ตรวจสอบความคืบหน้ารับซื้อยางพาราสุดอืด!! สะท้อนปัญหาจากต้นขั้ว กยท.

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 


ถ้านับจากวันเริ่มต้นนโยบายรับซื้อยางพารา 1  แสนตัน เมื่อวันทึ่ 25  ม.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน    ต้องนับว่าทิศทางการดำเนินการยังไม่เป็นไปตามการคาดการณ์เท่าที่ควร ถ้าพิจารณาจากยอดรับซื้อยางและกระแสความเห็นของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา ที่เห็นว่าการทำงานของกระทรวงเกษตรฯและการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

 

 

 

 


ทั้งนี้จุดหนึ่งที่ทำให้นโยบายการรับซื้อยางซึ่งมีเป้าหมายกระตุ้นราคายางในประเทศให้สูงขึ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์  หนีไม่พ้นเรื่องของราคายางซึ่งมีทิศทางปรับตัวลงเมื่อเปรียบเทียบในระยะแรกที่มีกระแสข่าวว่าภาครัฐจะนำนโยบายนี้มาใช้  


โดยราคายาง ณ ตลาดกลาง อ.หาดใหญ่ประจำวันนี้ ( 5 ก.พ.)  พบว่า  ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 36.00  บาทต่อกิโลกรัม    ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่  37.77 บาท ต่อกิโลกรัม  และ ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 39.47 บาทต่อกิโลกรัม


และถ้าเทียบเคียงกับราคาเมื่อวันที่  25 ม.ค.   ซึ่งภาครัฐเริ่มต้นนโยบายรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางพารา   กับราคาปัจจุบันจะพบว่าความต่างที่เกิดขึ้นดังนี้  
1.ราคาน้ำยางสด   มีระดับลดลงไปแล้ว  3 บาท ( จากราคา 39.00 บาทต่อกก.)
2.ราคายางแผ่นดิบ  ลดลงไปแล้ว   2.65  บาท (จากราคา 40.42บาท/กก.)
3.ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ลดลงไปแล้ว  2.95 บาท (จากราคา 42.42บาท/กก.)


ขณะที่ตัวเลขการรับซื้อยางของกยท. ณ วันที่ 3 ก.พ. พบว่ามีปริมาณการรับซื้อยางแล้วจำนวนเพียง   697.64 ตัน    จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ  7,171 ราย แยกเป็นยางแผ่นดิบ 264 .03 ตัน  ,    น้ำยางสด  144.76 ตัน  ,    ยางก้อนถ้วย 288.86 ตัน และคิดเป็นเงินที่ภาครัฐต้องจ่ายให้เกษตรกรสวนยางจำนวน  29.80 ล้านบาท


ส่วนจุดปัญหาอุปสรรคที่ทำให้นโยบายการรับซื้อยางของภาครัฐไม่เป็นไปตามคาดการณ์  มีข้อสรุปเป็นเบื้องต้นจากกยท.ว่าปัญหาใหญ่มาจากเรื่องจุดรับซื้อ โดยเฉพาสถาบันเกษตรกรซึ่งถูกกำหนดให้เป็นจุดรับซื้อ/แปรรูปยาง   จากน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควัน   ให้ความร่วมมือน้อยเนื่องจากมองว่าค่าใช้จ่ายไม่คุ้มค่า   สำหรับค่าดำเนินการ  กำหนดไว้ที่ร้อยละ 1 ของมูลค่ายาง


อาทิ  1.ถ้าจัดการน้ำยางสดในปริมาณ 3 ตันเศษ   จึงจะได้เนื้อยางแห้ง 1 ตัน แต่ได้รับค่าดำเนินการเพียง 420 บาท

 
2.  ค่าจ้างแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควันกำหนดไว้ที่ 4.60 บาท/กก. ในขณะที่ต้นทุนจริงอยู่ที่ประมาณ 5.30 บาท/กก


ขณะเดียวกันถ้าย้อนกลับไปดูมุมมองของแกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา   พบว่ามีข้อห่วงใยในเรื่องแนวทางการรับซื้อยางของภาครัฐมาตั้งแต่ต้น แม้ว่าจะเข้าใจเป้าหมายของพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการลงสั่งการช่วยเหลือชาวสวนยางพารา


อย่างกรณีของ  นายทศพล ขวัญรอด  ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย    ที่ยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ปรับเปลี่ยนวิธีการรับซื้อยางพารา  เนื่องจากราคารับซื้อที่กำหนดเป็นข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ  ในสัดส่วนกิโลกรัมละ 45 บาท  ไม่จูงใจเกษตรกรผู้ปลูกสวนยางพารา   อีกทั้งจุดรับซื้อมีน้อยไม่ครอบคลุม  รวมทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องระเบียบการจ่ายเงิน  และโควตารับซื้อในสัดส่วน    150 กิโลกรัมต่อราย


โดยตามระเบียบการรับซื้อยางพาราที่กำหนดจากกยท. ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งประกอบด้วย


