ส่อวุ่นเสียแล้ว!!! 6 ชาติก่อตั้ง EU เร่งไล่ "อังกฤษ" ขณะผู้ดี 3 ล้านขอประชามติใหม่

ติดตามข่าวสารที่ www.Tnews.co.th

 

ส่อวุ่นเสียแล้ว!!! 6 ชาติก่อตั้ง EU ออกมากดดันให้สหราชอาณาจักรเริ่มต้นแยกตัวออกจาก EU โดยเร็วที่สุด หลังรู้ผลประชามติแล้ว ขณะชาวเมืองผู้ดีกว่า 3 ล้านได้เข้าชื่อ ขอให้มีการประชามติใหม่ อ้างเพราะมีผู้ใช้สิทธิน้อยกว่าร้อยละ 75

 

วันนี้ (27 มิ.ย.) สื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ 6 ชาติสมาชิกก่อตั้งสหภาพยุโรป (อียู) ออกมากดดันให้สหราชอาณาจักรเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูโดยเร็วที่สุด หลังผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนชี้ว่า อังกฤษต้องการออกจากอียู โดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ 6 ชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งประกอบไปด้วยเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียมและลักเซมเบิร์ก ต่างหารือถึงผลกระทบจากการลงประชามติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน โดยทางฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอียูในเบลเยียมต้องการให้ทางอังกฤษเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนด้วยการใช้กฎหมายมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนในกระบวนการออกจากการเป็นสมาชิกอียูให้เร็วที่สุด


นายแฟรงค์-วอลเตอร์ ชไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีบอกว่า กระบวนการดังกล่าวควรเริ่มในทันที และให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางตันในภายหลัง โดยหลายฝ่ายคาดว่าจะมีแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อตัวนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ที่จะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของสมาชิกอียูในวันอังคารที่จะถึงนี้ในการให้เร่งดำเนินการ หลังจากก่อนหน้านี้ นายคาเมรอนซึ่งประกาศจะลาออกในเดือนต.ค.นี้ ย้ำว่า จะดำเนินขั้นตอนการออกจากสมาชิกอียูโดยใช้กฎหมายมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน และจะให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคนต่อไปดูแลรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมัน ได้กล่าวให้ความเห็นขัดแย้งกับที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอียู 6 ชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งว่า เธอไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งรีบให้อังกฤษเริ่มต้นกระบวนการออกจากการเป็นสมาชิกอียูทันที โดยย้ำว่าเธอไม่ต้องการกดดันอังกฤษหลังจากนายคาเมรอนประกาศชัดเจนว่า จะยังไม่เริ่มดำเนินการใดๆ จนกว่าจะถึงเดือนตุลาคมไปแล้ว และว่าการเจรจาในประเด็นดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้น เหมือนการเจรจาทางธุรกิจทั่วไป ที่มีบรรยากาศที่ดี อังกฤษจะยังคงเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของอียูต่อไป

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง จนถึงขณะนี้ ประชาชนในสหราชอาณาจักรกว่า 3ล้านคนได้ลงนามเรียกร้องให้จัดทำประชามติครั้งที่ 2 เพราะไม่เห็นด้วยกับผลประชามติรอบแรก โดยระบุว่าผลการลงมติไม่ชนะขาดได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 60 และมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทั้งหมดต่ำกว่าร้อยละ 75 ทำให้ควรมีการจัดการทำประชามติอีกครั้ง สำหรับการลงประชามติในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมามีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ ร้อยละ 72 มากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ร้อยละ 66 แต่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ขณะที่ฝ่ายรณรงค์ให้สหราชอาณาจักรออกจากอียู ชนะด้วยคะแนน ร้อยละ 52 ต่อร้อยละ 48

 

ขณะที่นายจอร์จ โซรอส นักลงทุนการเงินมหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี เตือนว่า การที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปหรืออียู จะทำให้อียูล่มสลายแบบไม่สามารถหวนคืนกลับมาได้อีก แต่เขาก็เรียกร้องให้อียูเดินหน้าบูรณะซ่อมแซมอย่างเต็มกำลังเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของอียูเอาไว้ โดยก่อนหน้าที่จะถึงวันลงประชามติ ในวันพฤหัสบดีที่แล้ว พ่อมดทางการเงินโซรอสได้เตือนว่า หากสหราชอาณาจักรลงมติตัดสินใจออกจากอียู สถานะการเงินของอังกฤษจะล่มสลาย และในความเห็นล่าสุด เขาได้ระบุว่า ผลกระทบจากการตัดสินใจครั้งนี้จะทำลายอังกฤษ ท้ายที่สุดแล้ว อังกฤษอาจจะมีหรืออาจจะไม่ได้มีสถานะที่ดีกว่าประเทศอื่นๆก็ได้ แต่ว่า เศรษฐกิจและประชาชนจะได้รับผลกระทบแง่ลบอย่างชัดเจนในระยะสั้นและระยะยาว