สนธิญาณฟันธง!! "ร่างรธน." ผ่านถล่มทลาย-นปช.-พท.-ปชป.ส่อหน้าแหก-มั่นใจ "นายกฯ" ไม่ชงตั้งพระสังฆราชตาม "มส."

สนธิญาณชี้เปรี้ยง!!!! ร่างรธน.ผ่านประชามติ-แถมชนะแบบถล่มทลาย เหตุคนหนุน"ประยุทธ์-ไม่ชอบนักการเมือง" -ชี้ "นปช .-พท.-ปชป. ส่อหน้าแหก -"ระบอบทักษิณ"เหี้ยนเต้ -มั่นใจนายกฯไม่เสนอตั้ง"พระสังฆราช"ตามมส.เ

สนธิญาณชี้เปรี้ยง!!!! ร่างรธน.ผ่านประชามติ-แถมชนะแบบถล่มทลาย  เหตุคนหนุน"ประยุทธ์-ไม่ชอบนักการเมือง" -ชี้ "นปช.-พท.-ปชป. ส่อหน้าแหก -"ระบอบทักษิณ"เหี้ยนเต้ -มั่นใจนายกฯไม่เสนอตั้ง"พระสังฆราช"ตามมส.เสนอ เหตุยังมีคดีความ

 

 

 

ยุคล : สวัสดีครับ ต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาช่วงเวลาของรายการยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบนะครับ ค่ำคืนนี้วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2559 คุณผู้ชมยังคงอยู่กับผมยุคล วิเศษสังข์ เช่นเดิมนะครับ และแขกรับเชิญคนเดิมนะครับ ไม่ใช่ใครคนอื่นคนไกลนะครับ พี่ต้อย สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผอ.สำนักข่าวทีนิวส์ นะครับ เราไปทักทายพี่ต้อยกันก่อนเลยนะครับ สวัสดีครับพี่ต้อยครับ

 

สนธิญาณ : สวัสดีครับ

 

ยุคล : เรื่องที่เราจะถกกันในวันนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง เป็นเรื่องที่กำลังฮอตเหลือเกิน ประชามติใกล้เข้ามาแล้วประชาชนมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เหลือเวลาเพียง 26 วัน ไม่มากไม่น้อย และมีคำถามว่าท้ายที่สุดแล้ว 7 สิงหาคมนี้ ผลของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ ซึ่งเป็นหัวข้อแรกที่เราจะได้คุยกับพี่ต้อยว่า "รัฐธรรมนูญผ่านไม่ผ่าน ฟังสนธิญาณฟันธง" เรื่องที่สองที่เราจะถกกันในวันนี้เป็นเรื่องที่คุณสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ออกมาแถลงมติของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชของเถระสมาคมนั้นไม่ขัดมาตรา7 แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่นาที ท่านนายกรัฐมนตรีก็ออกมาแถลงว่า ในเมื่อขั้นตอนยังมีปัญหาอยู่ซึ่งหน้าจะหมายถึงเรื่องรถเบนซ์หรูของสมเด็จช่วงก็ไม่สามารถแต่งตั้งได้ชื่อว่า "สังฆราชองค์ใหม่ยังไงก็ไม่ตั้ง" 2 เรื่องวันนี้ดุเด็ดเผ็ดร้อนแน่นอน

 

สนธิญาณ : หัวข้อวันนี้ผมคิดว่าท่านผู้ชมคงจะมีความเห็นได้อย่างเรียกว่าเต็มที่ เพราะอยากจะถามว่าในวันที่ 7 สิงหาคม จะไปลงประชามติรับหรือไม่รับ ต้องการโพลที่เป็นความเห็นของท่านผู้ชม จะเป็นความเห็นผ่าน sms ทางทีนิวส์ทีวี หรือจะเป็นความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก เดี๋ยวจะได้มาประมวลเรื่องกันสำหรับความเห็นของผมจะเป็นอย่างไร นี่ไม่ใช่การชี้นำแต่จะวิเคราะห์จากข่าวสารที่เกิดขึ้นให้ได้รับทราบ

 

