ชะตากรรม "ไทใหญ่" บนอนาคตเจรจาทางการเมืองกับ"พม่า"

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tnews.co.th/html/


7 กุมภาพันธ์ของทุกปี ฐานที่มั่นกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ บนดอยไต รัฐฉาน  สหภาพพม่า ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติรัฐฉาน  ซึ่งเป็นวันสำคัญ เนื่องจากเป็นวันจุดเริ่มต้นที่ทำให้มี "สัญญาปางโหลง" เกิดขึ้น โดยปีนี้ครบรอบ 69 ปี ซึ่งมีชาวไทใหญ่จากทั่วรัฐฉาน รวมถึงแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทยจำนวนมากได้เดินทางไปร่วมงานและให้ขวัญกำลังใจ รวมถึงส่งมอบสิ่งของบริจาคแก่ทหารไทใหญ่ที่อยู่บนดอยไตแลง

 

     โดยไฮไลท์ อยู่ที่พิธีสวนสนามของทหารกองทัพรัฐฉาน(Shan State Army - S.S.R.)  และสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State) ที่นำโดย "เจ้ายอดศึก" ผู้นำสูงสุด "เจ้ายอดศึก" แถลงว่า การจัดงานรัฐฉาน 7 กุมภาพันธ์ เป็นประจำทุกปีนั้น ก็เพื่อให้พี่น้องประชาชนรัฐฉานได้รำลึกถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และให้รู้ว่า 7 กุมภาพันธ์นั้น เคยแพ้สงครามมาแล้ว 1 ครั้ง จนทำให้พี่น้องประชาชนรัฐฉานต้องทุกข์ยากลำบากมาตราบเท่าทุกวันนี้

 

 

     นอกจากนี้เจ้ายอดศึก ยังได้ฝากข้อคิดถึงประชาชนของรัฐฉาน 4 ข้อคือ

 

     1. ในปี 2559 จะมีการเปิดการเจรจาใหญ่ทางการเมืองของรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนของรัฐฉานไม่ว่าจะเป็นเยาวชน คนหนุ่มสาว หรือ คนเฒ่าคนแก่ รวมทั้งพระสงฆ์ทั้งหลาย ได้ติดตามศึกษาสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด

     2. รัฐบาลพม่า ได้เปิดโอกาสให้เจรจาทางการเมือง ดังนั้นชาวไทใหญ่สมควรจะใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยเจรจา  ซึ่งหากว่าการเจรจาพูดคุยกันล้มเหลวหรือไปต่อไม่ได้ ชาวไทใหญ่จะกลับมาสู้รบอีกครั้งหนึ่งก็ยังไม่สายเกินไป

    3.การเจรจาทางการเมืองในครั้งนี้ มีความสำคัญมากกว่าการประชุมเมื่อปี พ.ศ.2490  ซึ่งการประชุมปางโหลง พ.ศ.2490  นั้น ยังพอมีช่องทางให้แก่การทำงานปฏิวัติของพวกเรา แต่ในการประชุมใหญ่ทางการเมืองในครั้งนี้ ด้วยเหตุที่สถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ประชาชนในพม่าก็มีความเจริญก้าวหน้า มีความฉลาดหลักแหลมมากขึ้น และกลุ่มที่เคลื่อนทางการเมืองก็มีเพิ่มขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันกองทัพพม่าก็ได้ ทุกฝ่ายไม่ร่วมมือช่วยเหลือกัน โอกาสที่ดีก็อาจจะหลุดลอยไปอีก

    4. ขอให้ประชาชนรัฐฉาน มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งรู้จักร่วมกันพัฒนา ซึ่งภาษาประเพณีวัฒนธรรมของเราให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

 

