ยอดขาดทุน "จำนำข้าว" ทะยานไม่หยุด!! ภาระ "ยิ่งลักษณ์" ยิ่งหนักอึ้งเรื่อย ๆ

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 


ยังคงต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดสำหรับความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการฟ้องร้องค่าเสียหายจากนโยบายรับจำนำข้าว   โดยกระบวนการทางกฎหมายพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ  นอกจากคดีความอาญาซึ่งอยู่ในชั้นการไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยซึ่งมีความคืบหน้าเป็นลำดับเช่นกัน 

 

 

 


โดยกรณีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย  สำหรับผู้เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนร่วมทำให้ประเทศได้รับความเสียหายในกรณีดังกล่าว  สามารถแยกได้เป็น  2 กลุ่มหลัก  ตามห้วงระยะเวลาดำเนินการซึ่งถูกกำหนดโดยอายุความและมูลค่าจำนวนเงินที่อยู่ในข่ายต้องชดใช้คืนแผ่นดินแตกต่างกันตามมูลฐานความผิด

 


เริ่มจาก 1.กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และผู้เกี่ยวข้อง ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าข้อมูลเกี่ยวกับการปริมาณข้าวค้างสต็อกในส่วนองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตรกร  (อ.ต.ก.)  ได้ส่งถึงคณะคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง    ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานแล้ว และคาดหมายว่าจะมีสรุปรายละเอียดทั้งหมดภายในเดือนมี.ค. 2559   หลังจากคณะกรรมการได้มีการประชุมไปแล้วกว่า 10 ครั้ง และเมื่อมีข้อสรุปเกี่ยวกับตัวเลขความเสียหายแล้ว  จะมีการรายงานผ่านรมว.คลัง  เพื่อเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี  เพื่อสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เรียกเก็บค่าเสียหายต่อไป

 


2..กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี มีรายงานว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว  ที่มี นาย จิรชัย  มูลทองโร่ย   รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน  ได้ส่งข้อมูลไปที่กระทรวงการคลังเพื่อประมาณการความเสียหายเบื้องต้นแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง  และคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนก.ค. 2559   จากนั้นจะนำรายละเอียดเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เพื่อพิจารณาสั่งการให้รมว.คลังเรียกเก็บค่าเสียหายกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อไป

 


ชัดเจนว่าการดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บค่าเสียหายจากผลกระทบที่เกิดจากนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนความผิด 

 


คือ 1. กรณีทุจริตขายข้าวแบบ G to G  มีผู้ถูกกล่าวหา 28 ราย ประกอบด้วย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก   และมีเอกชนเกี่ยวข้องด้วย 22 ราย 

 


โดยก่อนหน้านี้   นายมนัส แจ่มเวหา  อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่ง โครงการรับจำนำข้าว ได้อธิบายถึงกระบวนการพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่กระทำผิดในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ  โดยเฉพาะนายบุญทรง และพวกรวม 6 คน คาดว่าจะมีตัวเลขชัดเจนในเดือน มี.ค.นี้ ว่าแต่ละคนต้องรับผิดชอบความเสียหายใช้คืนให้กับรัฐเท่าไร  

 


ส่วนกรณีเรียกค่าเสียหายจากเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวแบบจีทูจี วงเงิน 20,000 ล้านบาท หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะยื่นคำร้องให้อัยการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อไป   เพราะคณะกรรมการรับผิดทางแพ่งไม่มีอำนาจไปดำเนินการฟ้องร้องต่อเอกชนโดยตรง

 


2. กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต  จะมีน.ส.ยิ่งลักษณ์   ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี  เป็นผู้ถูกกล่าวหาเพียงคนเดียว ส่วนมูลค่าความเสียหายที่ต้องรับผิดชอบจะอยู่ในสัดส่วนมูลค่าเท่าใด  แม้จะยังไม่มีการยืนยันข้อสรุปชัดเจน    แต่มีตัวเลขพิจารณาประกอบจากข้อมูลการปิดบัญชีที่ผ่านๆ มา  ว่ามียอดรวมกว่า  5.36  แสนล้านบาท  ณ  การปิดบัญชีรอบวันที่  30  ก.ย.  2558 

 


 

โดยลำดับข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายจำนำข้าว  ซึ่งมีการบันทึกไว้มีรายละเอียด   ดังนี้

 


1.การปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2547 จนถึงวันที่ 22 พ.ค.2557 จำนวน 15 โครงการ พบว่ามีผลขาดทุนประมาณ 6.82  แสนล้านบาท  จากต้นทุนโครงการที่รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท   แยกเป็นการดำเนินโครงการโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ระยะเวลา 3 ปี   จำนวน 4 โครงการ  คิดเป็นผลขาดทุนจำนวน   5.18  แสนล้านบาท    ส่วนที่เหลือ 11 โครงการ    ซึ่งดำเนินการตั้งแต่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร   มีผลขาดทุนประมาณ  1.64 แสนล้านบาท

 


2.การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว  จนถึงวันที่   30 กันยายน 2558   ปรากฏว่ามียอดขาดทุนประมาณการณ์สูงกว่าการปิดบัญชีงวด  30 กันยายน 2557     โดยมียอดขาดทุน  6.99  แสนล้านบาท    แยกเป็น  11  โครงการก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์มูลค่า   1.63 แสนล้านบาท และอีก 4   โครงการที่เกิดขึ้นในยุคสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จำนวน  5.36 แสนล้านบาท

 


ขณะที่ล่าสุด  นายสมชัย สัจจพงษ์  ปลัดกระทรวงการคลัง  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวรอบวันที่  30 ก.ย. 2558   ยอมรับว่าผลขาดทุนสุทธิได้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมแม้ว่าปริมาณข้าวจะไม่มีหายไปจากโกดังตามกระแสก็ตาม เนื่องมาจากผลกระทบเรื่องค่าเสื่อมราคา โดยข้าวในสต็อกปัจจุบันมีคุณภาพเสื่อมลงเรื่อย ๆ  ทำให้การะบายข้าวในราคาสูงไม่ใช่เรื่องง่าย   ในขณะที่ตัวเลขการขายข้าวปัจจุบันของภาครัฐมีราคาต่ำกว่าราคารับจำนำอย่างมาก   ไม่นับรวมเรื่อง   

 

 

ค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ย , ค่าเช่าโกดัง ฯลฯ  แต่ตัวเลขการขาดทุนจะเพิ่มขึ้นเท่าใด  ยังไม่สามารถเปิดเผยได้  แต่เบื้องต้นประมาณการว่าจะไม่เกิน  1 แสนล้านบาท    โดยหลังจากนี้จะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบทันที และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) รับทราบต่อไป

 


นอกจากนี้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ  จะเสนอแนวทางการบริหารข้อมูลข้าวกับ นบข.เพื่ออนุมัติให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลโดยเฉพาะเนื่องจากที่ผ่านมาอุปสรรคของการปิดบัญชีมีปัญหาจำนวนมาก  ทั้งฐานระบบข้อมูลที่ต้องนำมาใช้ในการปิดบัญชี ซึ่งจะเสนอให้มีการบริหารฐานข้อมูลปิดบัญชี   การบริหารสต็อกข้าว  และการบริหารด้านอื่นที่เกี่ยวกับข้าว   เพื่อให้การปิดบัญชีข้าวของฤดูกาล  ในปีงบประมาณ 2559   สามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งจะเสนอให้ประชุมปิดบัญชีข้าวไตรมาสละครั้ง ซึ่งจะทำให้ปิดบัญชีได้รวดเร็วมากขึ้น

 


ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จะได้เสนอรัฐบาลตั้งงบประมาณชดเชยความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวภายใน 4 ปี ส่วนการกำหนดการเริ่มต้นใช้คืนหนี้นั้นจะขึ้นอยู่กับรายได้ของรัฐบาล และสถานะของรัฐบาลในอนาคตต่อไป  และกับการพิจารณารับผิดทางแพ่ง คงขึ้นอยู่กับนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธาน ว่า  จะใช้ข้อมูลการปิดบัญชีนี้มาประกอบเรียกความเสียหายจากน.ส.ยิ่งลักษณ์และผู้เกี่ยวข้องหรือไม่

 


ต้องติดตามตัวเลขสรุปผลการปิดบัญชีสุทธิรอบวันที่  30 ก.ย. 2558 ว่าผลการดำเนินนโยบายข้าวที่ผ่านมาแต่ละยุคสมัยมีตัวเลขขาดทุนรวมเท่าไร  โดยเฉพาะในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์  ที่มีมูลค่าเดิมอยู่ที่  5.36 แสนล้านบาท  และการขาดทุนที่เพิ่มขึ้นตามข้อมูลคณะอนุกรรมการฯปิดบัญชีก็คือสิ่งตอกย้ำว่าภาระความเสียหายที่กระทรวงการคลังจะเรียกคืนจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ก็จะเพิ่มมากกว่า 5.36 แสนล้านด้วย