ยุคล : วันนี้มีคำถามเดียวจริง ๆ ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติกันใน 7 สิงหาคมนี้ ถามกันมาเยอะว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน

 

สนธิญาณ : จะผ่านหรือไม่มีหลายประเด็นที่ต้องมาดูกัน ก็คือว่าสถานการณ์ที่เป็นมานั้นเกี่ยวข้องกับวันที่ 7 สิงหาคม เพราะทุกคนก็คิดว่าวันนั้นเป็นประเด็นที่จะนำพาไปสู่การชี้ขาดหรือชี้ชะตาของบ้านเมือง แต่ผมเรียนกับท่านผู้ชมนะครับว่า ไม่หรอกครับ วันที่ 7 สิงหาคม ไม่ได้เป็นการชี้ชะตาของบ้านเมือง เพราะคนที่จะชี้ชะตาของบ้านเมือง ณ เวลานี้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามว่าสนธิญาณพูดแบบนี้เอาความหวังทั้งสิ้นของประเทศไปให้กับ พล.อ.ประยุทธ์หรืออย่างไร ไม่ใช่หรอกครับ จนถึงวันนี้ผมเรียนท่านผู้ชมได้ว่า ที่ยืนพูดปาวๆอยู่ได้ เรียกว่าพูดด้วยความมั่นอกมั่นใจในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในแง่ของความตั้งใจ ความบริสุทธิ์ใจ มีผลสัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่การหนุนของประชาชน มีความมั่นใจที่จะดูแลประเทศเพราะมีประชาชนหนุนพล.อ.ประยุทธ์อยู่ เหมือนกับเป็นวงจรลูกศร

 

ยุคล : เอาอะไรมาวัดครับ

 

สนธิญาณ : เหมือนเป็นวงจรลูกศรทางการเมือง เพราะพูดด้วยความมั่นใจ เนื่องจากตัวเองสุจริตใจ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องการทำงานก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ ผลของการวัดเรื่องทุจริตคอร์รัปชันต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เรื่องนี้ไม่ต้องไปวัดโพลวัดผลหรอกครับ วัดเอาจากบรรดานักธุรกิจและผู้คนทั้งหลายก็ชัดเจนเลย เพราะว่าการทุจริตคอร์รัปชันที่ผ่านมาพอหัวกระดิกหางก็ส่าย หัวกระดิกคือบรรดานักการเมืองทั้งหลายไม่ว่าพรรคอะไร ต่างทุจริตกอบโกยมาเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง รู้หมดใบอนุญาตแต่ละใบ ใบสัมปทานแต่ละใบ ก็กลายมาเป็นเงินทองหมด ทุกวันนี้ไม่มีนี่ชัด ผลงานทางด้านเศรษฐกิจถึงขนาดถูกโจมตีหลัก ๆ เรื่องราคาข้าวตกต่ำ ราคายางพาราตกต่ำ แต่คนก็เข้าใจได้และอดทนรอที่จะเห็นเศรษฐกิจดีขึ้นตามทีมเศรษฐกิจ ซึ่งวันนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีออกมาได้แสดงฝีมือให้เห็น โดยภาพรวมแบบนี้วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีฐานประชาชนหนุน มาดูต่อในภาพการชุมนุมของมวลมหาประชาชน ประเด็นนี้สำคัญ ผมชีวิตตั้งแต่เป็นนักศึกษามาเรียกว่าอยู่กับการทำม็อบ เคลื่อนไหวชุมนุมเป็นอย่างนั้นมาโดยตลอด เมื่อก่อนหลัง 14 ตุลา มีคนมาชุมนุม 30,000 - 50,000 คน จะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ปรากฏว่าตอนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยช่วงเป่านกหวีดได้กว่า 100,000 คน เสื้อแดงปี 2553 ระดมมาสุด ๆ ทั้ง ส.ส. ทั้งบรรดาคนที่มีอุดมการณ์จริง ก็ได้ 140,000 คน ก็สูสีกับพันธมิตร แต่เป็นที่ยอมรับกันไหมครับว่าม็อบของมวลมหาประชาชน 24 พฤศจิกายน 4 - 5 ล้านคน นี่เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดนะครับ เราได้เห็นภาพของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เดินไปตามท้องถนนในเขตกรุงเทพฯ คนออกมาถือธนบัตรส่งให้ทุกเส้นถนนเต็มไปหมดทั้งสองข้างทาง ปรากฏการณ์เหล่านี้ละทิ้งไม่ได้ คนออกมาทำไมครับ รักคุณสุเทพหรือครับ ก็ไม่ใช่ครับเขามารักทีหลัง เขาออกมาเพราะทนกับระบอบทักษิณไม่ได้

