โพลชี้ชัด! ปชช.ไม่คล้อยตามนักการเมืองวิจารณ์ รธน. - รัฐแนะศึกษาเอง ป้องกันถูกปลุกปั่น!!

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 


เริ่มต้นรายการในวันนี้กับประเด็นเรื่องของร่างแรกรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งออกมาตั้งแต่วันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา โดยก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อสังคมมากมาย หลากหลายอารมณ์ โดยเฉพาะจากฝั่งนักการเมือง นักวิชาการ พร้อมนำไปผูกโยงกับผลการทำประชามติของประชาชนในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ว่าจะผ่านความเห็นชอบด้วยหรือไม่

 

 

 

 

 


นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กล่าวว่า  เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลใช้ทุกกลไก ทั้งสื่อของรัฐ หน่วยราชการทั้งพลเรือนและฝ่ายความมั่นคง กระทั่งนักศึกษารักษาดินแดน (นรด.) ที่ต้องไปยืนโฆษณาหน้าหน่วยในวันลงคะแนน เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่กลับปิดกั้นฝ่ายที่เห็นต่างเข้มข้นตลอดเวลา จึงขัดกับหลักการพื้นฐานการทำประชามติ ที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตัดสินใจโดยอิสระ ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อ้างอำนาจที่จะสงวนแนวทางหากประชามติไม่ผ่านโดยไม่ให้ความชัดเจนกับประชาชน ยิ่งทำให้การลงประชามตินี้ไม่น่าไว้วางใจ


นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บรรจุทุกเรื่องที่ คสช.ต้องการไว้ครบถ้วน เช่น การนิรโทษกรรมสิ่งที่ คสช.และกระบวนการทำ คสช.ทำ การเปิดช่องนายกฯ คนนอก ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญประหารรัฐบาลเลือกตั้ง ส.ว.สรรหาแบบคุมเกมได้ และเครือข่ายองค์กรอิสระอื่นที่เชื่อมโยงกันเป็นด่านมรณะของตัวแทนประชาชน จึงชี้ชัดได้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือเครือข่ายอำนาจของ คสช.


ส่วนที่เสียหายมากที่สุดคือระบอบประชาธิปไตยที่จะอยู่ในสภาพเจ้าชายนิทรา ซึ่งจะซ้ำเติมชะตากรรมของประชาชนให้บอบช้ำยิ่งขึ้น เพราะรากแก้วของปัญหาที่ผ่านมาคือความไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น การทำประชามติครั้งนี้จึงถือเป็นการลงคะแนนเสียงของประชาชนที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศไทย รัฐบาลบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก แต่ยืนยันว่า ถ้าจะให้รัฐประหารหมดไป ต้องคว่ำรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อประกาศต่อสังคมโลกและเครือข่ายอนุรักษนิยมในประเทศไทยว่า ประชาธิปไตยแท้จริงเท่านั้นคือการแก้ปัญหาของประเทศ


ด้าน นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เสียงคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. มาจากทุกภาคส่วนในสังคมแม้แต่พวกเดียวกันเอง ซึ่งถ้าเป็นตนคงต้องฟังและกลับไปทบทวนว่า การร่างมีปัญหาที่ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยกรธ.ควรบอกความจริงกับประชาชนว่า เนื้อหาหลายประเด็นเป็นแนวคิดที่คิดไวๆ แบบไทยประดิษฐ์ไม่เป็นสากล อาทิเช่น การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 3 คน การกาบัตรใบเดียว การให้อำนาจองค์กรอิสระมากำกับรัฐบาลด้านนโยบาย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้เสียงจากทุกพรรคขัดหลักประชาธิปไตย การแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุล เชื่อว่าถ้าปล่อยผ่านไปจะทำให้ประเทศอ่อนแอ จะมีรัฐบาลเป็ดง่อยที่ถูกควบคุมโดยองค์กรต่างๆ ในอนาคตเราจะตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระอย่างไร รัฐธรรมนูญที่ดีอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องทำให้พรรคการเมืองเคารพเสียงประชาชนและผลการเลือกตั้ง ถ้ามีรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่เริ่มต้น จะทำลายความหวังคนไทยแน่นอน กรธ.ต้องแยกให้ออกว่า อะไรคือบั้งไฟ อะไรคือจรวด


