ยังไม่จบ! อสส. จ่อฟื้นคดีธัมมชโยทุจริตเบียดบังทรัพย์ปี 49 พร้อมตั้งคณะทำงานดูแลใกล้ชิด!!

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 


แม้ว่ามหาเถรสมาคมจะไม่ดำเนินการจนทำให้ดูเหมือนว่าเรื่องทางสงฆ์นั้นเรียบร้อยแต่ทว่าคดีความปกติ ทางอัยการสูงสุดได้ออกมายืนยันว่าเตรียมที่จะรื้อฟื้นคดีความดังกล่าวและได้ตั้งคณะทำงานมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉาะ

 

 

 

 

 


ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบ สำนวนคดี พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่เบียดบังเอาทรัพย์สินเป็นของตนเองโดยทุจริต ซึ่งก่อนหน้านี้ นายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด มีคำสั่งเปลี่ยนชุดพนักงานอัยการผู้ว่าคดี และการถอนฟ้องคดีดังกล่าวจากศาลอาญา เมื่อปี 2549 ว่า


ขณะนี้คณะทำงานซึ่งมี น.ส.นิภาพร รุจนรงศ์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ แต่ยัง ไม่ทราบว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร ส่วนกรณีที่มหาเถรสมาคม (มส.) ยืนยันความเห็นว่า พระธัมมชโยไม่มีความผิด จึงไม่ต้องปาราชิก ในทางธรรม จะมีผลในการพิจารณาเรื่องรื้อฟื้นคดียักยอกทรัพย์ที่อัยการถอนฟ้องไป หรือไม่นั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ย้ำว่าเป็นคนละส่วน และไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน เรื่องของคดีก็เป็นส่วนคดี


นอกจากนี้แหล่งข่าวยังรายงานว่าการตรวจสอบสำนวนคดีที่ นายพชร มีคำสั่งเปลี่ยนชุดพนักงานอัยการผู้ว่าคดี และถอนฟ้องคดีพระธัมมชโย ในความผิดฐานเป็น เจ้าพนักงานเบียดบังเอาทรัพย์สินเป็นของตนเองโดยทุจริต


เริ่มจากที่มีการร้องเรียนถึงเรื่องคำสั่งการถอนฟ้องคดีดังกล่าว ต่อสำนักงานอัยการสูงสุด นายตระกูล วินิจนัยภาค ซึ่งดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดในเวลาต่อมา จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว


โดยมี น.ส.นิภาพร เป็นหัวหน้าคณะทำงาน จากนั้น น.ส.นิภาพร ได้ทำความเห็นส่งให้นายตระกูลพิจารณา แต่ นายตระกูล เห็นสมควรให้มีการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จึงส่งสำนวนกลับไปยัง น.ส.นิภาพร ให้สอบเพิ่มอีกครั้ง ซึ่งหากมีการสอบข้อเท็จจริง เพิ่มเติมแล้วจะได้มีการเร่งนำเสนอไปยัง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการ สูงสุด คนปัจจุบันพิจารณา เพื่อมีคำสั่ง ต่อไปว่าจะให้ดำเนินการรื้อฟื้นคดีหรือไม่


เพราะฉะนั้นเกี่ยวกับการที่ทางอัยการสูงสุดจะดำเนินคดีกับพระธัมมชโยเราก็จะย้อนกลับไปดูว่าคดีกังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร


คดีความที่เกิดขึ้นกับ "พระเทพญาณมหามุนี" หรือพระธัมมชโย นั่นคือคดียักยอกทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายไปเป็นสมบัติส่วนตัว


ต้นตอของคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2541 พระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย กล่าวหาพระธมฺมชโยว่า ยักยอกเงินและที่ดินที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัด และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกา และอวดอุตริมนุสธรรม ต่อมา กรมที่ดินได้สำรวจพบ พระธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและบริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2 พันไร่ ใน จังหวัดพิจิตร และเชียงใหม่


มหาเถรสมาคมจึงมอบหมายให้ พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ซึ่งเป็นเจ้าคณะภาค 1 ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีข้อสรุปว่า เป็นจริงตามที่ถูกกล่าวหา มหาเถรสมาคม จึงมีมติให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของเจ้าคณะภาค 1 คือ ให้ปรับปรุงคำสอนของวัดพระธรรมกายว่า นิพพานเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา และยุติการเรี่ยไรเงินนอกวัด


และสมเด็จพระสังฆราชฯ สกลมหาสังฆปรินายก ได้มีพระลิขิตให้คืนที่ดินและทรัพย์สินขณะเป็นพระให้วัดพระธรรมกาย


แต่ พระธัมมชโย ไม่ยอม กรมการศาสนาจึงได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษในคดีอาญา ม.137 ,147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


ข้อหาที่พระธัมมชโยถูกฟ้องก็คือ เป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และนำเงินอีกเกือบ 30 ล้านไปซื้อที่ดินกว่า 900 ไร่ ใน ต.หนองพระ (จ.พิจิตร) และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้นายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์


นอกจากนี้ ยังมีอดีตทนายความวัดพระธรรมกายและประชาชนที่เคยเลื่อมใสศรัทธา ในวัดพระธรรมกาย เข้าแจ้งความดำเนินคดีพระธัมมชโยเช่นกัน ฐานฉ้อโกงเงิน 35 ล้าน โดยแยกเป็นคดีความทั้งหมด 5 คดี


ทว่า เกือบ 7 ปี ของการดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 2542-2547 เหลือสืบพยานจำเลยอีก 2 นัด ในวันที่ 23 และ 24 สิงหาคม 2549 เท่านั้น แต่แล้วในวันที่ 21 สิงหาคม พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ซึ่งเป็นโจทก์ ก็ขอถอนฟ้องจำเลย คือ พระธัมมชัยโย และ นายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์ โดยเรืออากาศโทวิญญู วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล สรุปว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1 กับพวก ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของคณะสงฆ์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนา ทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก


ส่วนด้านทรัพย์สินนั้น จำเลยที่1กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมดคืน ทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย


การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว ประกอบกับขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรและไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุด ( นายพชร ยุติธรรมดำรง) จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทุกข้อกล่าวหา


ก่อนหน้าที่อัยการจะถอนฟ้องเพียงเดือน เศษ ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 พล.อ.อ. คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้ใช้สถานที่วัดพระธรรมกาย จัดงาน “ รวมใจทุกศาสนา พัฒนาท้องถิ่นไทย ถวายองค์ราชา ครองราชย์ 60 ปี “ โดยระดมเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ 80,000 คน มาร่วมงาน ซึ่งมี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานและกล่าวปาฐกถา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมขับไล่ นายทักษิณ


ชัดเจนว่าพระธัมมชโยได้ทำการยักยอกทรัพย์สินของวัดมาเป็นของตัวเอง แต่เมื่อเรื่องจวนตัวจนศาลเกือบจะพิพากษาให้ติดคุกอยู่รอมร่อ พระธัมมชโยจึงคืนเงินให้แก่วัด และอัยการก็ถอนฟ้อง