 

ยุคล : โดยเฉพาะเรื่องของร่างนิรโทษกรรม

 

สนธิญาณ : และถ้าย้อนไปเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันและสิ่งที่ระบอทักษิณทำให้กับประชาชนนั้นรับไม่ได้ ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์โดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือผู้คนที่อยู่แวดล้อมของคุณอภิสิทธิ์ พยายามแสดงบทบาททางการเมือง แม้จะเป็น ส.ส. ในภาคใต้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ผมบอกเลยว่าในทางการเมืองเดี้ยงเลย การขยายผลในแง่ความรู้สึกของผู้คนที่เคยสนับสนุนม็อบ กปปส. ที่เคยสนับสนุนคุณสุเทพแปรเปลี่ยนมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และเมื่อพรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาที่สวนทาง

 

ยุคล : เหมือนกับเนื้อหารัฐธรรมนูญไม่ยอมรับ

 

สนธิญาณ : ผู้คนเหล่านี้ก็เหวี่ยงไปที่พรรคประชาธิปัตย์เลย ผู้คนในพรรคก็รู้ คุณอภิสิทธิ์ก็รู้ถึงต้องสงบลง ทำให้จตุพรมากระแนะกระแหนอยู่ว่า แสดงออกให้ชัดว่าจะเอาอย่างไร อย่าตีกินอยู่ ฉะนั้นโดยปรากฏการณ์ตามที่เรียนอนุมานได้ว่า คนจำนวนนี้คือคนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

 

ยุคล : แล้วการที่ลุงกำนันออกมา ตอนนี้เฟซบุ๊กไลฟ์ออกมาทุกวันเลยนะครับว่า สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

 

สนธิญาณ : ก็ยิ่งทำให้มีผล ส่วนจะรับไม่รับก็ต้องดูความเห็นของท่านผู้ชม ความเห็นผมมีอยู่แล้วมาแจกแจงให้เห็นภาพว่านี่คือเหตุผลข้อแรกที่ผมเชื่อว่าคนจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสียงส่วนใหญ่จะรับ

 

ยุคล : เพราะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และไม่ชอบบรรดานักการเมืองที่เป็นมาในอดีตและปัจจุบัน

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ เป็นแบบนั้น สิ่งที่เราต้องดูก็คือว่าถ้าคนประมาณ 4 - 5 ล้านคนที่ออกมาชุมนุมตอน กปปส. คนเหล่านี้ออกมาเดินบนท้องถนนเหนื่อยไหมครับ ที่ออกมาเพราะออกมาเอง ออกมาเพราะอยากแสดงความรู้สึก ว่าไม่เอาระบอบทักษิณ ไม่เอาเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องการขจัดตระกูลนี้เองออก กระแสมาเรื่อย ๆ คนก็ยกระดับกันไป ตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนถึงการต่อต้านไม่ยอมรับกระบวนการการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และท้ายที่สุดต่อต้านระบอบทักษิณ นำการปฏิวัติประชาชนแล้ว เราก็มาดูกันต่อครับท่านผู้ชมว่าเมื่อเป็นแบบนี้คนออกมา 4 - 5 ล้านคน แล้วญาติพี่น้องที่อยู่ที่บ้านและที่ใกล้เคียง อาจจะบอกว่ากี่คนกันเชียว ผมก็ต้องกลับมาให้ดูตัวเลขที่น่าสนใจและอยากให้ดู การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