ด้าน นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. กล่าวว่ามีคำถามในใจว่า ร่าง รธน.ฉบับนี้จะพาประเทศไปถึงไหน ตามหลักการกฎหมายต่างๆต้องสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และเป็นไปตามหลักสากลที่ส่วนใหญ่เขาใช้กัน คนไทยส่วนหนึ่งเชื่อและหวังว่าการเข้ามาของ คสช.จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง และปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้เกิดสันติสุขและมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ตามที่ได้ให้เหตุผลไว้ แต่เมื่อได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คนไทยคงผิดหวังอย่างสิ้นเชิง เชื่อว่าร่างฯฉบับนี้จะถูกต่อต้านจากทุกกลุ่ม แม้กระทั่งกลุ่มคนที่เคยสนับสนุน คสช.อีกทั้งยังมีโครงสร้างที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และไม่เป็นไปตามสากล ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะอ่อนแอ ภาพรวม ร่างฉบับนี้ ไม่ได้ปฏิรูปให้ประเทศไทยดีขึ้น ไม่ทำให้มีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ตามที่ คสช.สัญญาไว้ แม้ กรธ.อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญป้องกันนักการเมืองทุจริตและมีบทลงโทษที่เฉียบขาด จุดนี้ไม่ขอแย้ง แต่การป้องกันการทุจริต ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญ ป้องกันได้ทั้งหมด สังคมต้องช่วยกันตรวจสอบ สอดส่อง รวมถึงสร้างมาตรฐานให้สังคม แต่การพัฒนาและการตรวจสอบถ่วงดุลต้องมีความพอดีกัน ถ้าปล่อยให้มีการพัฒนาโดยไม่มีการตรวจสอบจะเปิดช่องให้มีการทุจริตง่ายขึ้น ในทางตรงข้าม ถ้าเน้นการตรวจสอบมากเกินไป ก็จะบริหารนโยบายและโครงการต่างๆได้ยากและล่าช้าทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนได้ช้ากว่าคนอื่น


นอกจากนี้ นายก่อแก้ว ยังมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้นำประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ทัดเทียมอารยะประเทศ แต่กำลังทำให้ประเทศตกต่ำลง เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างใหญ่หลวง เพราะไม่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากลและยังลิดรอนอำนาจของประชาชนไปสู่มือของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจมากมายที่ไม่ได้มาจากประชาชน อีกทั้ง ตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ด้วย


ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญล้นฟ้าล้นแผ่นดิน ต่อไปนี้ใครก็ได้สามารถเสนอประเด็นที่เขาเห็นว่าไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าเป็นประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีบรรทัดฐาน ไม่มีมาตรฐานไม่มีข้อกำหนด ไม่มีหลักการที่ใดๆ ที่วางไว้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตัดสินตามอำเภอใจได้ รวมทั้งเป็นการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการเขียนรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง และมีอำนาจเหนือที่สุดคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร หมายความศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายบริหาร และศาลรัฐธรรมนูญ และอาจจะมีอำนาจเหนือศาลฎีกาด้วยซ้ำไป


ขณะที่ทางด้านความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์อย่าง นายราเมศร รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเพราะมีการตัดเนื้อหาสาระสำคัญที่เคยบัญญัติไว้ในปี 2550 จึงควรนำส่วนที่บัญญัติไว้เดิมมาบรรจุในร่างเบื้องต้นนี้ด้วย เพราะปี 2550 สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าว แสดงความเห็นโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของราชการหรือเจ้าของกิจการสิ่งพิมพ์ ทำให้มีเสรีภาพในการเสนอข่าว และยังระบุด้วยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะแทรกแซงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมิได้ รวมถึงการให้ความสำคัญกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ควรมีเป็นการเฉพาะ จึงอยากให้มีการเพิ่มเติม


