เอาจริง!! รัฐบาลเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา จ.สงขลา โรงไฟฟ้าชีวมวล-ก๊าซชีวภาพ 3 จว.ชายแดนใต้

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้  (17 ก.พ.)   พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ อยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ และหากเกิดกรณีวิกฤติหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่หยุดกะทันหัน จะส่งผลให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ  ดังนั้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้และสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) จึงได้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2564

พล.อ.อนันตพร  กล่าวต่อว่า แต่เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนยังไม่เห็นด้วย ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามแผน จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีฯ เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ โดยมีข้อเสนอแนะให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการติดตามตรวจสอบการทำงานของโรงไฟฟ้า ขยายเขตกองทุนพัฒนาพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าเกินกว่ารัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการขนส่งถ่านหิน และให้ กฟผ. ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ รวมทั้งบริหารจัดการพื้นที่โครงการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

 

 

 

"ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ ให้ กฟผ. ไปดำเนินการให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ สร้างความเข้าใจและการยอมรับก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการไตรภาคีฯ และข้อสั่งการดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ที่ประชุม กพช. จึงเห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผน PDP 2015 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ต่อไป หลังล่าช้ากว่าแผนมา 2 ปี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเห็นชอบให้ดำเนินการตามข้อกฎหมายที่กำหนด โดยในส่วนของกระทรวงพลังงานให้เดินหน้าชี้แจงกลุ่มผู้คัดค้านในทุกประเด็น" พลเอกอนันตพร กล่าว

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)  กล่าวว่า การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)  ต้องเสร็จภายในปีนี้ และเริ่มก่อสร้างในปีหน้า ซึ่งการที่ล่าช้าไป 2 ปีจะทำให้โรงไฟฟ้ากระบี่สร้างเสร็จปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 และขณะนี้ได้มีการก่อสร้างสายส่งเพิ่ม เพื่อส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้รองรับ แต่เพื่อความมั่นคงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่อันดามัน รองรับด้านการท่องเที่ยวและอื่น ๆ โดยข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้โตขึ้นถึง 4.7% ส่วนภาคกลางโตเพียง 3.7% กทม.โตเพียง  2.4%

 

ส่วนกรณีกลุ่มอิตัลไทย ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตั้งแต่ปี 2558 จะยังเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างตามเดิม ไม่มีการจัดประมูลใหม่ เนื่องจากขั้นตอนการประมูลที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความโปร่งใส ส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินที่จะนำมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้า  จะมาจากเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียที่ กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 11-12% เมื่อปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) โดยรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ไม่เกิน 12 เมกะวัตต์ และจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า เสนอต่อ กบง. พิจารณา โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเป็นธรรม พร้อมให้ กฟผ. บริหารต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐฯ โดยให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด

 


วิทย์ณเมธา  สำนักข่าวทีนิวส์