"วิชาญ-หลวงพี่แป๊ะ" ใครสับปลับคดีรถหรูสมเด็จช่วง ??

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 

 

กรณีคดีรถหรูของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เห็นทีว่าจะต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย หนึ่งคน ที่ให้ข้อมูลเท็จกับเจ้าพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ นั่นก็คือพระมหาศาสนมุนี หรือหลวงพี่แป๊ะกับนายวิชาญ  รัษฐปานะ เจ้าของอู่วิชาญ โดยที่ต่างฝ่ายพยายามที่จะกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย

 

 

 


นายวิชาญ   รัษฐปานะ เจ้าของอู่วิชาญ ยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ หลังถูก หลวงพี่แป๊ะ ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน เป็นเงิน 10 ล้านบาทสืบเนื่องจากที่มีการระบุว่า นายวิชาญ เป็นผู้ขายรถที่ผิดกฎหมายให้โดยได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือเรื่องการจัดหาทนาย ค่าธรรมเนียมศาล และขอคุ้มครองพยาน เพราะไม่มั่นใจว่าการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายครั้งนี้เป็นการคุกคามหรือไม่

 


ย้ำว่าแค่รับจ้างซ่อมรถ ไม่เคยมีชื่อครอบครองรถ และไม่ได้เป็นผู้ขายรถให้ เงินค่าจ้างรวม 1.5 ล้านบาท ไม่ได้เป็นการจ่ายเพียงงวดเดียว แต่ทยอยจ่ายเป็นงวดตามรายการสั่งซ่อมหากข้อเท็จจริงตรงนี้เป็นความผิดก็ต้องฟ้องผู้ซ่อมทุกราย เพราะอู่วิชาญเป็นเพียงศูนย์กลางในการจ่ายงานไปยังอู่ต่างๆ เช่น ซ่อมตกแต่งเบาะ ซ่อมท่อไอเสีย ระบบช่วงล่าง ยางรถยนต์

 


ทั้งยังระบุอีกว่า วันหนึ่งเขามาพึ่งพาผมให้ผมซ่อมรถให้เขา อีกวันหนึ่งบอกผมเป็นโจรเอารถมาหลอกขาย วันหนึ่งมาให้ผมเป็นธุระเป็นตัวกลางรับเงินให้ไปจ่ายเพื่อให้เขาสะดวกจ่ายเงินจุดเดียว ผมไม่ใช่เจ้าของรถ ไม่มีสักวินาทีเดียวที่เป็นเจ้าของรถคันนี้ ผมไม่ใช่เจ้าของเครื่องยนต์และบอดี้รถ ไม่ได้ดำเนินการเรื่องจดประกอบ ทำแค่รับซ่อมให้รถใช้งานได้”

 


พิจารณาจากการออกมาชี้แจงล่าสุดของนายวิชาญ สามารถสรุปการให้ข้อมูลของทั้ง สองฝ่ายที่สวนทางกันดังต่อไปนี้

 


พระมหาศาสนมุนี หรือ หลวงพี่แป๊ะและสุรพงษ์ สิทธิกรณ์ ทนายความมาติดต่อนายวิชาญให้ประกอบรถหรูโบราณโดยเอกสารทั้งหมดและการจดทะเบียน นายวิชาญเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด

 

 


นายวิชาญ รัษฐปานะ เป็นคนระบุว่าหลวงพี่แป๊ะเป็นผู้ติดต่อตัวถัง บอดี้ และอุปกรณ์ทั้งหมดมาให้ทำหน้าที่ประกอบรถยนต์ขึ้นมา 1 คันแล้วหลังจากนั้นก็ส่งรถให้กับหลวงพี่แป๊ะโดยที่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการชำระภาษีสรรพสามิตและจดทะเบียน

 


เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฏจะต้องมีใครสักคนพูดโกหก และถือเป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานสอบสวนอีกด้วย

 


อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีดังกล่าวนั้นยังมีตัวละครที่เข้ามาพัวพันอีกหลายส่วน ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แถลงเอาไว้ ซึ่งจะต้องไปติดตามหาตัวบุคคลเหล่านี้

 


โดยเฉพาะนายชลัชแล้วก็นายสมนึก ซึ่งเป็นผู้ที่ไปดำเนินการชำระภาษีสรรพสามิตและจดทะเบียนที่กรมการขนส่ง
กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้ทำการสืบสวน ปรากฏข้อเท็จจริงโดยสรุปว่า

 


รถคันดังกล่าวเป็นรถยนต์ ยี่ห้อ Mercedes-Benz รุ่น 300 บี ชนิดสี่ประตู ผลิตโดยประเทศเยอรมัน เมื่อปี ค.ศ.1953 ความจุกระบอกสูบ 2996 ซีซี เชื้อเพลิงแก็ส หมายเลขตัวรถ 18601400420/53 หมายเลขเครื่องยนต์ 1869204500552

 


โดยประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนรถเก่า มีการเสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามใบเสร็จรับเงิน สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพฯ 1 เลขที่ C10010054/0003562 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 โดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หมายเลขถัง 002290 วิศวกรผู้รับรองคือนายศุภารมย์ ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2554 หมดอายุ 15 สิงหาคม 2559 ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้สลับหมายเลขทะเบียน ขม 0099 เป็น งค 1560 กรุงเทพมหานคร และได้แจ้งหยุดการใช้รถตลอดไปในวันเดียวกัน

 


จากการสืบสวนของ DSI ในประเด็นเกี่ยวกับการจดประกอบรถดังกล่าว พบว่าเป็นรถรุ่น เอสคลาส ที่มีการผลิตจำนวนน้อย ในการดำเนินการมี 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

(1)การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์

(2) การประกอบชิ้นส่วนขึ้นเป็นรถสมบูรณ์

(3) การชำระภาษีสรรพสามิต และ

(4) การจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก พบข้อเท็จจริงโดยสรุปดังนี้

 


ย้ำกับคุณผู้ชมอีกครั้งว่ารถคันดังกล่าวนั้นมีความผิดกฎหมายถึง 4 ประเด็นนั่นก็คือ  (1) การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ (2) การประกอบชิ้นส่วนขึ้นเป็นรถสมบูรณ์ (3) การชำระภาษีสรรพสามิต และ (4) การจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเราจะได้จำแนกออกมาเป็นข้อๆดังต่อไปนี้


(1) ขั้นตอนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ พบหลักฐานว่า หจก. อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพร์ส เป็นตัวการส่งเครื่องยนต์และตัวถังรถยนต์จากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามายังประเทศไทยผ่านผู้บริการผู้ส่ง (Shipper) รายเดียวกัน คือ ILS, INC. โดยส่วนของโครงตัวถังรถยนต์ มาโดยเรือ VAN HARMONY เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 มีชื่อ หจก.ซี.ที. ออโตพาร์ท เป็นผู้นำสินค้าเข้า ส่วนเครื่องยนต์ มาโดยเรือ NYK ARGUS เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 มีชื่อบริษัทคาร์โก้ คาร์ จำกัด เป็นผู้นำสินค้าเข้า มีระยะเวลาห่างกันเพียงสองวัน หลังจากนั้นบริษัท อ๊อด 89 ฯ จึงให้ตัวแทนไปดำเนินการรับสิ่งของจากผู้นำเข้าทั้งสองราย แต่อุปกรณ์ส่วนควบอื่น ๆ เช่น ฝากระโปรงหน้า-หน้า ไฟหน้า-หลัง ไฟเลี้ยว เบาะ ประตู กันชนหน้า-ท้าย ไม่พบหลักฐานการนำเข้าแต่พบหลักฐานว่าซื้อจาก หจก.สายชลมอเตอร์ ซึ่งจากการตรวจสอบบ้านเลขที่ไม่ปรากฏในสาระบบทะเบียนราษฎร์ สถานที่ประกอบการไม่มีจริง และ หจก. ดังกล่าวก็ไม่มีในสาระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไม่มีในสาระบบของกรมสรรพากร จึงเป็นการทำเอกสารปลอมเพื่อให้เข้าใจว่าอุปกรณ์ ส่วนควบมีที่มาจากการซื้อภายในประเทศ