ยุคล : ครั้งล่าสุด 3 กรกฎาคม 2554 ตอนนั้นมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 46,939,549 คน ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,220,208 คน คิดเป็น ร้อยละ75.03 พบว่ามีบัตรเสีย 1,726,768 บัตร คิดเป็นร้อยละ 4.90 บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน  958,213 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.72 ในขณะที่สองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงทั้ง 27,188,110 คะแนน โดยพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียง 15,752,470คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียง 11,435,640คะแนน

 

สนธิญาณ : คะแนนที่คุณยุคลรายงานผมเรียนว่า ผู้มีสิทธิ์ 46 ล้านคน ออกมา 35 ล้านคน ซึ่ง 27 ล้านคนเป็นของสองพรรคนี้ วันนี้อย่างไรก็ตามแต่พรรคประชาธิปัตย์ยังกั๊ก แต่ดูไปดูมาเพื่อไทยก็ 15 ล้านกว่าคน

 

ยุคล : ผลประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ปีพุทธศักราช 2550

 

สนธิญาณ : หลังจากการรัฐประหารเหตุการณ์เหมือนกัน โดยรัฐประหารรัฐบาลคุณทักษิณ กับรัฐประหารรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เหมือนกัน หมายความว่า เป็นการต่อสู้ต่อต้านขจัดระบอบทักษิณเหมือนกัน แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาเหมือนกัน ก็ต้องมาดูต่อว่าถึงนาทีนี้คนมาลงประชามติในครั้งนั้นเสียงเป็นอย่างไรครับ

 

ยุคล : วันนั้น 19 สิงหาคม 2550  จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 45,092,955 คน มีจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิ 25,978,954 คน ซึ่งจะน้อยกว่าการเลือกตั้งทั่วไป มากกว่ากันประมาณ 10 ล้านคนเลยนะครับ คิดเป็นร้อยละ 57.61 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด เห็นชอบ 14,727,306 คน ไม่เห็นชอบ 10,747,441 คน

 

สนธิญาณ : ดูตัวเลขนี้แล้วถ้าพรรคประชาธิปัตย์บวกพรรคเพื่อไทย นักการเมืองทั้งแผงประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หนึ่งคิดว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านไหม

 

ยุคล : ถ้าเอาเชิงตัวเลขก็ไม่ผ่านแน่นอน

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ ถ้าเป็นแบบคุณยุคลว่า ถ้าเอาตัวเลขมาบวกกันแบบง่าย ๆ ไม่ผ่านครับ ทำอย่างไรก็ไม่มีทางผ่านเพราะมาดูคะแนนการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ 15,752,470 คะแนน ประชาธิปัตย์ได้ 11,435,640 คะแนน รวมกันแล้วได้  27,188,110 คะแนน ชนะขาดอยู่แล้ว

 

ยุคล : ถล่มทลายด้วยซ้ำไป

 

สนธิญาณ : แบบนี้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแน่ ถ้าบวกตัวเลขกันง่าย ๆ แบบนี้ แต่การเมืองไม่ใช่แบบนั้น

 

ยุคล : เป็นข้อพิสูจน์ตามที่พรรคเพื่อไทยชอบออกมาพูดว่า มีคนสนับสนุนพรรคว่าจำนวน  15,752,470 คะแนน ก็จะอ้างตลอดเวลา

 

สนธิญาณ : ผมประกาศเลยว่า พรรคเพื่อไทยหรือผมกันแน่ที่จะหน้าแหก ผมไม่ใช่ว่าออกตัวเชียร์ คสช. หรือ พล.อ.ประยุทธ์แล้วจะพุ่งไปข้างหน้าแบบนั้น ทีนิวส์เสนอสิ่งที่เป็นสาระ เป็นหลักการและเป็นประโยชน์มาให้ดูกัน การเลือกตั้งแต่ละแต่ละพรรคครั้งใช้เงินกันประมาณ 10,000 ล้านบาท ท่านผู้ชมได้ยินถ้อยคำพูดนั้นไม่ผิดแน่นอน เลือกตั้ง ส.ส. ทั้งหมดจะมีอยู่ 400 เขต จะมีเขตต่อสู้อยู่ 200 - 300 เขต คือการช่วงชิงจะเอาให้ได้ เขตต่อสู้กันจะใช้เงินต่อคนประมาณ 30 - 50 ล้านบาท นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 100 คน ก็ 5,000 ล้าน ถ้า 200 คน ก็ 10,000 ล้านบาท

