ย้อนรอย "ธัมมชโย" บีบเกมถอนฟ้องคดีอาญาปี 49 เทียบการต่อสู้คดีปี 59 !!!

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 

 

น่าจะเป็นประเด็นร้อนในช่วงเทศกาลวันสำคัญทางศาสนา  “วิสาขบูชา”  ที่จะมาถึงในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้  หลังจาก สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย  ออกแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินคดีกับพระเทพญาณมหามุนี   หรือ พระธัมมชโย

 

 

 

 

พร้อมปลุกระดมให้ลูกศิษย์ลูกหาดำเนินการเคลื่อนไหวกดดันดีเอสไอในหลากหลายรูปแบบ  ก่อนกำหนดนัดหมายเข้ารับฟัง 2 ข้อกล่าวหา  คือ ฟอกเงิน  และรับของโจร  รอบที่ 3 จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

 


ขณะที่ประเด็น 5 ข้อเหตุผลที่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างหรือข้อต่อสู้ของสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย   ประกอบด้วย

1. ในสำนวนคดีพิเศษที่ 146/2556 พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) มีฐานะเป็นพยานในคดี

2. นายธรรมนูญ อัตโชติ ได้กล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร ว่ากระทำความผิดฐานฟอกเงิน และกล่าวหาพระเทพญาณมหามุนี ว่ากระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ทำสำนวนแยกขึ้นมาเป็นคดีพิเศษที่ 27/2559 อีกคดีหนึ่ง

 


ซึ่งซ้ำซ้อนกันกับคดีพิเศษที่ 146/2556 และ 63/2557 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนไม่ทำตามคำสั่งของพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ โดยการที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้แยกมูลคดีบางส่วนออกจากคดีเดิม มาตั้งเป็นสำนวนคดีพิเศษใหม่ที่ 27/2559 จึงเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อน ขัดต่อหลักกฎหมายที่ว่า “กรรมเดียวจะดำเนินคดีซ้ำซ้อนไม่ได้” ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 


3.พระเทพญาณมหามุนี รับบริจาคโดยเปิดเผย ท่ามกลางคนจำนวนมาก และการรับบริจาค ของวัด ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศล และพระภิกษุ ซึ่งเป็นบุคลากรสาธารณกุศล เพื่อนำปัจจัยที่ได้รับบริจาคไปใช้ในกิจการทางศาสนา เช่น สร้างศาสนสถาน หรือศาสนวัตถุ ซึ่งในกรณีนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้รับบริจาค และผู้บริจาค อันเป็นกิจการโดยทั่วไปที่เกี่ยวกับศาสนาโดยเปิดเผย และบุคคลทั่วไปรวมทั้งผู้บริจาคสามารถตรวจสอบได้ ย่อมไม่เป็นความผิดฐานฟอกเงิน หรือรับของโจร

 


4. นายศุภชัยฯ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เงินที่นำมาบริจาคทำบุญให้กับวัดพระธรรมกาย และพระเทพญาณมหามุนีนั้น เป็นเงินยืมมาจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ และได้ใช้คืนเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด ครบถ้วนแล้ว

 


5. คณะศิษยานุศิษย์ของพระเทพญาณมหามุนี ได้ตั้งกองทุนเยียวยาช่วยเหลือให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ ได้รับเงินไปแล้วทั้งหมด 684.78 ล้านบาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 370.78 ล้านบาท

 


คณะศิษยานุศิษย์ฯ ได้มอบเช็คให้แก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ ไปเรียบร้อยแล้ว สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ จึงถอนฟ้องพระเทพญาณมหามุนีและวัดพระธรรมกาย พร้อมทั้งทำหนังสือแสดงเจตจำนงไม่ประสงค์จะดำเนินคดี ทั้งทางแพ่งและทางอาญากับพระเทพญาณมหามุนีและวัดพระธรรมกาย และได้ทำหนังสือขอบคุณมายังคณะศิษยานุศิษย์ของพระเทพญาณมหามุนี

 


ดังนั้น ชาวพุทธจึงเห็นว่า การกระทำของดีเดสไอ ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับพระมหาเถระที่ตั้งใจทำความดี จึงร้องเรียนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเป็นธรรมกับพระสงฆ์ด้วย

 


แน่นนอนว่าถ้าพิจารณาจากข้อกล่าวอ้างสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย เปรียบแล้วก็คือแนวทางการต่อสู้คดีของฝ่ายพระธัมมชโยในอนาคตอันใกล้ และเป็นแนวทางที่วัดธรรมกายเคยใช้ได้ผลมาแล้วกับการต่อสู้คดีของพระธัมมชโยในปี 2549

 


โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549   ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนายสุนพ กีรติกุลผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวน และองค์คณะออกนั่งบัลลังก์ พิจารณาคดีดำ หมายเลขที่ 11651/2542และคดีดำหมายเลข 14735/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระราชภาวนาวิสุทธิ์หรือพระไชยบูลย์ ธัมมชโยหรือนายไชยบูลย์ สิทธิผล อายุ 62 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และนายถาวร พรหมถาวร อายุ 57 ปี ลูกศิษย์คนสนิท เป็นจำเลยที่ 1-2ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยสุจริต และเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

 


โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระอ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และเงิน จำนวน 29,877,000บาทไปซื้อที่ดินเนื้อที่ 902 ไร่เศษ ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 เช่นกัน

 


โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระอ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และเงิน จำนวน 29,877,000บาทไปซื้อที่ดินเนื้อที่ 902 ไร่เศษ ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 เช่นกัน

 


โจทก์ขอเรียนว่าการดำเนินคดีนี้ สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่มีว่า ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสั่งสอนโดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้พระสงฆ์ที่หลงเชื่อคำสอนบิดเบือนแตกแยกออกไปกลายเป็นสองฝ่าย มีความเข้าใจความเชื่อถือ พระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาทำให้พระสงฆ์แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบัน และอนาคตที่หนักส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษแต่เป็นการทำที่ถูกต้องคือ ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที (5 เมษายน .2542)

 


ในชั้นต้นหากมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริง ๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นพระคืนให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่า ต้องอาบัติ ปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระ ปลอมเป็นพระด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครองทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ให้พระพุทธศาสนา

 


คำร้องถอนฟ้องระบุต่อไปว่า บัดนี้ ข้อเท็จจริงในการเผยแพร่คำสอนปรากฏจากอธิบดีกรมการศาสนาผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลขาธิการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 1 ว่า ในปัจจุบันจำเลยที่ 1กับพวก ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎก และนโยบายของคณะสงฆ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนาทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก

 


สำหรับในด้านทรัพย์นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1กับพวกได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000 บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว

 


"ประกอบกับขณะนี้บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่าเห็นว่า หากดำเนินคดีจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรโดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณรและประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนคดีนี้ ดังนั้น โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทุกข้อกล่าวหาขอศาลโปรดอนุญาต" คำร้องระบุ

 


ศาลได้สอบถามว่าจำเลยทั้งสองจะคัดค้านหรือไม่ จำเลยทั้งสองแถลงว่า ไม่คัดค้านพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ก่อนศาลมีคำพิพากษา เมื่อจำเลยทั้งสองคนไม่คัดค้านที่โจทก์ถอนฟ้องจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.35จึงอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง และจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความของศาลอาญา

 


นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อธิบดีอัยการคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่าการถอนฟ้องคดีก่อนศาลจะมีคำพิพากษาสามารถทำได้ ซึ่งในอดีตอัยการสูงสุด เคยยื่นคำร้องแล้วเช่นกัน ความผิดพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ  คดีกบฏผู้ก่อการร้าย

 


อย่างไรก็ดีสำหรับยักยอกทรัพย์วัดพระธรรมกายที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญามีเพียง 2 คนเท่านั้นคงเหลือสำนวนคดียักยอกทรัพย์ที่รอการสั่งคดีในชั้นอัยการอีก 3 สำนวน ประกอบด้วย


1.คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ นางกมลศิริ คลี่สุวรรณ และนายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค ลูกศิษย์คนสนิท เป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเบียดบังเงินวัด จำนวน 95 ล้านบาทเศษไป ซื้อที่ดิน

2.คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์นางสงบ ปัญญาตรง นายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค และนายชาญวิทย์ ชาวงษ์ ลูกศิษย์คนสนิท เป็นผู้ต้องหา เบียดบังเงินจำนวน 845 ล้านบาทเศษ

3. คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ร่วมกับนายเทิดชาติ ศรีนพรัตน์ นายมัยฤทธิ์ปิตะวนิค และนางอมรรัตน์ สุวิพัฒน์ หรือสีกาตุ้ย ลูกศิษย์คนสนิท ผู้ต้องหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 


นายอรรถพลกล่าวว่า เมื่ออัยการสูงสุดมีนโยบายให้ถอนฟ้อง การสั่งคดีของพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ก็จะต้องมีความเห็นให้ยุติการสั่งคดีไว้เนื่องจากการดำเนินคดีจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 78 และ 128โดยเมื่อยุติการสั่งคดีก็ต้องถือว่าคดีนี้สิ้นสุดลงตามกระบวนการทางกฎหมายทันทีซึ่งจำเลยทั้งสองได้คืนที่ดินและเงินที่ก่อความเสียหายรวมมูลค่า 959,300,000 บาทคืนให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว

 


บทสรุปสุดท้ายเมื่อการถอนฟ้องเป็นผล จึงทำให้พระธัมมชโยยังคงเรืองอำนาจในหมู่สงฆ์มาถึงปัจจุบัน..