นั่งไม่ติด!! ดีเอสไอร่อนหนังสือถึงพศ.ตามบี้ปมสึก "ธัมมชโย" อยู่หรือไปเฝ้าจับตา!!!

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 


ถึงกับนั่งไม่ติดเลยที่เดียวสำหรับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ภายหลังดีเอสไอส่งหนังสือเพื่อให้พิจารณาดำเนินการกับพระเทพญาณมหามุนี(พระธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และเจ้าคณะผู้ปกครองที่เกี่ยวข้องที่น่าจะเข้าข่ายกระทำผิดอาญา จากกรณีการถือครองที่ดิน และทรัพย์สิน และยังโยงถึงคดีฟอกเงินที่รับทรัพย์จากนายศุภชัย

 

 

 

 

 


จากกรณีที่ดีเอสไอ ส่งหนังสือถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้เสนอเรื่องเข้าสู่การประชุม มส.เพื่อใช้กฎนิคหกรรมปรับอาบัติปาราชิกพระธัมมชโยนั้น ต่อมาได้มีการอ้างแหล่งข่าวจาก มหาเถรสมาคม(มส.) เขียนในเฟซบุ๊กทำนองว่า ดีเอสไอใช้อำนาจอาณาจักรแทรกแซงศาสนจักรหรือไม่ เนื่องจากการลงนิคหกรรมเป็น กระบวนการทางพระธรรมวินัย เป็นอำนาจของคณะสงฆ์ กรณีการนำพระลิขิตมาอ้างในการลงโทษพระสงฆ์ทางพระธรรมวินัยนั้น มิอาจดำเนินการได้ตามกฎนิคหกรรม เนื่องจากกฎนิคหกรรม ข้อ 11 (4) ระบุว่า พระภิกษุที่จะตั้งโจทก์ต้องเป็นผู้มีสังวาสเสมอกัน จึงจะมีอำนาจในการโจทก์ได้ ส่วนกรณีพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ทรงเป็นพระธรรมยุตนิกาย ไม่ลงปาติโมกข์ ไม่บวชนาค และ ไม่รับกฐินร่วมกับมหานิกาย มีพระลิขิตออกมา โจทก์มหานิกายว่า เป็นอาบัติปาราชิก เป็นการขัดต่อพระธรรมวินัยว่าด้วยนานาสังวาส และ นิคหกรรม กฎข้อ 11 ใช่หรือไม่


ล่าสุด นายชยพล พงษ์สีดา รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า เนื้อหาที่ออกมาไม่ใช่มาจาก พศ. แต่อาจจะเป็นข้าราชการใน พศ.ที่ต้องการชี้แจงให้เข้าใจว่า แต่ละคำมีความหมายอย่างไร เมื่อถามว่า แสดงว่า คนละนิกายจะไม่สามารถปาราชิกได้ใช่หรือไม่ นายชยพล กล่าวว่า ทำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูเหตุผลข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ ทางพศ.ก็กำลังรวบรวมหลักฐานข้อมูลทั้งหมด ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เราจะดำเนินการบนพื้นฐานของความถูกต้อง ซึ่งในสัปดาห์หน้า ตนจะชี้แจงดีเอสไอ และสื่อมวลชนได้รับทราบว่าทาง พศ.มีความเห็นกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร โดยจะชี้ให้เห็นว่าทำได้เพราะอะไร ไม่ได้เพราะอะไร จะไม่พูดลอยๆ


เพื่อให้ได้ทราบถึงที่มาที่ไปกรณีนิคหกรรม กล่าวหาพระธัมมชโยละเมิดพระธรรมวินัยเราจะได้ไปย้อนไล่เรียงมาให้คุณผู้ชมได้รับทราบกัน


