ทำไมต้องมี "รธน." ม.139...ย้อนรอยทุจริตผ่านการแปรฯงบ ?

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 

 

ถูกขนานนามเอาไว้อย่างชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ณ ขณะนี้ เป็นฉบับ ปราบโกง และให้น้ำหนักไปที่การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างมีคุณค่า และป้องกันการทุจริต

 

 

 


โดยสามารถอธิบายผ่านภาพกราฟฟิคและหลักการในเรื่องนี้เอาไว้ดังนี้
การใช้จ่ายเงินแผ่นดินทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และ ไม่ให้ทุจริต
- ให้มีกฎหมายการเงินการคลังเพื่อเป็นกรอบในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน
- วางกลไกป้องกันไม่ให้รัฐบาลกู้เงินมาใช้โดยไม่มีการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ
- กำหนดบทลงโทษ สำหรับ ส.ส. ส.ว. ครม. ที่มีส่วนทั้งทางตรง หรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณหรือจัดทำโครงการใดๆ
บทลงโทษ สำหรับ ส.ส. ส.ว. กล่าวคือ
- สิ้นสมาชิกภาพ ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย
บทลงโทษ สำหรับ คระรัฐมนตรี .กล่าวคือ
- พ้นทั้งคณะ ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย
บทลงโทษ สำหรับ เจ้าหน้าที่รัฐ อนุมัติและดำเนินการโดยไม่ได้โต้แย้ง กล่าวคือ
- ชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ มาตรา 139 เรื่องการพิจารณางบประมาณแผ่นดินโดยรัฐสภา ซึ่งกำหนดหลักการและโทษเอาไว้อย่างเฉียบขาด เพื่อไม่ให้ส.ส.แปรงบประมาณไปใช้ประโยชน์ และถ้าหากว่าฝ่าฝืนมีโทษให้พ้นจากสมาชิกภาพและตัดสิทธิ์ทางการเมือง
เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี หากรู้เห็นเป็นใจก็จะได้รับโทษสถานหนักเช่นเดียวกัน
ร่างรัฐธรรมนูญส่วนที่ 4 บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง

 


มาตรา 139 ระบุว่า

ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้

(2) ดอกเบี้ยเงินกู้

(3) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย

 


ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือของคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้

 


ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง

 


ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

 


แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย

 


เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าอนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณที่มีลักษณะดังกล่าวโดยมิได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ ต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยร่วมกับผู้กระทำการตามวรรคสองด้วย ทั้งนี้ ตามจำนวนเงินงบประมาณที่ได้จ่ายไป

 


การเรียกเงินคืนตามวรรคสามหรือวรรคสี่ ให้กระทำได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณนั้น

 


เพื่อให้คุณผู้ชมเห็นภาพการแปรญัติติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ โดยสภาผู้แทนราษฎร จนเลยเถิดไปถึงการทุจริต และส่อว่าคนกลุ่มนี้ทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่ส.ส. รัฐมนตรี บริษัทเอกชนดังตัวอย่างต่อไปนี้

 


โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ (การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย)


งบประมาณ : งบแปรญัตติ  699 ลบ. แบ่งเป็น

ปี 25556  วงเงิน 361 ลบ.

ปี 2556    วงเงิน 338 ลบ.

ส่วนราชการ : กรมพลศึกษา  กระทรวงการท่องเที่ยวฯ

วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาแหล่ง-ท่องเที่ยวของชุมชน

 


ข้อสังเกต คือ

1.ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

2.ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่คุ้มค่า

3.ราคาแพงเกินจริง ไม่ปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยราคากลางและการคำนวณการจัดซื้อจัดจ้างของ ปปช.

