จะก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถ   ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอแนะให้รัฐบาลทุ่มเทสรรพกำลังไปที่การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร  แทนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการยากที่รัฐบาลจะผลักดันให้รถไฟความเร็วสูงประสบผลสำเร็จได้ แต่เมื่อได้เห็นความตั้งใจจริงของท่านนายกฯ ประยุทธ์ ที่ต้องการให้คนไทยได้มีโอกาสใช้รถไฟความเร็วสูงของไทย  จึงขอเสนอแนะแนวทางในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงให้เป็นรูปธรรมเพื่อไม่ให้เงินลงทุนต้องสูญเปล่าหรือเพื่อให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน

 

พร้อมกับเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขใน 3  ประเด็นหลัก คือ  1. เปลี่ยนผู้รับผิดชอบตั้งแต่ระดับกระทรวงคมนาคมลงมาถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย   2. เปลี่ยนกำหนดการก่อสร้าง โดยเสนอให้ก่อสร้างรวดเดียวจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา   ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร ด้วยบริษัทรับเหมาที่มีประสบการณ์ให้แล้วเสร็จได้ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นควรขยายเส้นทางไปจนถึงหนองคายทันที โดยให้จีนร่วมลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม  3. พัฒนาเมืองควบคู่กับรถไฟความเร็วสูง  หรือเป็นการพัฒนาทางรถไฟกับเมืองในเชิงบูรณาการ (Integrated Railway and Urban Development) ซึ่งจะช่วยให้มีผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น  โดยการพัฒนาเมืองอาจประกอบด้วย การก่อสร้างเมืองใหม่ เมืองอุตสาหกรรม เมืองมหาวิทยาลัย และเมืองราชการ เป็นต้น

 

ขณะที่ล่าสุดนายไพศาล พืชมงคล   กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)  ได้โพสต์แสดงความเห็นอีกมุมแตกต่าง  ในประเด็น  “ รถไฟความเร็วสูงต่างกับรถไฟทางคู่อย่างไร? ”

 

1.รถไฟ ความเร็วสูง เป็นรถไฟสำหรับขนคนโดยสาร ที่มีระบบเฉพาะ มีสถานีเฉพาะ สำหรับคนโดยสารและมีเวลาจอดที่เร็วมาก 

 

2. รถไฟทางคู่เป็นรถไฟสำหรับขนทั้งคนโดยสารและสินค้า จึงขนถ่ายทั้งคนโดยสารและสินค้า ซึ่ง ใช้เวลามากกว่าและช้ากว่ารถไฟความเร็วสูงเป็นระบบโดยเฉพาะ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคลังสินค้าและระบบการขนถ่ายสินค้าด้วย 

 

3. ในเส้นทางรถไฟสายหลักของโลกและเส้นทางสายไหม แต่ละประเทศ สามารถเลือกมีรถไฟ ทางคู่ก็ได้รถไฟความเร็วสูงก็ได้หรือจะมีทั้ง 2 ระบบก็ได้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและฐานะของประเทศ 

 

4. รถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายหลักของโลกและเส้นทางสายไหมใช้ระบบราง Standard หรือรางกว้าง 1.435 เมตร และใช้กันทั่วทั้งโลก 

 

5.ข้อตกลงระหว่างไทยจีน ที่ลงนามกันเมื่อ 19 มกราคม  2558 ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นรถไฟทางคู่  ระบบรางมาตรฐาน เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟสายหลักของโลกที่เวียงจันทร์ของประเทศลาว สำหรับขนส่งทั้งคนโดยสารและสินค้า ด้วยความเร็วประมาณ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

6. ทางรถไฟ สายกรุงเทพ-โคราช ระยะทาง 200 กิโลเมตรเศษ ที่กำลังจะทำกันนั้น ไม่เป็นไปตามข้อตกลงไทยจีน แต่เป็นเพียงรถไฟภายในประเทศ ที่เชื่อมต่อกับรถไฟสายหลักไม่ได้ ไปจีนและยุโรปไม่ได้ เพราะคนละระบบกับที่ประเทศลาวเชื่อมต่อมาถึงเวียงจันทน์ และระบบรางก็คนละระบบกับที่เขาใช้กันอยู่เพราะ มีรางกว้างแค่ 1 เม็ดความเร็วแค่ 120 กม. ต่อชั่วโมง สู้นั่งรถยนต์โดยมอเตอร์เวย์ไม่ได้ ???