เปิดโรดแมป! จับตาเส้นทางการออกเสียงประชามติ ร่างรธน.59 ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ที่รุนแรง!!

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 


หลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.เปิดเผยเนื้อหาทั้ง 270 มาตราออกมาเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้สะท้อนมุมมอง และแนวทางการแก้ไขออกมา

 

 

 

 

 


อย่างไรก็ตามช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อจากนี้ก็คือการทำประชามตินั่นเอง และเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อกระบวนการจากนี้ไป ทางสำนักข่าวทีนิวส์ก็จะได้สรุปมาทำความเข้าใจดังต่อไปนี้


ตามกำหนดการหลังการเผยแพร่ร่างแรกในวันที่ 29 มกราคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และพรรคการเมือง เพื่อนำข้อเสนอไปปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยเปิดรับไปจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธุ์นี้


คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ว่าขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณสองเดือน กรธ.จะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งให้ ครม.ประมาณวันที่ 30 มีนาคม 2559


จากนั้น ครม.ต้องส่งมาให้ กกต.ดำเนินการออกเสียงประชามติโดยเร็ว แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ระบุระยะเวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องส่งมาภายในเมื่อไหร่ ซึ่ง กกต.คาดว่า ครม.จะส่งมาให้ภายใน 1-2 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2559


หากเป็นไปตามที่ กกต.คาดการณ์ วันที่ 8 เมษายน 2559 จะเริ่มพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยน่าจะเริ่มจัดส่งตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2559 เป็นต้นไป ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่าต้องจัดส่งให้ครัวเรือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ ทั้งนี้ กกต.เชื่อว่าน่าจะส่งเสร็จภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 รวมระยะเวลาการพิมพ์และจัดส่ง 45 วัน และคาดว่าวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กกต.จะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ ซึ่ง กกต.กำหนดวันออกเสียงประชามติไว้เบื้องต้นคือวันที่ 31 กรกฎาคม 2559


เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นจึงมีการกำหนดวันออกเสียงประชามติในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ซึ่งจนถึงนาทีนี้ก็ไม่ชัดเจนว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องผู้มีสิทธิ์ กับผู้มาใช้สิทธิ์ ตามรธน.ปี2557หรือไม่ หรือด้วยวิธีการไหน


ก่อนจะถึงวันออกเสียงประชามติประเด็นที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งแรกคือ หลักเกณฑ์การผ่านร่างรัฐธรรมนูญโดยการทำประชามติ ประเด็นนี้มีข้อสังเกต ว่าอาจทำให้ในทางปฏิบัติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ดังนั้นจึงมีการเสนอแก้ไขกติกาในส่วนนี้ให้ชัดเจนขึ้น


มาตรา 37/1 วรรค 7 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้การออกเสียงประชามติ "...ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ..."


นั่นหมายความว่าหากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติต้องได้รับความเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงประชามติทั้งหมด


ปัจจุบันจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 49 ล้านคน ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติได้ต้องได้เสียงเห็นชอบประมาณ 24.5 ล้านคน


ยกตัวอย่างการเลือกตั้งปี 2554 ที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 75% คิดเป็น 35 ล้านคนของจำนวนผู้มีสิทธิ ซึ่งเสียงข้างมากของ 35 ล้านคนคือ 17.5 ล้านคน ขณะที่เสียงข้างมากของผู้สิทธิเลือกตั้งคือ 24.5 ล้าน หากใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิลงคะแนนจึงยากมากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ


ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มว่า คสช.น่าจะใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไข รัฐธรรมนูญชั่วคราวเปลี่ยนเป็นคำว่า "ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก" แทน เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถผ่านประชามติไปได้


อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดเป็นนัยยะว่า “หากไม่ผ่านประชามติ ก็จะให้มีการเลือกตั้งให้ได้ตามโรดแมป กรกฎาคม ปี 2560”... ทำให้อนาคตต่อจากนี้จะมีการแก้ไขรธน.เรื่องการทำประชามติหรือไม่ อย่างไร ทุกช่องทางล้วนเปิดกว้าง


ล่าสุดที่ห้องรอยัลจูบิลี่ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตอนหนึ่งว่า


"วันนี้ยังกลับมาแต่เรื่องประชาธิปไตย ก็เลือกไปอยากเลือกตั้งก็เลือกไป ถ้าเลือกแล้วมันไม่ดีก็อย่ามาเลือกผม หรือจะโทษกันอีก หรือมันดีอยู่แล้วก็เชิญ ผมไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรกับพวกท่านเพราะฉะนั้นอย่ามาถามผมอีก ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะพูดคำนี้ ไม่เช่นนั้นก็ถามกันทั้งวัน เมื่อไหร่จะอย่างไร เวลาเท่าไหร่ ปัดโถ่ จะเป็นจะตายกันเท่าไหร่แล้วประชาชน เกษตรกรเขาเดือดร้อนหรือไม่ น้ำไม่มี ปลูกพืชไม่ได้ น้ำจะกินก็น้อยลง เข้าใจกันบ้างหรือไม่ ไม่สนใจหรือ ไอ้ที่จะทำกันอยู่มันแก้ไขปัญหาทั้งหมดจริงหรือ อย่างจะทำก็ทำไปแต่เราต้องหาความร่วมมือกันให้ได้เสียก่อน ให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น"


เห็นได้ชัดเจนว่านอกจากเรื่องเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีการตอบโต้และวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงแล้ว ก็เห็นจะเป็นเรื่องของกระบวนการต่อจากนี้ โดยเฉพาะการทำประชามติว่าแก้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ก่อนหรือไม่อย่างไร


รวมไปถึงการคลอดกติการณรงค์หรืออกเสียงประชามติโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งอีกด้วย ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบชี้วัดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่