รบ.ปลื้ม!! สถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยดีสุดรอบ 6 ปี ยึดที่ 3 อาเซียนเรื่องความโปร่งใส!!!

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 

แม้ขณะนี้เรื่องของรัฐธรรมนูญจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สำหรับภาพลักษณ์ของประเทศไทยเรื่องเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ประจำปี 2558 ถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี

 

 

 

 

 


จากคะแนนที่ได้คือ 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งก็เป็นที่สิ่งที่น่ายินดีว่าได้เกิดขึ้นในรอบ 6 ปีของรัฐบาลที่มีการทำรัฐประหาร


โดยในการจัดอันดับประจำปี 2558 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้จัดอันดับประเทศทั้งหมด 168 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า ประเทศเดนมาร์กได้คะแนนสูงสุด 91 คะแนน สามารถรักษาแชมป์เป็นอันดับหนึ่งได้สองปีซ้อน ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนลดลงจากเดิมอย่างมากกว่าปีที่แล้ว ได้แก่ บราซิล กัวเตมาลา และเลโซโท


เมื่อเปรียบเทียบอันดับเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยมีคะแนนเป็นอันดับที่สาม รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนประเทศบรูไนไม่ได้อยู่ในการจัดอันดับครั้งนี้


ทั้งนี้ พล.ต.สรรเสริญก็เปิดเผยว่า รัฐบาลรู้สึกภูมิใจสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยดีที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งขยับขึ้น 9 อันดับ


พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดคอร์รัปชั่นโลก ปี 2558 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) แล้ว โดยประเทศไทยได้ 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 เป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย และอันดับที่ 76 จากประเทศทั่วโลก ขยับขึ้นมาจากเดิม 9 อันดับ


ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับกับผลการจัดอันดับดังกล่าว และเห็นว่าประเทศไทยควรจะต้องใสสะอาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความตั้งใจจริงในการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น การตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) การตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เป็นต้น"


พล.ต. สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ผลการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติสอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อ มิ.ย. 2558 ที่ระบุว่า สถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปี 2558 ดีที่สุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากรัฐบาลได้กำหนดให้การปราบปรามการทุจริตเป็น"วาระแห่งชาติ" และปฏิบัติการอย่างเข้มแข็งแล้ว ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน จนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีกลไกพิเศษหลายประการที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในระยะยาวอีกด้วย


นอกจากนี้ ท่านนายกฯ เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องไม่เน้นเพียงการปราบปรามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีแก่ประชาชนโดยเฉพาะในระดับเยาวชน ซึ่งถือเป็นการป้องกันก่อนเกิดปัญหาที่ดีที่สุดด้วย เช่น การสร้างสำนึกไทย ไม่โกง แก่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ การใช้หลักสูตร "โตไปไม่โกง" ในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้สำนึกรักความซื่อสัตย์หยั่งรากลึกลงในจิตใจของเยาวชนไทย เป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน


ทั้งนี้หากย้อนกลับไปตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในยุคสมัยของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้นั้นจะพบว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร


สถิติการจัดอันดับคอรัปชันของไทยตั้งแต่ 7 ปีหลัง คือตั้งแต่ระหว่าง ปี 2552-2558 มีรายละเอียดดังนี้


ปี 2552 ซึ่งเป็นยุคของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไทยได้ 3.40 คะแนน เต็ม 10 อยู่อันดับที่ 84 จากทั้งหมด 180 ประเทศ


ปี 2553 ซึ่งเป็นยุคของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไทยได้ 3.50 คะแนน เต็ม 10 อยู่อันดับที่ 78 จากทั้งหมด 178 ประเทศ


ปี 2554ยุคของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไทยได้ 3.40 คะแนน เต็ม 10 อยู่อันดับที่ 80 จากทั้งหมด 183 ประเทศ


ปี 2555 ยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ไทยได้ 37 คะแนน เต็ม 100 อยู่อันดับที่ 88 จากทั้งหมด 176 ประเทศ


ปี 2556 ยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ไทยได้ 35 คะแนน เต็ม 100 อยู่อันดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศ


ปี 2557 ยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไทยได้ 38 คะแนน เต็ม 100 อยู่อันดับที่ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศ


ปี 2558 ยุคของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไทยได้ 38 คะแนน เต็ม 100 อยู่อันดับที่ 76 จากทั้งหมด 168 ประเทศ


ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบก็จะเห็นได้ว่าในยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นลำดับจะไม่ต่ำสุด เนื่องจากเป็นที่ราบกันดีว่ามีโครงการนโยบายประชานิยมที่ส่อไปในทางทุจริตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉาะนโยบายรับจำนำข้าว


สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รายงานผลสรุปโครงการ “ยุทธศาสตร์ข้าวไทย การวิจัยพัฒนาข้าวไทยและการมองไปข้างหน้า” โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ และคณะ ว่านับตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2555 รัฐบาลได้รับซื้อข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/55 และข้าวนาปรัง 2555 รวมทั้งสิ้น 21.76 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นข้าวสารทั้งสิ้น 13.38 ล้านตัน


ถ้าคิดเฉพาะการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 กล่าวได้ว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการนำข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการรับจำนำตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ เพราะปริมาณการรับจำนำ 14.8 ล้านตัน สูงกว่าปริมาณการผลิตที่คาดคะเนโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 12.2 ล้านตัน


แต่จากรายงานโครงการ “ยุทธศาสตร์ข้าวไทย การวิจัยพัฒนาข้าวไทยและการมองไปข้างหน้า” ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าโครงการนี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานะทางการคลังและการค้าข้าวของไทย โดยสามารถสรุปการรั่วไหลและความสูญเสียอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว ดังนี้


1. เงินรั่วไหลก้อนแรก คือเงินที่ซื้อข้าวจากชาวนาบางส่วนรั่วไหลไปยังโรงสีและชาวนาในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีโรงสีบางแห่งลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์การจำนำ ไม่มีใครทราบว่ามีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นจำนวนเท่าไร แต่นักวิชาการในกัมพูชาคาดว่าอาจมีข้าวหลายแสนตันเข้ามาในประเทศไทย


2. การรั่วไหลที่เกิดจากการทุจริตของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวในทุกขั้นตอนการรับจำนำ เริ่มจากเกษตรกรบางรายร่วมกับเจ้าหน้าที่จดทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าความจริง โรงสีบางแห่งซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงในราคาตลาด แล้วนำมาสวมสิทธิ์ หรือลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ โดยใช้ชื่อของเกษตรกรบางคน โรงสีหักค่าความชื้นและสิ่งเจือปนในข้าวของชาวนาเกินความจริง


3. โครงการรับจำนำก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม การรั่วไหลที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นการถ่ายโอนเงินภาษีจากมือของประชาชนผู้เสียภาษีไปสู่ชาวนา โรงสี และนักธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเป็นการถ่ายโอนเงินจากชาวนาและโรงสีที่สุจริตไปสู่มือของผู้ทุจริต


4. ความสูญเสียอีกรายการหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของชาวนา โรงสี และโกดัง ที่ต้องการหากำไรส่วนเกินจากโครงการ (rent seeking activities) ชาวนาจะขยายพื้นที่และเพิ่มรอบการเพาะปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากที่สุดมาขายให้รัฐบาล ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวถีบตัวขึ้นจนกว่าจะสูงเท่ากับราคารับจำนำ 15,000 บาท นอกจากการสิ้นเปลืองน้ำและปัจจัยการผลิตต่างๆ แล้ว ชาวนาจะลดพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรอื่นๆ ทำให้ผลผลิตอาหารประเภทอื่นลดลง


5. ความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้และกำลังทวีความรุนแรงขึ้น คือ เมื่อระบบการค้าข้าวแบบแข่งขันของภาคเอกชนถูกทำลาย และทดแทนด้วยระบบการค้าข้าวของรัฐที่ต้องอาศัยเส้นสายทางการเมือง ประเทศไทยจะเปลี่ยนจากผู้ผลิตและค้าข้าวคุณภาพสูงที่สุดในโลกเป็นข้าวคุณภาพต่ำ เพราะรัฐบาลไม่ได้ซื้อข้าวตามคุณภาพเหมือนกับพ่อค้าเอกชน