สำหรับประเด็นการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มีสิ่งที่ขาดหายไป คือการตรวจสอบและถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร โดยตัดกระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยการตั้งกระทู้ ซึ่งที่ผ่านมามาตรการดังกล่าวมีผลประโยชน์ต่อประเทศ เช่น โครงการรับจำนำข้าว สินค้าเกษตรตกต่ำ ดังนั้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญตัดส่วนนี้ออกไปก็ควรนำกลับมาบรรจุไว้ในหมวดควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวแทนประชาชนได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ


นายราเมศร กล่าวต่ออีกว่า ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ไม่ใช่ประโยชน์นักการเมือง แต่ให้นักการเมืองเป็นปากเป็นเสียงของประชาชนในเรื่องกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งกระทู้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหาร และอยากให้กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญว่าเมื่อสมาชิกตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการท่านใด ต้องมาตอบจะไม่มาตอบมิได้ หากอ้างเรื่องความลับ ความมั่นคง ประโยชน์ชาติก็ควรระบุให้มีการประชุมลับ ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องตอบทุกเรื่องที่สมาชิกรัฐสภาซักถาม


ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงท่าทีของ กรธ. ที่ยืนยันว่าพร้อมจะนำความเห็นของฝ่ายต่างๆ ไปปรับแก้ในประเด็นการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน ไม่น้อยไปกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 และจะเร่งรัดการร่างกฎหมายลูกให้เสร็จตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในโรดแมป ว่า ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ว่า กรธ. ยังพร้อมรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ อยู่ และไม่ได้มีลักษณะปิดกั้นไปเสียทั้งหมด แต่ท่าทีด้านลบของ กรธ. ต่อฝ่ายการเมืองที่มีออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้งนั้น ตนขอให้ข้อคิดว่าควรจะได้มีการแยกแยะไตร่ตรองว่าความเห็นใดเป็นความเห็นในทางอคติ ความเห็นใดเป็นความเห็นในทางสร้างสรรค์ของฝ่ายปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนความปรารถนาดีโดยประสงค์ให้รัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ซึ่งหาก กรธ. สามารถแยกแยะและพร้อมรับฟังในส่วนที่เป็นความเห็นในทางสร้างสรรค์ก็จะช่วยให้รัฐธรรมนูญเข้ารูปเข้ารอยและเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น


ทั้งนี้ ประเด็นที่คิดว่าควรจะได้มีการปรับปรุงและเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในฐานะฝ่ายปฏิบัติ คือ การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ หากสามารถออกแบบให้เป็นระบบที่สามารถถ่วงดุลกันได้อย่างมีดุลยภาพแล้ว ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างยิ่ง


ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่าตนขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและคระรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรมีการเปิดกว้างในเรื่องการวิจารณ์รัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะในสถานศึกษา เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงรับฟังความคิดเห็นประชาชน ในส่วนต่างๆ เพราะฉะนั้นการเปิดกว้างจึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะลงประมติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดเด่นและจุดด้อยที่มีความแตกต่างโดยเฉพาะในเรื่องการปราบปรามการทุจริตทุจริตคอรัปชัน ที่ได้บรรจุไว้อยู่ในแต่ละมาตรา และการกลั่นกรองบุคคลที่จะคัดสรรคนเข้ามาทำงานในรัฐสภาและนิติบัญญัติมากขึ้น รวมไปถึงการพิจารณางบประมาณและงานเงินการคลัง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีจุดเด่นในเนื้อหาสาระเกี่ยวกับองค์กรอิสระให้มีอำนาจหน้าที่ในการมาป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และในเรื่องขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้รวมถึงการเลือกตั้งต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามแนวทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งจุดเด่นในข้อนี้ยังไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ


ขณะเดียวกัน เมื่อได้อ่านหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแล้วนั้น ตนเห็นว่ามีเรื่องที่น่าสนใจและยังไม่มีการพูดถึงในเรื่องนี้ นั่นก็คือไม่ควรให้อำนาจประธานรัฐสภามามีอำนาจส่งเรื่องฟ้อง ป.ป.ช. เพียงคนเดียว เพราะอาจมีการวิ่งเต้นได้ง่าย ซึ่งถ้าหากปรับแก้ในส่วนนี้ก็น่าจะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจะมีแบบรายวันจึงทำให้ภาครัฐต้องออกมาระบุว่า เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ออกมาปลุกปั่น ประชาชนควรมีการศึกษารายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง


พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กล่าวตอบโต้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)กล่าวถึงที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน(นรด.)จะสนับสนุนให้นักศึกษาวิชาทหาร(นศท.)เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์เพื่อให้ประชาชนทำความเข้าใจและออกมาใช้สิทธิ์ว่าอาจทำไม่ได้เพราะเป็นการชี้นำนั้นว่า ไม่อยากให้มองติดภาพของการเมืองอย่างเดียวเพราะเรื่องการออกมาใช้สิทธิ เป็นธรรมเนียมหลักของประชาธิปไตย ส่วนจะเลือกอะไร ก็คงเป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลอยู่แล้วดังนั้น การร่วมรณรงค์จึงน่าเป็นเรื่องปกติตามครรลองของประชาธิปไตย ที่คนในสังคมทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ไม่ใด้เป็นการชี้นำให้เลือกแต่อย่างใด


โฆษก คสช.กล่าวอีกว่า รัฐบาลและคสช.ไม่ได้เร่งให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ หรือบังคับให้ใครประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างที่บางคนเข้าใจ สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ หลายๆ คนมองว่า เป็นเหมือนเรื่องกฎหมายกึ่งวิชาการ ถ้าไม่ตั้งใจ หรือมีสมาธิพอ อาจทำให้รับรู้ได้ไม่เต็มที่ หรืออาจเข้าใจได้ไม่ครบถ้วน ขนาดว่าบางคนได้ศึกษาบ้างแล้ว แต่เห็นยังมีเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ก็มี ทางผู้เกี่ยวข้องจึงอยากเน้นให้ทุกคนได้มีโอกาสศึกษาก่อน


"เพราะที่ผ่านมาเริ่ม พบว่ามีบางคนบางกลุ่มมีความพยายามบิดเบือนในเนื้อหา หาจุดอ่อนมาติแบบหลวม ๆ หวังสร้างปั่นกระแสในทางการเมือง เท่าที่ติดตามข้อมูลมา มีกลุ่มผู้เสนอความเห็นบางกลุ่มที่เจตนาไม่ชัด เหมือนตั้งธง จะคว่ำลูกเดียว กับบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเจตนา อยากปรับแก้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจริงๆ"


พ.อ.วินธัย ยังกล่าวว่า ที่มีการใช้คำว่าเป็น ประชามติลวงโลก อาจเป็นหนึ่งใน
วาทะกรรมของกลุ่มที่มี ตั้งธงไว้ในใจอยู่แล้ว เชื่อสังคมคงรู้เท่าทัน การเสนอความเห็น เพื่อก่อให้เกิดพัฒนาการ สามารถทำได้มีหลายความเห็นได้เจาะเป็นประเด็นๆไป ไม่ใช่เหมารวมมาลอยๆโดยไม่มีรายละเอียด และคำอธิบายที่เป็นสากลเพียงพอ ขณะนี้เชื่อว่า มีหลายคนอาจยังไม่ได้ศึกษา