 

ยุคล : มีที่มานะครับ

 

สนธิญาณ : ประเภทที่จะแพ้หรือชนะ ต้องเอาเสียงมาบวกกับปาร์ตี้ลิสต์ เพราะฉะนั้นคนที่ออกมาใช้สิทธิ์ 35 ล้านเสียง ผมไม่ได้ดูถูกประชาชน ประชาธิปไตยที่พูด ๆ กันแต่ละพรรคระดมเงินไป 10,000 ล้านบาทต่อพรรค เงินรวมกันแล้วเป็นแรงจูงใจที่ไปพาประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

 

ยุคล : นี่อาจจะไม่ได้หมายความว่า เอาไปซื้ออย่างเดียว อาจเป็นการรณรงค์

 

สนธิญาณ : วิธีการเยอะแยะเต็มไปหมด ใช้เงินประมาณ 30,000 - 50,000 ล้านบาท เพื่อทำให้คนออกมาเลือกตั้ง แต่ประชามติจะใช้เงินกันแบบนี้ไหมครับ

 

ยุคล : ผลลัพธ์ต่างกันนะครับ มีอำนาจเลย ใช้มติผ่านไม่รู้ว่าจะได้อะไร

 

สนธิญาณ : ถ้าผ่านแล้วจะได้อะไรตามมา

 

ยุคล : ก็มีตำแหน่งลาภยศ เงินทองโครงการต่าง ๆ หาเงินถอนทุน

 

สนธิญาณ : ถูกต้องนี่คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุดครับ

 

ยุคล : คุณผู้ชมครับกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม มาตามกันต่อในเบรคหน้าซึ่งจะมีการรายงานเรื่องโพลให้ได้ทราบกันด้วย เพราะว่าสัปดาห์ที่ผ่านมามีการทำโพลเกี่ยวกับการนับถอยหลังประชามติ 1 เดือนด้วยนะครับ พี่น้องจะรับหรือไม่ ช่วงนี้พักกันก่อนครับ (พักช่วง) เรายังคงอยู่กันที่หัวข้อแรก พี่ต้อยกำลังอธิบายว่าพื้นฐานที่มาที่ไปนั้นต่างกัน

สนธิญาณ : คือถ้าดูตัวเลขแล้วนั้นไม่ผ่านแน่ ๆ แต่ผมฟันธงท่านติดตามไปไม่ต้องรอตอนท้าย ผมฟันธงว่าผ่าน พรรคเพื่อไทย และ นปช. จะหน้าแหก และผมอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดอ้อมแอ้มฟันธงว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้แหกไปพร้อม ๆ กัน อย่าทำลีลา

 

ยุคล : ผ่านแบบฉิวเฉียดหรือว่าอย่างไร

 

สนธิญาณ : ไม่ฉิวเฉียดด้วย จะได้หน้าแหกกันไป ท่านผู้ชมเชื่อผมไหมครับ หรือท่านคิดว่าผมเชียร์จนหัวซุกหัวซุน เชียร์ไม่ลืมหูลืมตา หลงรัก พล.อ.ประยุทธ์

 

ยุคล : วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดในงานว่ามีคนขับแท็กซี่เริ่มไปรณรงค์แล้วว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านจะเลิก 30 บาท จะเลิกเรียนฟรีจะมีผลไหมครับ

 