นิคหกรรม (อ่านว่า นิก-คะ-หะ-กำ) แปลว่า การข่ม เป็นวิธีการลงโทษภิกษุตามพระธรรมวินัยเพื่อให้เข็ดหลาบ นิคหกรรม ใช้สำหรับลงโทษภิกษุผู้ทำเสียหาย เช่นก่อการทะเลาะวิวาทบาดหมาง ทำความอื้อฉาว มีศีลวิบัติ ติเตียนพระรัตนตรัย เล่นคะนอง ประพฤติอนาจาร ลบล้างพระบัญญัติ ประกอบมิจฉาชีพเป็นต้น นิคหกรรม เป็นกิจที่พึงทำอย่างหนึ่งของผู้ปกครองหมู่คณะ เป็นคำคู่กับปัคหะคือการยกย่อง ทั้งสองอย่างนี้เป็นเครื่องมือในการปกครอง มีความสำคัญเท่าๆ กัน ทั้งนี้เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งสงฆ์ เมื่อมีผู้ประพฤติมิชอบ สมควรแก่นิคหกรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานอนุญาตให้สงฆ์ทำนิคหกรรมแก่ผู้นั้นตามพระธรรมวินัย


นิคหกรรม ในปัจจุบัน มีกฎของคณะสงฆ์เพื่อการนี้เรียกว่า กฎนิคหกรรม แต่ใช้ในกรณีความผิดที่ร้ายแรง หรือ คุรุกาบัติ และต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยเท่านั้น


ทั้งนี้ สำหรับหนังสือรายงานการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กรณีนิคหกรรม กรณีกล่าวหาพระธัมมชโยละเมิดพระธรรมวินัย ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2542 ลงนามโดย พระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ผู้พิจารณานิคหกรรมในขณะนั้น รับรองหนังสือพิจารณานิคหกรรม โดย พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น พระเทพสุธี รองเจ้าคณะภาค 1 คณะผู้พิจารณาชั้นต้น หรือพระพรหมดิลก เจ้าคณะกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ซึ่งในหนังสือดังกล่าวได้ลำดับขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการร้อง คือนายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา ต่อ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า ละเมิดพระธรรมวินัย ต่อเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2542 ต่อมา 26 ก.ค. เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่งรับคำกล่าวหา วันที่ 29 ก.ค. ผู้พิจารณามีหนังสือเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 6 ส.ค. จากนั้นวันที่ 31 ก.ค. ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือทัดทานคำสั่งรับคำกล่าวหา ผู้พิจารณาไม่มีอำนาจสั่งรับคำกล่าวหา เพราะกฎมส.ไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงปฏิเสธการไปพบในวันที่ 6 ส.ค.2542


วันที่ 1 ส.ค. ผู้พิจารณาส่งเรื่องทัดทานคำสั่งรับการกล่าวหาให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น จากนั้นวันที่ 11 ส.ค. คณะผู้พิจารณาชั้นต้น พิจารณาแล้วมีมติว่า คำทัดทานนั้นฟังได้ จึงแนะนำให้ผู้พิจารณา ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎมส.โดยเคร่งครัด ต่อมาวันที่ 13 ส.ค. เจ้าคณะจังหวัด ทบทวนกฎมส.โดยละเอียดแล้ว เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจผู้พิจารณา สั่งรับคำกล่าวหาของผู้กล่าวหา ที่มีลักษณะบกพร่องไม่ต้องตามที่ระบุไว้ในกฎนิคหกรรม เห็นควรสั่งไม่รับคำกล่าวหา แต่ปรากฏว่า คำกล่าวหานั้น เป็นความผิดกรณีครุกาบัติ จำต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะผู้พิจารณาชั้นต้นก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงยกเลิกคำสั่งเดิมและสั่งไม่รับคำกล่าวหา คำสั่งไม่รับคำกล่าวหาของผู้พิจารณานี้ มีผลให้กรณีนิคหกรรมจำต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง


จึงเป็นอันว่า กรณีนิคหกรรมที่ดำเนินมาอย่างถูกต้องตามขั้นตอนโดยลำดับกรณีนิคหกรรม วัดพระธรรมกาย ได้ถึงความสิ้นสุดลงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 2542 และเป็นการถึงที่สุดโดยเด็ดขาด ไม่สามารถที่จะอุทธรณ์ ฎีกา ต่อไปได้ กับทั้งไม่สามารถที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาดำเนินการใหม่ด้วย หากว่า เจ้าคณะจังหวัดในฐานะผู้พิจารณา จะเกิดสัมโมหะเข้ามากำบังปัญญา รื้อฟื้นกรณีนิคหกรรมขึ้นมาดำเนินการใหม่ ด้วยสาเหตุจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง โทษคือความผิดจะพึงบังเกิดเป็นหลายสถาน ทั้งในด้านผิดกฎนิคหกรรม ผิดพระธรรมวินัย และผิดกฎหมายบ้านเมือง จึงประทานเสนอรายงานเจ้าคณะใหญ่หนกลางเพื่อโปรดทราบ(ขณะนั้นสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง)