จึงอยากเชิญชวนให้ศึกษาโดยละเอียดจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือปลุกปั่นให้ใคร และขอยืนยันว่า คสช.ไม่ได้มองความเห็นต่างเป็นภัยคุกคามแต่เป็นเรื่องของเจตนาในการแสดงออก เพราะต้องไม่ทำให้สังคมสับสน เหมือนพยายามเอาเรื่องของ รัฐธรรมนูญมาผสมเคลื่อนไหวเพื่อมุมทางการเมืองด้วย


ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขอให้แสดงความเห็นไปที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เพราะส่วนตัวไม่ได้มีหน้าที่ปกป้อง หรือสู้กับคนที่ออกมาวิจารณ์ และไม่ต้องการแสดงความเห็นในเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาแม้การแสดงความเห็นนั้นจะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่เมื่อสื่อออกไปก็จะเหมือนความเห็นของรัฐบาล จึงไม่อยากพูดอะไรมาก อย่างไรก็ตามหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีบางกระทรวงส่งความเห็นมาแล้วเบื้องต้น ซึ่งความเห็นต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามาเป็นการตั้งข้อสังเกตหรือสงสัยในเนื้อหา โดยทุกกระทรวงจะส่งความเห็น ข้อเสนอแนะมาให้ภายในวันที่ 9 ก.พ.นี้ จากนั้นก็จะรวบรวมความเห็นต่าง ๆ เพื่อเสนอไปยัง กรธ.         

นายวิษณุ กล่าวต่ออีกว่า คนที่ออกมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญในขณะนี้ วิจารณ์โดยที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาโดยรวม ทั้งคำถามจากสื่อ และคนอื่นๆที่มาวิจารณ์ ดังนั้น กรธ.จึงต้องชี้แจงรายละเอียดในมากขึ้น วันนี้ใครจะวิจารณ์ก็วิจารณ์ไป หน้าที่ของกรธ.นั้นควรจะเก็บ รวบรวมเสียงที่มีการสะท้อนทั้งหมด และไม่ควรตอบคำถามรายวัน แต่ควรตอบเป็นยกๆ เพราะหากตอบเป็นรายวัน คำถามอื่นก็จะตามมา ไม่จบไม่สิ้น และทางที่ดีควรจะทำเป็นแถลงการณ์เลยก็ได้ ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลเองยังไม่มีความคิดร่วมมือกับ กรธ.ในการชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน


ขณะที่ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)กล่าวถึง เสียงสะท้อนร่างแรกรัฐธรรมนูญ ว่า ภายหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ทาง กรธ.คงจะทบทวนเนื้อในหมวดสิทธิเสรีภาพและมาตราที่เกี่ยวข้องเยอะที่สุด พร้อมจะนำเอาเนื้อหาจาก รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ถูกเปรียบเทียบมาประกอบการพิจารณา และขอยืนยันว่า กรธ.ก็เป็นประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ขุนนาง ที่มาเขียนเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน


ส่วนประเด็นทางการเมืองที่ทั้งฝ่ายการเมืองและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)กังวลเรื่องการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวและการเลือกไขว้ ส.ว.จาก 20 กลุ่มอาชีพ จะทำให้มีปัญหาการทุจริตมากขึ้น ทาง กรธ.ก็รับฟัง แต่ขณะเดียวกัน ต้องชั่งน้ำหนักจากเสียงของประชาชนประกอบด้วย เพราะหากฝ่ายการเมืองไม่เอา แต่ประชาชนไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาเท่าไร ทั้งนี้ เสียงสะท้อนทั้งหมด เราจะรับฟัง และพิจารณา หากตรงไหนไม่มี การปรับแก้ เราก็จะให้เหตุผลประกอบด้วย


ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ สนช.กล่าวว่าหลังจากที่ประชุม สนช.อภิปรายให้ความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ขั้นตอนต่อไป กมธ.พิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.เป็นประธาน จะรวบรวมและสังเคราะห์ประเด็นที่สมาชิก สนช.ได้อภิปรายให้ข้อเสนอไป เพื่อทำเป็นรายงานเสนอต่อ กรธ.ภายในวันที่15กุมภาพันธ์ ซึ่งสัปดาห์หน้า กมธ.จะประชุมเพื่อสรุปรวบรวมข้อเสนอของ สนช.ส่งให้กรธ.ต่อไปซึ่งกมธ.เห็นว่าเนื้อหาภาพรวมร่างฉบับนี้ถือว่าดีมีกลไกป้องกันการทุจริตแต่ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุง4-5ประเด็น


 ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ สนช.กล่าวว่าหลังจากที่ประชุม สนช.อภิปรายให้ความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ขั้นตอนต่อไป กมธ.พิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.เป็นประธาน จะรวบรวมและสังเคราะห์ประเด็นที่สมาชิก สนช.ได้อภิปรายให้ข้อเสนอไป เพื่อทำเป็นรายงานเสนอต่อ กรธ.ภายในวันที่15กุมภาพันธ์ ซึ่งสัปดาห์หน้า กมธ.จะประชุมเพื่อสรุปรวบรวมข้อเสนอของ สนช.ส่งให้กรธ.ต่อไปซึ่งกมธ.เห็นว่าเนื้อหาภาพรวมร่างฉบับนี้ถือว่าดีมีกลไกป้องกันการทุจริตแต่ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุง4-5ประเด็น


โดย 5ประเด็นที่ กมธ.จะเสนอให้ กรธ.พิจารณา ได้แก่

1.การคัดค้านเลือกตั้งแบบใช้บัตรใบเดียว หรือ ระบบจัดสรรปันส่วนผสม เนื่องจากเห็นว่าซับซ้อน เข้าใจยาก ควรใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม

 
2.ไม่เห็นด้วยการให้พรรคการเมือง ต้องแจ้งชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯ ล่วงหน้า3 คน

 
3.การเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อม จาก 20 กลุ่มอาชีพ กมธ.ไม่เห็นด้วย เพราะไม่สามารถป้องกันการบล็อกโหวตได้ อาจเกิดการทุ่มซื้อเสียงเพื่อได้เป็น ส.ว. ควรใช้ ส.ว.มาจากระบบสรรหาทั้งหมดจะเหมาะสมกว่าโดยปรับแก้ที่มาของคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ให้เปิดกว้างมากขึ้น ส่วนข้อเสนอ ส.ว.มาจากสรรหาไม่ใช่ผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อเปิดทางให้ ส.ว.หน้าเดิมได้กลับมาทำงาน แต่เห็นว่า ส.ว.สรรหาที่ผ่านมาทำงานได้ดี ถ้าให้ ส.ว.จากการเลือกตั้งจะหนีไม่พ้น ส.ว.ที่มาจากฐานเสียงนักการเมือง ทำให้หนีไม่พ้นอิทธิพลครอบงำจากฝ่ายการเมือง

 
4.หมวดการปฏิรูป ที่ในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เฉพาะเรื่องการปฏิรูปอัยการ การศึกษาและตำรวจ ซึ่งกมธ.เห็นว่า ควรหลากหลายกว่านี้


5.เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ยังเขียนไม่ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ


ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้มีหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในแง่มุมที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่ถูกจับตามองว่าเป็นการออกมาเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างทางการเมือง ในขณะที่ประชาชนเองคงต้องพิจารณาข้อมูลต่างๆอย่างรู้เท่าทัน เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือและเกิดความขัดแย้ง ในสังคม


สวนดุสิตโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกับกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ สรุปผลได้ ดังนี้


1. ประชาชนคิดอย่างไร? ที่ “นักการเมือง” ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ "การร่างรัฐธรรมนูญ"

อันดับ 1 เกี่ยวข้องกับนักการเมืองโดยตรง เป็นเรื่องผลประโยชน์ การได้เปรียบเสียเปรียบ 75.05%
อันดับ 2 เป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้แต่จะต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม 62.58%
อันดับ 3 ขอให้นักการเมืองแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์และบริสุทธิ์ใจ 58.35%
อันดับ 4 ควรรับฟังและนามาพิจารณาถึงผลดี-ผลเสีย เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ 49.48%
อันดับ 5 รู้สึกเบื่อหน่าย มีแต่ความวุ่นวาย ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก 44.54%


2. ประชาชนเชื่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของ “นักการเมือง” ที่ออกมาพูดเรื่อง “การร่างรัฐธรรมนูญ” มากน้อยเพียงใด?