(2) ขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนขึ้นเป็นรถสมบูรณ์ พบหลักฐานว่า หจก. อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพร์ส ได้ร่วมกับอู่วิชาญ เป็นผู้ประกอบรถยนต์จากเครื่องยนต์ ตัวถังที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 โดยอุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆไม่ปรากฏหลักฐานการนำเข้า ซึ่งการประกอบรถนี้เป็นไปตามการสั่งซื้อของพระรูปหนึ่งใน ราคา 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาท) ในการนี้ หจก. อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพร์ส ได้รับเงินไป 2,500,000 บาท ส่วนอู่วิชาญ ได้รับเงินค่าประกอบ 1,500,000 บาท


ในส่วนการประกอบรถ ทางการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าอู่วิชาญไม่มีใบอนุญาตประกอบอุตสาหกรรม แต่มีการใช้ชื่อ อู่ N.P.การาจ (โรงประกอบรถยนต์ที่จดทะเบียนถูกต้อง) ในการประกอบรถยนต์ดังนั้นการประกอบรถยนต์คันนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 25 นอกจากนั้นยังอาจเป็นความผิดตามมาตรา 162 (1) ในความผิดฐาน ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน อีกฐานหนึ่งด้วย


3) ขั้นตอนการชำระภาษีสรรพสามิต พบหลักฐานว่านายชลัช นิติฐิติวงษ์  เป็นผู้ดำเนินการนำเอกสารชุดประกอบรถยนต์ไปชำระภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 48 (1) ประกอบมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 โดยการปลอมลายมือชื่อนางกาญจนา เจ้าของ อู่ N.P.การาจ (โรงประกอบรถยนต์ที่จดทะเบียนถูกต้อง) แสดงตนเพื่อขอชำระภาษีประกอบรถยนต์, ปลอมลายมือ ในหนังสือมอบอำนาจให้ตนเป็นผู้รับมอบอำนาจและยื่นเอกสารขอจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่ามีการประกอบรถยนต์คันดังกล่าวโดยอู่ N.P.การาจ ทั้งที่ไม่ได้ทำการประกอบรถยนต์จริง ทำให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อแล้วจดแจ้งและรับชำระภาษีตามที่ นายชลัส มายื่นขอ อันเป็นความเท็จและเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527และประมวลกฎหมายอาญา ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม


(4) ขั้นตอนการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก พบหลักฐานว่านายชลัช    นิติฐิติวงษ์  ได้ว่าจ้างนายสมนึก ในการนำรถยนต์ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก มีการปลอมและใช้เอกสารที่มีลายมือชื่อ นางกาญจนา ในแบบคำขอโอนและรับโอนของกรมการขนส่งทางบก (โอนลอย) จาก นางกาญจนา ไปยังพระผู้ใหญ่เพื่อแสดงว่า N.P.การาจ เป็นผู้ขายรถยนต์ต่อให้กับพระผู้ใหญ่ ,มีการปลอมลายมือชื่อนางกาญจนาในหนังสือมอบอำนาจให้ตนดำเนินการแทน, ปลอมและใช้ ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ค่าแรงประกอบ ของ หจก.เอส ที วาย ออโต พาร์ท เพื่อให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่า หจก.เอส ที วายฯ เป็นผู้รับจ้าง N.P.การาจ ในการประกอบรถยนต์ อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น รถยนต์ดังกล่าวจึงไม่สามารถจดทะเบียนเป็นรถยนต์ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และ ระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2531

 


ข้อเท็จจริงจากการสืบสวนดังกล่าว เห็นได้ว่ามีการกระทำความผิดในทุกขั้นตอน กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน กระทำผิดเป็นขบวนการ