หมุนไม่ทัน! "ผู้ปกครอง" แห่เข้าโรงตึ๊ง หาเงินจ่ายค่าเทอมบุตร-หลาน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tnews.co.th

               เมื่อวานนี้ (10 พ.ค. 59) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การสำรวจผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม จากกลุ่มตัวอย่าง 1,210 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค. 2559  ช่วงเปิดเทอมปีนี้คาดมีเงินสะพัดกว่า 49,145.10 ล้านบาท ขยายตัว 2.3% จากปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวดีที่สุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 แต่ยังเป็นการขยายตัวในระดับต่ำ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังมีการระมัดระวังการใช้จ่าย เศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่

                อย่างไรก็ตาม ก็มีสัญญาณบวกเล็กน้อยจากการที่ผู้ปกครองมีการซื้อของให้บุตรหลานมากชิ้นขึ้น โดย 39.5% ระบุว่า ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 30.4%  ซื้อเท่าเดิม และซื้อสินค้าในช่วงเปิดเทอมน้อยลง 30.1% สะท้อนความมั่นใจที่ขยับขึ้นมาในทางที่ดี

               ถ้าหากรัฐยังคงรักษาระดับเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง จะเป็นทิศทางที่ดีของเศรษฐกิจได้ และการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนี้ ประมาณ 50,000 ล้านบาทจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ประมาณ 0.1 - 0.2% ซึ่งได้รวมกับการประมาณการเศรษฐกิจที่มีคาดการณ์ว่าในปีนี้จะขยายตัวได้ 3 - 3.5% แล้ว

                ทั้งนี้ การใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 2559 ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 40.1% จะใช้จ่ายเรื่องค่าเล่าเรียน/ค่าหน่วยกิต รองลงมา 29.1% เป็นงบค่าบำรุงโรงเรียน ในเรื่องของเงินที่ใช้จ่าย ผู้ปกครอง 48.7% ระบุว่ามีเพียงพอ และผู้ปกครอง 51.3% ระบุว่ามีเงินไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ซึ่งวิธีแก้ คือส่วนใหญ่ 32.8% นำทรัพย์สินไปจำนำ 21.5% ยืมญาติพี่น้อง รองลงมาคือ กู้นอกระบบ กู้ในระบบ ฯลฯ

                จากการตรวจสอบ พบว่า บรรดาผู้ปกครองนักเรียนจำนวนมากต่อคิวนำทรัพย์สินมีค่า ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ไปจำนำกับสถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำ เพื่อนำเงินสดไปหมุนเวียนในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ สำหรับใช้จ่ายเป็นค่าอุปกรณ์การศึกษา เครื่องแบบและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอม ทำให้โรงรับจำนำแต่ละแห่งต้องสำรองเงินเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว