"สปท." เล็งขึ้นภาษีน้ำอัดลม-ชาเขียว  หวัง!! "ปชช." ลดความเสี่ยงโรคอ้วน-ความดัน!?

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tnews.co.th

           เมื่อวานนี้ (26 เม.ย. 59) ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  นำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาผลการรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม  เรื่อง "การป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ ในประเด็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ"

           โดยรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  ได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลมชาเขียวกาแฟเครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินมาตรฐานที่กำหนด โดยจัดเก็บภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาลคือ ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20%ของราคาขายปลีกและปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25%ของราคาขายปลีก เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูงเบาหวาน โรคหัวใจ ที่สร้างภาระให้ประเทศเสียค่าใช้จ่ายจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก เพราะเครื่องดื่มในท้องตลาดเกือบทั้งหมด มีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อมิลลิลิตร อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

                ทางด้าน แพทย์หญิงพรพันธุ์ บุญยรัตพันธ์ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการที่จำเป็นต่อภาวะที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพกล่าวว่าปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาล 100 กรัม/คน/วัน ถือว่าเกินมาตรฐานสุขภาพที่กำหนดให้บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 50 กรัมต่อคนต่อวัน ถือเป็นอันดับ 9 ของโลกที่บริโภคน้ำตาลสูงสุด เป็นการบริโภคมากเกินความจำเป็น

               ทั้งนี้ ปริมาณเครื่องดื่มสำเร็จรูปต่างๆที่วางจำหน่ายมีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 9-19 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ทั้งที่ค่าน้ำตาลเหมาะสมอยู่ที่ 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จึงควรเพิ่มภาษีในเครื่องดื่มที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่มีความเสี่ยงให้เกิดโรคอ้วน และโรคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินมาตรฐานในอัตรา20%เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโรคได้ศึกษาไว้ว่า มีผลช่วยลด การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้ หลายประเทศที่มีการเก็บภาษีดังกล่าวเช่น เม็กซิโก ฮังการี ก็ช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่ม ที่มีน้ำตาลได้

                ทั้งนี้ หลังจากสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  อภิปรายครบถ้วนแล้ว ในที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  ลงมติเห็นชอบรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 153 ต่อ 2 งดออกเสียง 6 โดยให้ส่งรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป