เปิดให้เห็นกันชัด ๆ ...ข้อมูลที่การบินไทย ส่งให้ป.ป.ช. (รายละเอียด)

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม : www.tnews.co.th

กับประเด็นข่าวที่สังคมยังเกาะติดอย่างต่อเนื่องคงหนีไม่พ้น กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่ระบุว่ามีการจ่ายเงินให้คนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และอดีตนักการเมือง จำนวน 3 ครั้งรวมวงเงินกว่า 1,200 ล้านบาท 

ส่วนจะเป็นใครนั้น ก็คงต้องรอรายชื่อ ที่ทางบริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้เปิดเผยออกมาให้กับ หน่วยงานปราบปรามการทุจริตแห่งสหราชอาณาจักร  หรือ SFO แล้ว และทาง ป.ป.ช.กำลังประสานขอรายชื่อดังกล่าว ส่วนจะตรงกับรายชื่อที่เราได้เปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่นั้น ก็คงต้องเกาะติดกันต่อไป

ซึ่งทาง นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะทำงานสอบสวนและรวบรวมข้อมูล กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนจัดซื้อเครื่องยนต์แก่เจ้าหน้าที่รัฐไทย กล่าวว่า คณะทำงานคงไม่จำเป็นต้องนัดประชุมเพื่อสรุปประเด็นที่จะส่งไปยังสำนักงานปราบปรามการทุจริตประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) เพราะได้คุยในหลักการกับทางเอสเอฟโอถึงข้อมูลที่ ป.ป.ช.ต้องการไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมจะส่งข้อมูลที่ต้องการไปให้เอสเอฟโอในสัปดาห์นี้

ขณะนี้ ป.ป.ช.ไม่อยากเปิดเผยข้อมูลอะไรมากกว่านี้ เนื่องจากเอสเอฟโอขอให้ ป.ป.ช.งดให้ข่าวในช่วงนี้ เพราะเกรงว่าจะไปกระทบกับรูปคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลอังกฤษ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการบินไทยยังไม่สามารถระบุได้ว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดรับสินบน เป็นเพียงการระบุว่า ใครรับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อในขั้นตอนใดและช่วงเวลาใดเท่านั้น ไม่สามารถชี้วัดได้ว่า มีใครเกี่ยวข้องในการทุจริตรับสินบน จึงต้องรอข้อมูลจากSFOมาประกอบ ดังนั้น ถ้าเงียบๆ ไว้อาจได้ข้อมูลเร็วขึ้น

ขณะที่ทางการบินไทย ได้เปิดเผยโดยแหล่งข่าวว่า เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการบินไทยได้จัดส่งข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ทั้ง 3 สัญญาตามที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ ยอมรับว่ามีการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของการบินไทย รวมทั้งในแต่ละช่วงสัญญาอยู่ในรัฐบาลที่มีใครเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่กำกับดูแลการบินไทย ประธานคณะกรรมการการบินไทย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ซึ่งมีเอกสารจำนวนมากให้กับป.ป.ช. ไปแล้ว

จากการที่โรลส์-รอยซ์ยอมรับว่าให้สินบนในสัญญาแรกระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2534-30 มิ.ย. 2535 วงเงินประมาณ 18.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 663 ล้านบาท) อยู่ในช่วงรัฐบาลที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีพล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศขณะนั้น เป็นประธานคณะกรรมการการบินไทย มีพล.อ.อ.วีระ กิจจาทร เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย

ในสัญญาแรกคณะกรรมการบริหารการบินไทยมีมติให้จัดซื้อเครื่องบินขนาด 380 ที่นั่ง คือ B777-200 จำนวน 6 ลำ และจัดซื้อเพิ่มอีก 2 ลำ พร้อมจัดซื้อเครื่องยนต์จาก โรลซ์-รอยซ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ก.พ.2535รวมทั้งหมด8ลำ ดังนั้นจึงต้องใช้เครื่องยนต์จากโรลส์-รอยซ์ในสัญญานี้ถึง 16 เครื่องยนต์ เพราะเครื่องบินแต่ละลำจะมี 2เครื่องยนต์

ส่วนสัญญาที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2535-31 มี.ค.2540 โดยโรลส์-รอยซ์ จ่ายเงิน 10.38 ล้านดอลลาร์ (ราว 336 ล้านบาท) ให้นายหน้าคนกลาง ซึ่งนำเงินดังกล่าวบางส่วนไปให้พนักงานการบินไทย ในช่วงนั้นกระทรวงคมนาคมมีรัฐมนตรีที่กำกับดูแลอยู่หลายคนซึ่งมีทั้งพ.อ.วินัย สมพงษ์ นายวิชิต สุรพงษ์ชัย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