4.การกำหนดคุณลักษณะครุภัณฑ์เข้าข่ายกีดกันผู้ผลิตและผู้ขายรายอื่น

5.การจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด

 


และทั้งนี้หากจะพูดถึงข้อพิรุธว่ามีส.ส.เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับงบประมาณในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ก็ต้องลองพิจารณาข้อมูลดังนี้
จากการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายและเครื่องเล่นนันทนาการของกรมพลศึกษาและกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดตรวจสอบพบกรมการท่องเที่ยวมีการลงนามสัญญาซื้อขายเลขที่ 90/2556 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 56 กับบริษัท อินโนเวิลด์เอ็ดดูเคชั่น จำกัด พบว่าราคาสินค้าบางรายการ  จากข้อมูลเอกสารใบสรุปสินค้าคงเหลือของบริษัทฯ มีราคาต้นทุนถูกกว่าราคาที่ขายให้กรมการท่องเที่ยวถึง 10 เท่า

 


ซึ่งบริษัท อินโนเวิลด์เอ็ดดูเคชั่น จำกัดมีนางวัชราภรณ์ ประชามอญซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับนายบัวสอน ประชามอญ อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ บริษัท อินโนเวิลด์ฯ จดทะเบียนวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ทุน 1 ล้านบาทที่ตั้งเลขที่ 164/887 หมู่ที่ 1 ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่ง น.ส.วัชราภรณ์ ดลประสิทธิ์  ถือหุ้นใหญ่ 8,000 หุ้น ซึ่งรับโอนมาจาก น.ส.ทนารัตน์ ล้านเที่ยง


10 ม.ค.50 น.ส.วัชราภรณ์ ได้โอนหุ้นให้ น.ส.พูนทรัพย์ บุญจริง อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 14 ต.น้ำรอบ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี


8 มี.ค.50 น.ส.พูนทรัพย์ โอนหุ้นกลับมาให้ น.ส.วัชราภรณ์ ดลประสิทธิ์ อีกครั้ง


24 ก.พ.51 น.ส.วัชราภรณ์โอนหุ้นไปให้ น.ส.ทนารัตน์ ล้านเที่ยง


10 พ.ค.51 น.ส.ทนารัตน์ จากถือหุ้น 8,000 หุ้น ได้โอนไปให้ นางเสงี่ยม อินทร์ต๊ะ อยู่บ้านเลขที่ 256/241 หมู่ที่ 15 ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย 4,000 หุ้น น.ส.ทนารัตน์ลดการถือครอง 4,000 หุ้น


16 ก.ย.51 น.ส.ทนารัตน์ ได้ถอนหุ้นออก นางอรอนงค์ อาจปรุ อยู่บ้านเลขที่ 121/198 หมู่ที่ 5 แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ เข้ามาถือ 6,502 หุ้น


26 ม.ค.52 นางวัชราภรณ์ (เปลี่ยนนามสกุลเป็น “ประชามอญ”) แจ้งที่อยู่เลขที่ 77/82 ซอยพหลโยธิน 54/1 แยก 4-45 (ม.ชลลดา)แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ เข้ามาถือหุ้นอีกครั้ง


22 ก.ย.53 เพิ่มทุนเป็น 4 ล้านบาท (40,000 หุ้น) นายสิทธิรัตน์ ดลประสิทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 138/28 หมู่ที่ 2 แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพฯ เข้ามาถือ 20,000 หุ้น


3 มิ.ย.55 นางวัชราภรณ์ ประชามอญ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 23,004 หุ้น และถือหุ้นใหญ่และเป็นกรรมการมาจนถึงปัจจุบัน


ซึ่งน่าสังเกตว่า ในช่วงที่นายบัวสอนเป็นส.ส. ในปี2551 ไม่ปรากฏว่า น.ส.วัชราภรณ์ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัทฯ และปรากฎชื่อถือหุ้นอีกครั้งในช่วงปี 2552 เป็นต้นมา

 


และจากข้อมูลที่สำนักข่าวทีนิวส์ได้ไล่เรียงออกมานี้ ก็พอที่จะสะท้อนภาพข้อเท็จจริงของการแปรงบในอดีตจากส.ส.ลงไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งพบข้อพิรุธว่าจะเป็นไปในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการทุจริตเป็นอย่างยิ่ง...