สถานการณ์ซีเรียดีขึ้นแต่สันติภาพยังไม่ชัดจะเกิดหรือไม่

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tnews.co.th/html/

 

     นายรามี อับเดล ราห์มัน ผู้อำนวยการองค์การสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรีย (เอสโอเอชอาร์) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา 9 วันนับแต่ข้อตกลงหยุดยิงในซีเรียมีผล ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. วันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น นับเป็นวันที่สถานการณ์ในภาพรวมเงียบสงบที่สุด ยกเว้นการโจมตีโดยกลุ่มอัล-นุสรา ฟรอนต์ เครือข่ายอัล-กออิดะห์ ซึ่งไม่ร่วมอยู่ในการทำข้อตกลง และการโจมตีของกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดบางส่วน ในพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดอะเลปโป ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย
 
    นายอับเดล ราห์มัน เปิดเผยว่า การเสียชีวิตของเหยื่อที่เป็นพลเรือนรายวันลดลงร้อยละ 90 และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน จากการโจมตีโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ในพื้นที่ของกองกำลังรัฐบาลในกรุงดามัสกัส ขณะเดียวกัน นายสตาฟฟาน เดอ มิสตูรา ผู้แทนสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำซีเรีย เผยว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลซีเรีย และกลุ่มกบฏ จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่10 มี.ค. การเจรจาครั้งแรกล้มเหลวลงเมื่อปี 2557 โดยอุปสรรคสำคัญในการเจรจาคือ ประเด็นเกี่ยวกับอนาคตของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งฝ่ายต่อต้านมองว่าเป็นต้นเหตุของสงคราม ที่มีที่มาจากการประท้วงโดยสันติของประชาชน เมื่อต้นปี 2554 จนนำไปสู่ความรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 270,000 ราย และทำให้ประชาชนอีกหลายล้านไม่มีที่อยู่อาศัย
 
    สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือว่าการเจรจาสันติภาพ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 มีนาคมนี้ จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เมื่อจานิส ซาร์ตส์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านการสื่อสารกลยุทธ์ขององค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ออกมากล่าวหาว่า มีหลักฐานชัดว่าประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน นั้น เป็นผู้ที่ดำเนินการสนับสนุนในการโค่นล้มรัฐบาล นางอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี ซึ่ง เรื่องดังกล่าวอาจจะกลายเป็นรอยร้าวระหว่างรัสเซีย และกลุ่มนาโต ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาก็เป็นได้ ถ้าเป็นแบบนั้นจริง งานนี้จะโทษใครไม่ได้ นอกจากจานิส ซาร์ตส์ ที่เป็นตัวขัดขวางสันติภาพอย่างแท้จริง