ทั้งนี้ กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม

ข้อ ๙ การลงนิคหกรรมเกี่ยวกับความผิดของพระภิกษุทรงสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นต่าง ๆ ถ้าเป็น

 (๑) พระราชาคณะชั้นสามัญหรือชั้นราช ซึ่งดำรงตำแหน่งต่ำกว่าเจ้าคณะจังหวัดหรือมิใช่ผู้ปกครองสงฆ์ ให้นำความในข้อ ๗ (๔) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 (๒) พระราชาคณะชั้นเทพ ซึ่งดำรงตำแหน่งต่ำกว่าเจ้าคณะภาค หรือมิใช่ผู้ปกครองคณะสงฆ์ ให้นำความในข้อ ๗ (๕) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 (๓) พระราชาคณะชั้นธรรมขึ้นไป ซึ่งดำรงตำแหน่งปกครองสงฆ์หรือมอใช่ผู้ปกครองสงฆ์ ให้นำความในข้อ ๗ (๗) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีดังกล่าวข้างต้น ถ้าพระราชาคณะรูปนั้นดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส ให้เจ้าอาวาสเจ้าสังกัดเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกรูปหนึ่งเฉพาะในกรณีไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม


ปัจจุบันพระธัมมชโย อยู่ในตำแหน่ง พระเทพญาณมหามุนี หรือเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ก็จะต้องนำเอาข้อ 9 (2) มาบังคับใช้ ซึ่งระบุว่า ให้นำความในข้อ ๗ (๕) มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ข้อ ๗ การลงนิคหกรรมเกี่ยวกับความผิดของพระภิกษุผู้ปกครอง ซึ่งดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(๕) เจ้าคณะจังหวัด หรือรองเจ้าคณะภาค

 ก. ถ้าความผิดนั้นเกิดขึ้นในเขตภาคสังกัดอยู่ ให้เป็นอำนาจของเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณา ส่วนในกรณีไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น ให้เป็นอำนาจของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งประกอบด้วย เจ้าคณะใหญ่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ เจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะใหญ่เลือกเจ้าคณะภาคในหนนั้นเข้าร่วมอีก ๑ รูป


ข. ถ้าความผิดนั้นเกิดขึ้นในเขตจังหวัดที่มิได้สังกัดอยู่ ให้เป็นอำนาจเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณา ส่วนในกรณีไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นต้น ให้เป็นอำนาจของคณะผู้พิจารณาชั้นต้น ซึ่งประกอบด้วย เจ้าคณะใหญ่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ เจ้าคณะภาคเจ้าสังกัด ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะใหญ่เลือกเจ้าคณะภาคในหนนั้นเข้าร่วมอีก ๑ รูป


อย่างไรก็ตาม แม้มหาเถรสมาคมจะได้มีมติยืนยันว่าฆราวาสสามารถฟ้องพระภิกษุได้ โดย ทางสมเด็จพระมหาธีราจารย์จึงสั่งการให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง แต่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ ในที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางจึงมีคำสั่งปลดพระพรหมโมลี วัดยานนาวา จากเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งจะทำให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น และตั้งพระเทพสุธี รองเจ้าคณะภาค 1 เป็นเจ้าคณะภาค 1 แต่พระเทพสุธีขอลาออก จึงมีการตั้งพระธรรมโมลี วัดพิชยญาติการาม เป็นเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งจะต้องทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น แต่จนถึงปัจจุบันคณะผู้พิจารณาชั้นต้นก็ยังไม่เคยวินิจฉัยกรณีนิคหกรรมพระธัมมชโยแต่อย่างใด