ขณะที่ประธานบอร์ดยุคนั้นมีทั้งพล.อ.อ.ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ และนายมหิดล จันทรางกูรส่วนกรรมการผู้จัดการใหญ่การบินไทยช่วงนั้นมีทั้งนายฉัตรชัย บุญญะอนันต์ และนายธรรมนูญ หวั่งหลี ในยุคนี้ได้จัดซื้อเครื่องบิน8ลำพร้อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์อีก 16 เครื่อง

สำหรับสัญญาที่ 3 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2547-28 ก.พ. 2548 โดยโรลส์-รอยซ์ จ่ายเงินให้กับคนกลาง 7.2 ล้านดอลลาร์(ราว 254 ล้านบาท)เงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทยในยุคนี้มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม มีนายทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทยและนายกนก อภิรดี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ยุคนี้มีการจัดซื้อเครื่องบินอีก8ลำพร้อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ อีีก 16 เครื่อง

สินบนที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องยนต์เท่านั้น แต่การบินไทยยังมีแผนการจัดซื้อเครื่องบินในแต่ละช่วงอยู่จำนวนไม่น้อย การจัดซื้อเครื่องบินมี “นายหน้า” เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ต่างจากการซื้อเครื่องยนต์ที่มีค่าคอมมิชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ในแต่ละยุคเกิดคอมมิชั่นกับการซื้ออยู่มหาศาล

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี2535-2541 แผนรัฐวิสาหกิจ7 ปีเป็นการลงทุนในช่วง7 ปี มีแผนการจัดซื้อเครื่องบินถึง 19 ลำ วงเงิน 69,556 ล้านบาท มีทั้งเครื่องบินแอร์บัสและโบอิ้ง พร้อมแผนจัดหาและจัดซื้ออะไหล่เครื่องบินรวม 10,230 ล้านบาท

จากนั้นปี2543ครม.ยังอนุมัติแผนจัดหาเครื่องบินให้กับการบินไทยตามแผนรัฐวิสาหกิจปี2543-2544 จำนวน 5 ลำ วงเงินประมาณ 31,544 ล้านบาท

 

ถัดมาในปี 2546 คณะกรรมการการบินไทยยังได้อนุมัติการจัดหาเครื่องบินทั้งเครื่องบินแอร์บัสและโบอิ้งรวม12 ลำ

 

ส่วนปี 2547 คณะรัฐมนตรียุคนั้นได้อนุมัติให้การบินไทยจัดหาเครื่องบินแอร์บัสA 340-500 และA 340-600 จำนวน 2ลำ ขณะที่ตามแผนรัฐวิสาหกิจปี2548-2550 อีกจำนวน14 ลำทั้งเครื่องบินแอร์บัสและโบอิ้ง วงเงิน 96,355 ล้านบาท

 

 ปี2550 มีการจัดซื้ออยู่8 ลำวงเงิน33,451 ล้านบาท ส่วนปี2551 คณะกรรมการการบินไทยมีการอนุมัติให้จัดหาเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ประมาณ 17,000 ล้านบาท

สำหรับปี 2553 ครม.ได้อนุมัติให้มีการจัดซื้อเครื่องบินถึง15ลำ เป็นเงินกว่า30,000 ล้านบาท

ขณะที่ปี2554 เป็นยุคที่มีการอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินมากที่สุด โดยคณะกรรมการการบินไทย ที่อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบินใน12 ปีตั้งแต่ปี2554-2565 จำนวน 75 ลำ วงเงิน 457,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะที่1โครงการจัดหาเครื่องบิน ปี 2554-2560 จำนวน 37 ลำ วงเงิน 216,000 ล้านบาท ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวแคบ (NARROW BODY) ขนาดประมาณ 150 ที่นั่ง 11 ลำ จะใช้บริการเส้นทางภูมิภาคระยะใกล้ และเครื่องบินลำตัวกว้าง(WIDE BODY) ขนาด 280-375 ที่นั่ง 26 ลำ จะมาใช้บริการเส้นทางภูมิภาคและเส้นทางระหว่างทวีป

-ระยะที่ 2 โครงการจัดหาเครื่องบินปี 2561-2565 จำนวน 38 ลำ วงเงิน 241,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องบินเส้นทางข้ามทวีป 14 ลำ และเครื่องบินเส้นทางภูมิภาค 24 ลำ เป็นการจัดหาแบบสั่งซื้อและรับมอบเครื่องบินตามข้อกำหนดในสัญญา(Firm Order) 21 ลำ และการจัดหาแบบเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ภายใน 2 ปี ก่อนการรับมอบ(Option Order) 17 ลำ โดยหวังว่าปี2560 จะมีฝูงบินถึง105 ลำ จากขณะนั้นที่มีอยู่ 85 ลำ

 

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >>> สินบนโรลล์-รอยซ์ อีกหนึ่งเรื่องอื้อฉาว ที่จะเป็นประวัติศาสตร์แห่งการคอรัปชั่น (รายละเอียด))

 

เรียบเรียงโดย : วัสดา สำนักข่าวทีนิวส์