อันดับ 1 ไม่ค่อยเชื่อ 43.48% เพราะ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว พูดจากมุมมองของตนเอง เป็นห่วงเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง ฯลฯ
อันดับ 2 ไม่เชื่อ 25.96% เพราะ การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ กลัวการได้เปรียบเสียเปรียบกันมากกว่า ฯลฯ
อันดับ 3 ค่อนข้างเชื่อ 22.40% เพราะ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ น่าเชื่อถือ ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ฯลฯ
อันดับ 4 เชื่อมาก 8.16% เพราะ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ รู้และเข้าใจปัญหาบ้านเมืองเป็นอย่างดี ชี้ให้เห็นข้อดี-ข้อเสียของกฎหมาย ฯลฯ


3. ประชาชนเชื่อหรือเห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมืองที่ชื่นชอบมากน้อยเพียงใด

อันดับ 1 ไม่ค่อยเชื่อ 36.87% เพราะ เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีนักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ฯลฯ
อันดับ 2 ค่อนข้างเชื่อ 30.50%เพราะ เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ มีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน ฯลฯ
อันดับ 3 ไม่เชื่อ 22.00% เพราะ เป็นเกมการเมือง เป็นบทบาทของนักการเมืองอย่างหนึ่งที่จะต้องออกมาสร้างกระแส ฯลฯ
อันดับ 4 เชื่อมาก 10.63%เพราะ รู้สึกชื่นชอบและเชื่อมั่นในตัวท่าน เป็นผู้ที่หวังดี อยากเห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ฯลฯ


4. ประชาชนเชื่อบุคคลหรือหน่วยงานใดที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 77.06%
อันดับ 2 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 74.59%
อันดับ 3 นักวิชาการ /อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ /ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 66.47%
อันดับ 4 ผู้อาวุโสทางการเมือง /หัวหน้าพรรคการเมือง /ตัวแทนพรรคการเมือง 64.12%
อันดับ 5 ข้าราชการทางการเมือง /สนช. /สปช. 59.41%


ขณะที่ นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญควรให้ทุกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภาฯ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ให้ความเห็นชอบในเรื่องที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม


จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญควรให้ทุกพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ในสภาฯ มีความเห็นชอบร่วมกันในเรื่องที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ86.48 ระบุว่า เห็นด้วย
รองลงมา ร้อยละ 11.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.16 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ อยากให้มีการลงประชามติก่อนและอยากให้ทุกคน มีส่วนร่วมด้วยไม่ใช่เฉพาะ ส.ส. และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ        


ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญควรให้ส.ว. ให้ความเห็นชอบกับเรื่องที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.08 ระบุว่า เห็นด้วย
รองลงมา ร้อยละ 12.96 ระบุว่าไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.16 ระบุว่าอื่น ๆ ได้แก่ อยากให้มีการลงประชามติก่อนและอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยไม่ใช่เฉพาะ ส.ว.และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ       


สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.04 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 31.20 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.08 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ แบบไหนก็ได้ขอให้ประเทศดีขึ้น และร้อยละ 5.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ       


ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า ต้องให้มีการลงประชามติ ในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นขั้นตอนและวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.56 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 8.40 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ         


เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า ต้องให้มีการลงประชามติ ในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.92 ระบุว่า เห็นด้วย
รองลงมา ร้อยละ 8.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 3.12 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