    จากการประกาศท่าทีของผู้นำกองทัพรัฐฉาน(Shan State Army - S.S.R.)  และสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State) ที่นำโดย "เจ้ายอดศึก"  ชี้ให้เห็นว่า มีเจตนาอย่างชัดเจนที่จะเจรจากับรัฐบาลพม่า หลังจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD นางอองซาน ซูจี  ชนะขาดทั้ง ๒ สภา รวมได้ ๓๗๘ ที่นั่ง คิดเป็น ๗๘% จากจำนวนที่ต้องเลือกทั้งหมด ๔๙๘ ที่นั่ง และมีสิทธิที่จะจัดตั้งรัฐบาล

 

   การขึ้นมาของรัฐบาลที่หนุนโดยนางอองซาน ซูจี แม้ประชาคมโลก จะคาดหวังว่า น่าจะเป็นนิมิตรหมายอันดีในการที่จะเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ 6-7 กลุ่ม เพื่อนำประเทศเมียนมาร์ไปสู่การปรองดอง และยุติปัญหาความขัดแย้งที่ยาวนานมาเกือบ 70 ปี แต่ประเด็นปัญหาก็คือ เมื่อถึงเวลาอองซาน ซูจี จะดำเนินการอย่างนั้นหรือไม่ เพราะชนกลุ่มน้อยวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ต่อกรณีนางซูจี ไม่แสดงท่าทีอย่างแข็งขันจากการที่กองทัพพม่าปฏิบัติการทางทหาร โดยเฉพาะการใช้กำลังภายในรัฐคะฉิ่นมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2554  ดังนั้นแล้วจึงต้องลุ้นกันต่อไปว่าในที่สุดเรื่องนี้จะก้าวหน้าไปแค่ไหน และยิ่งถ้า"ไทใหญ่" ยืนยันว่า การเจรจาจะยึดแนวทางสัญญาปางโหลง ซึ่งพม่า ปฏิเสธที่จะยอมรับมาตลอดก็ยิ่งจะทำให้การเจรจาเกิดอุปสรรคมากขึ้นและหากการเจรจาล้มเหลว ก็มีความเป็นได้ว่า การแก้ปัญหาด้วยอาวุธก็จะดำเนินต่อไป

 

     หากย้อนความตกลง "ปางโหลง" นั่นเป็นความตกลงระหว่างพม่า ไทใหญ่ ชิน กะฉิ่น ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมปางโหลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อจัดตั้งสหภาพพม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ความตกลงนี้ไม่บรรลุผลเพราะพม่าไม่ปฏิบัติตาม โดยก่อนการลงนามนั้นมีการประชุมกัน 2 ครั้งคือ การประชุมปางโหลงครั้งที่ 1 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรยึดรัฐฉาน (สหรัฐไทยเดิม) คืนจากไทยแล้ว ได้มีการประชุมเพื่อตัดสินชะตากรรมของชาติตนเองเรียกว่า การประชุมปางโหลง โดยจัดขึ้นที่เมืองปางโหลงในรัฐฉานเมื่อ 20 -28 มีนาคม พ.ศ. 2489 การประชุมครั้งนี้ฝ่ายอังกฤษส่งนายสตีเวนสันเข้าร่วม ตัวแทนฝ่ายพม่าได้แก่ อู นุ , บาขิ่น อูซอว์ การประชุมครั้งนี้พม่าเรียกร้องให้รัฐฉานรวมกับพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

 

    หลังจากการประชุมปางโหลงครั้งแรก พม่าได้ทำความตกลงอองซาน-แอตลีกับอังกฤษเพื่อรวมอาณานิคมของอังกฤษทั้งหมดเข้ากับสหภาพพม่าฝ่ายรัฐฉานจึงจัดการประชุมปางโหลงระหว่าง 3-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เพื่อปฏิเสธการเข้ารวมตัวกับพม่า  ตัวแทนฝ่ายคะฉิ่นเข้าร่วมประชุมกับไทใหญ่เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ และตัวแทนจากรัฐฉิ่นเข้าร่วมเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ และตกลงจัดตั้งสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาเพื่อต่อรองกับฝ่ายพม่า

 