1.ผลผลิตนำขายรายละไม่เกิน  15 ไร่  โดยจำนวนเศษของไร่ให้ปัดขึ้นเป็น  1 ไร่

2.ปริมาณผลผลิตต่อไร่ไม่เกิน    10 กิโลกรัม   รวมรายละไม่เกิน  150  กิโลกรัม

       
ขณะที่สถานที่รับซื้อยาง   ประกอบด้วย     สหกรณ์การเกษตร  ,  สหกรณ์กองทุนสวนยาง , กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง  และวิสาหกิจชุมชน 

    
ส่วนหลักเกณฑ์เกษตรกรที่จะเข้าโครงการรับซื้อยางพาราของภาครัฐที่ผ่านมา    คือ
          
1.ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.  ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย 2558
        
2.ต้องมีบัญชีธนาคารกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เนื่องจากเมื่อเกษตรกรนำน้ำยางสด ,   ยางก้อนถ้วย  และยางแผ่นดิบมาขาย  เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกข้อมูลลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และออกเป็นเอกสารให้แก่เกษตรกร หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ภายใน 2 วัน


นอกเหนือระเบียบขั้นตอนและกระบวนการรับซื้อยางที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนพาราเห็นว่าไม่ตอบโจทย์นโยบายการช่วยเหลือราคายางที่ตกต่ำแล้ว บางส่วนยังเห็นว่าแนวทางการทำงานของผู้บริหารกยท.ยังมีส่วนสำคัญ  ทำให้นโยบายกระตุ้นราคายางพาราในประเทศไม่เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย


โดย นายวิสุทธิ์   นิติยารมย์   อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเกษตรกรภาคใต้  ได้ตั้งข้อสังเกตถึงกลไกของราคาที่ไม่ขยับขึ้นตามนโยบายการรับซื้อ  ทั้งๆที่ปริมาณยางน้อยเพราะติดฤดูปิดกรีดยางแล้วว่า  

สาเหตุหนึ่งมาจากการเซ็นสัญญาระหว่างกยท.กับชิโนแคม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนในช่วงเดือนธันวาคม จำนวน 2 แสนตัน ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าเมื่อทางจีนมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งกระบวนการสั่งซื้อยางพาราจากไทยในตลาดปกติ ผลก็คือราคายางในประเทศมีความเคลื่อนไหวในระดับต่ำ  เพราะถูกกดด้วยปริมาณยาง 2 แสนตันที่กยท.เสนอขายให้กับทางชิโนแคมก่อนหน้า 


ทางด้าน นายเพิก  เลิศวังพง  ประธานที่ปรึกษา ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เคยตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ไว้เช่นกัน โดยระบุว่า  แก้ปัญหาราคายางของเกษตรกรทำได้ล่าช้า เพราะผู้บริหาร กยท.ไปทำสัญญาซื้อขายยางร่วมกับจีน  ซึ่งพบพบพิรุธมากมายว่าอาจเป็นสัญญาเอื้อนายทุน  เพราะในสัญญาระบุว่าต้องเป็นยางใหม่ อายุไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้นที่จะขายให้จีน  แทนการนำยางในสต็อกจำนวนกว่า  4 แสนตันไปขาย  และในสัญญายังระบุอีกว่าจะต้องเป็นการซื้อขายผ่านบริษัท 5 เสื้อซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่มีอิทธิพลในวงการยางพาราไทยเท่านั้น


สำหรับการโครงการซื้อ-ขายยางกับ ชิโนเคม จำนวน 2 แสนตัน ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก  เกี่ยวเงื่อนไขในสัญญาที่ไม่ชัดเจน   โดยเฉพาะการที่กยท.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่เข้ามารับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร  แล้วจ้างบริษัทที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายสัญญา ทำการแปรรูป   รวมทั้งประทับตราเครื่องหมายรับรองคุณภาพมาตรฐาน   ซึ่งเครื่องหมายรับรองดังกล่าว   จำเป็นที่กยท.ต้อง   พึ่งพาบริษัท 5 ส่งออกคือบริษัท ศรีตรัง   ,  บริษัท เกิดวงศ์บัณฑิต  ,  บริษัท เซาท์แลนด์ บริษัทไทยฮั้ว และบริษัท  บีไรท์     เนื่องจากมีมาตรฐานในการ แปรรูปยางตรงกับความต้องการของผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในสัญญา


และด้วยสถานการณ์ราคายางที่ยังทรงตัว จึงทำให้แนวนโยบายการรับซื้อยางของกยท.จำนวน 1 แสนตัน  ถูกจับตาว่าอาจเป็นเพียงวิธีการของผู้บริหารกยท.บางคนที่ต้องการเร่งแก้ปัญหาส่วนตัว  จากการไปเซ็นสัญญากับบริษัทชิโนเคมเท่านั้น   ผลท้ายสุดก็คือการทำให้เครือข่ายเกษตรกรจำนวนมากไม่ให้ความร่วมมือหรือสนใจโครงการรับซื้อยางในขณะนี้