ทำไมรัฐบาลจึงส่งเสริมสตาร์ทอัพ?

ติดตามข่าวสารเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

เขียนโดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ประชาชนและผู้สนใจที่มีโอกาสและตั้งใจเข้าชมงาน Startup Thailand 2016 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจำนวนมากเริ่มเข้าใจการทำธุรกิจที่เรียกว่า สตาร์ตอัพ ไม่ใช่เพียงฟังบรรยายและชมนิทรรศการ แต่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับสตาร์ตอัพตัวจริง และกับนักลงทุนในระบบสตาร์ตอัพ
 
การที่รัฐบาลขับเคลื่อนการพัฒนาสตาร์ตอัพนั้น หากเข้าใจถึง “แก่น” ของระบบสตาร์ตอัพ ก็จะไม่เข้าใจไขว้เขว ว่าจะเฟ้อ หรือลงทุนไม่คุ้มค่า
 
เพราะการลงทุนส่วนใหญ่ในระบบนี้มาจากนักลงทุนที่มองเห็นศักยภาพของ สตาร์ตอัพ และประสงค์จะลงทุนแบบ “กิจการร่วมทุน” ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะประคองและรับความเสี่ยงร่วมกันกับสตาร์ตอัพเอง ดังนั้นบทบาทของรัฐ จึงเป็นการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ทั้งสตาร์ตอัพ และนักลงทุนประเภทนี้ ที่เรียกว่า “เวนเจอร์แคปิตอล” แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของกลไกตลาดทำงานร่วมกับนวัตกรรมความสร้างสรรค์ของสตาร์ตอัพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่
 
ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป  โลกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรม ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มอุ้ยอ้าย และตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน หลายแห่งถูกนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่แซงและขัดจังหวะ จนล้มละลายไปก็มี เพราะเทคโนโลยีล้าสมัยไปในชั่วพริบตา บริษัทใหญ่จึงเริ่มหันมามองศักยภาพของสตาร์ตอัพ หลายแห่งเริ่มบ่มเพาะหรือเข้าซื้อกิจการก็มี
 
สถิติของสตาร์ตอัพทั่วโลกก็บอกเราเช่นเดียวกัน ว่าสตาร์ตอัพที่จะประสบความสำเร็จในรอบแรกๆนั้น มีเพียงร้อยละ 10 หรือ 20 เท่านั้น โดยเปอร์เซ็นต์แรกๆ จะกลายเป็นธุรกิจมูลค่าสูงมากหรือกระทั่งแม้เป็นธุรกิจระดับโลก แต่มิได้หมายว่าว่า ที่เหลือจะตกเวทีที่หายวับไป ตรงกันข้ามประเทศที่ก้าวหน้าในการพัฒนาสตาร์ตอัพอย่าง อิสราเอล ระบบของเขาให้โอกาสสตาร์ตอัพปรับปรุงหรือปรับแนวจนสำเร็จ แม้ในรอบที่ 4 หรือ 5 ก็มี ดังนั้นการที่ผมตั้งฐานสตาร์ตอัพไว้ที่ 5,000 หรือ 10,000 รายในปลายปีนี้และปลายปีหน้า จึงเป็นการวางฐานสตาร์ตอัพให้เกิดโอกาสและขยายตัวแก่คนรุ่นใหม่ แต่จะสำเร็จกี่มากน้อยก็อยู่ที่ฝีมือและนวัตกรรมของแต่ละคน
 
ต้องเข้าใจเช่นเดียวกันว่า สตาร์ตอัพนั้นมีหลายระดับหลายขั้นตอน หากเริ่มต้นใหม่ๆมีความคิดดีๆ ก็เป็นสตาร์ตอัพเริ่มต้นด้านความคิด ถัดมาก็เริ่มมีต้นแบบ หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ ทั้งที่มีเทคโนโลยีหรือมีการคิดค้นระบบใหม่ๆ มีการคิดค้นการบริหารจัดการที่ตลาดต้องการ ตัวเลขเป้าหมายดังกล่าว จึงเป็นการให้โอกาสสตาร์ตอัพเริ่มต้นให้กล้าคิดกล้าสร้างสรรค์ แม้จะยังไม่สามารถระดมทุนได้ก็ตาม 

 

ในกรณีที่นวัตกรรมเริ่มติดตลาด ก็จะเริ่มมีการระดมทุนจากน้อยไปหามากอีก 3 – 4 ระดับ สูงสุดจึงจะเป็นสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จสมบูรณ์แบบที่เรียกว่า “ยูนิคอร์น” ดังนั้น เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ส่วนใหญ่ จึงเป็นสตาร์ตอัพเริ่มต้นหรือสตาร์ตอัพความคิด

มาตรการที่รัฐบาลส่งเสริมสตาร์ตอัพ จึงเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมความสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมมากๆ รวมทั้งส่งเสริมโดยใช้แรงจูงใจทางภาษีให้เอกชนที่มีทุนหันมาสนับสนุนสตาร์ตอัพไทยให้มากขึ้น หาไม่แล้วของดีๆมีราคาของเราก็จะไปโผล่หาทุนในประเทศอื่น นอกจากนี้รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องสร้างตัวอย่างของชุมชนสตาร์ตอัพ เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพี่ๆน้องๆสตาร์ตอัพ รวมทั้งเป็นแหล่งที่นักลงทุนจะมามองหานวัตกรรมเพื่อจับคู่ลงทุนกันต่อไป ถึงได้ยกตัวอย่างสยามสแควร์ในกรุงเทพฯ และถนนนิมมานเหมินทร์ ที่เชียงใหม่ เชื่อว่าเมื่อมีตัวอย่างแล้ว เอกชนก็จะจัดตั้งชุมชนสตาร์ตอัพกันเอง สัญญานแบบนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเอกชนเริ่มรวมตัวกันเอง จัดงานสตาร์ตอัพ หลังจากเรียนรู้จากงานสตาร์ตอัพไทยแลนด์ที่กรุงเทพฯ
 
โดยสรุป รัฐบาลกำลังสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงาน / นวัตกรรมไทยสามารถเกิดในภูมิภาคได้ / สตาร์ตอัพมิได้ใช้ระบบสินเชื่อหรือกู้ยืมโดยมีการค้ำประกันแบบผู้ประกอบการปกติหรือเอสเอ็มอี แต่ใช้การลงทุนแบบกิจการร่วมทุนของเวนเจอร์แคปิตอล / สตาร์ตอัพใช้ทักษะทางไอซีทีสูงมาก ทั้งที่ใช้เพื่อเป็นช่องทางการตลาด หรือให้บริการแก่ลูกค้า หรือเป็นสตาร์ตอัพด้านไอซีทีโดยตรงก็มี / ลูกค้าของสตาร์ตอัพอาจอยู่ในภาคเกษตร การเงิน ท่องเที่ยว การศึกษา ฯลฯ
 
ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากฐานเศรษฐกิจสตาร์ตอัพเพิ่มเติมจากฐานเศรษฐกิจอื่นๆที่มีอยู่แล้ว