    ตัวแทนฝ่ายพม่านำโดยออง ซานพร้อมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอังกฤษเข้าร่วมประชุมเมื่อ 10 ก.พ. เพื่อเจรจากับตัวแทนสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาจนเป็นที่มาของการลงนามในสนธิสัญญาปางโหลงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ ในที่สุดคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมและลงนามในความตกลงปางโหลงมี 4 ฝ่ายคือ ไทใหญ่ พม่า กะฉิ่น และ ชิน

 

     สำหรับสาระสำคัญของความตกลง

 

1.ตัวแทนของชาวเขา จะได้รับการแต่งตั้ง เป็นที่ปรึกษาข้าหลวงเกี่ยวกับพื้นที่ของรัฐชายแดน

2.สมาชิกสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขา ต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการบริหารเฉพาะด้าน ที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและกิจการต่างประเทศ

3.ที่ปรึกษาข้าหลวงและผู้ช่วยที่ปรึกษา มีหน้าที่รับผิดชอบดินแดนของตนเอง

4.กำหนดรายละเอียดในการตั้งรัฐกะฉิ่น

5.ประชากรในรัฐชายแดนมีสิทธิเท่ากับประชากรในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ

6.การดำเนินงานตามสนธิสัญญาต้องไม่ละเมิดสิทธิทางการคลังของรัฐฉาน รัฐชิน และ รัฐกะฉิ่น

 

    ต่อมา สภาร่างรัฐธรรมนูญเริ่มประชุมที่ย่างกุ้งระหว่าง 10 มิ.ย. - 24 ก.ย. พ.ศ. 2490 ตัวแทนจากรัฐต่างๆแสดงความต้องการให้จัดตั้งสหพันธรัฐอย่างแท้จริง แต่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีมือปืนบุกเข้ามายิงอองซานและที่ปรึกษาคนอื่นเสียชีวิต  เมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนทิศทางไป

 

    เมื่ออองซานเสียชีวิต อูนุขึ้นมาเป็นผู้นำแทน สิทธิในการถอนตัวได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญตามสนธิสัญญาเพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มรัฐชายแดน โดยระบุเงื่อนไขดังนี้

 

1.ต้องผ่านไป 10 ปีจึงถอนตัวได้

2.ต้องได้เสียง 2 ใน 3 ของสภาแห่งรัฐ

3.ผู้นำของรัฐต้องแจ้งให้ผู้นำของสหภาพทราบเพื่อดำเนินการลงประชามติ

 

   ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงรัฐฉานกับรัฐคะยาเท่านั้นที่มีสิทธิถอนตัว รัฐกะฉิ่นกับรัฐกะเหรี่ยงปฏิเสธการเข้าร่วมแต่แรก ส่วนรัฐชินถูกกำหนดให้เป็นเขตปกครองพิเศษจึงไม่มีสถานะเป็นรัฐตามรัฐธรรมนูญนี้

 

    ผลที่ตามมาคือ ก่อนที่รัฐฉานจะใช้สิทธิถอนตัวตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญเมื่อ เดือนมกราคม พ.ศ. 2501 ฝ่ายพม่าส่งกำลังทหารเข้ามาแทรกซึมเพื่อให้เกิดความแตกแยกในรัฐฉาน เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 ฝ่ายรัฐฉานพยายามเรียกร้องสิทธิให้เท่าเทียมกับพม่าในสหภาพและเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมมนู

 

    แต่นายพลเนวินก่อรัฐประหารขึ้นเสียก่อนเมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2508 และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ จับผู้นำชนกลุ่มน้อยเข้าที่คุมขัง สิทธิในการถอนตัวจึงถูกระงับไปโดยปริยาย และได้เกิดการต่อต้าน และนำมาสู่สงครามของพม่า กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างมาตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีทีท่าจะยุติ

 

    และต้องรอลุ้นว่าการเจรจาทางการเมืองของพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกับชาวไทใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้  จะลงเอยอย่างไร  แต่หากรัฐบาลพม่ายังยืนยันในท่าทีแบบเดิม อนาคตของชาวไทใหญ่ บนแผ่นดิน"ฉาน"ก็คาดคงระอุต่อไป  !!!!