สนธิญาณ : ไม่มีผลครับเรื่องจริง สิ่งที่ผมเรียนนั้นมีเหตุผลรองรับ ถ้าท่านเชื่อผมแสดงว่าร้อยละ 80 - 90 ถูกจากหลักฐานวิเคราะห์ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นสิ่งถูกต้อง มาดูตัวเลขนะครับ ผมเรียนนะครับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,939,549 คน พอมาลงคะแนนเลือกตั้งมาถึง ร้อยละ75.03 เลือกประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียง 11,435,640คะแนน เลือกพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียง 15,752,470 คะแนน รวมแล้ว 27,188,110 คะแนน  ไปดูประชามติ จำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิ  25,978,954  คน คิดเป็นร้อยละ 57.61 หายไปจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าหายไปประมาณ 10 ล้านคนคนที่เลือกตั้งแต่มาประชามติ ไม่ลง มาใช้สิทธิแค่  25,978,954  คน ผมเรียนนะครับตอนนั้น พรรคเพื่อไทยออกแรงเยอะแต่ไม่มากเท่าเลือกตั้งหรอก เห็นชอบ 14,727,306 คน ไม่เห็นชอบ 10,747,441  คน นั่นคือฐานตอนนั้นของพรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณ และคนที่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ชอบเผด็จการทหารด้วยใจบริสุทธิ์รวมแล้ว 10,747,441  คน ตัวเลขครั้งนี้ผมตอบแล้วเมื่อกี้

 

ยุคล : แต่จะถึงขนาดเกร็งคะแนนเลยไหมครับ

 

สนธิญาณ : ผมว่าประมาณ 30 ล้านคนขึ้นไป ที่มาใช่สิทธิ์ลงคะแนน หมายความว่า มามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 25 - 26 ล้านคน แต่จะมาเลือกตั้งถึง 35 ล้านคนหรือเปล่านั้นไม่มั่นใจ ผมบอกไปแล้วว่าก่อนหน้านี้ จำนวน 35 ล้านคนเขาใช้เงิน 10,000 ล้านบาท ไประดมเพื่อเอาคนออกมา แต่เที่ยวนี้คนจะออกมามากกว่า 25 ล้านคน เพราะว่าตื่นตัวภายใต้ในสิ่งที่พูดว่า ไม่ให้รณรงค์กันนี่แหละ แล้วจะตอบในสิ่งที่หนึ่งพูดถามว่ามีการไปบิดเบือนผ่านรถแท็กซี่ว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่านเขาจะยกเลิก 30 บาท เลิกเรียนฟรี ซึ่งไม่มีผลเพราะคนตื่นตัวเลยไม่ดูรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ ดูขัดแย้งกันไหม ตื่นตัวทางการเมืองแต่ไม่ดูรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ

 

ยุคล : เขามีคำตอบเรื่องแบบนั้นด้วยไหมครับ เชื่อใจ

 

สนธิญาณ : ถูกต้อง

 

ยุคล : เชื่อใจจนไม่อ่านเลยนะครับ

 

สนธิญาณ : ก็มีผลจากโลกโซเชียลบางส่วนด้วย และเชื่อมโยงไปยังชาวนาชาวไร่ พี่น้องประชาชนที่อยู่ในโลกโซเชียล แต่อย่าลืมว่าวันนี้มีคนใช้เฟซบุ๊กอยู่ประมาณ 30 ล้านผู้ใช้ที่มีการใช้งานจริง จาก 40 ล้านผู้ใช้ ซึ่งสามารถสร้างกระแสได้ หนึ่งดูสิครับวันนี้ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันภายใต้หลักการเดียวกัน เพื่อไทยออกมา แนวร่วมนักศึกษาออกมา คนเสื้อแดง ของฝั่งนี้คือรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย อันเดียวเลยไม่มีประเด็นใหม่ หรือมีอะไรอีกที่โจมตี ที่มาบิดเบือนไม่มี บัตรรักษาโรค 30 บาท ทำไมถึงไปพูดใส่ในแท็กซี่ก็เพราะต้องการให้ในหมู่แท็กซี่ที่เป็นเสื้อแดงและทำงานให้กับ นปช. อยู่แล้ว อย่างไรเขาก็ไม่รับอยู่แล้ว แต่ผมเรียนว่า ถ้าอยากได้ฉบับลุงตู่ร่างรัฐธรรมนูญเอง แล้วไปลงไม่รับนี่ไม่ได้นะครับ

 

ยุคล : วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์พูดอีก

 

สนธิญาณ : นี่ไงครับไว้ถามท่อนท้าย เดี๋ยวผมจะวิเคราะห์ให้ฟังว่าทำไม อะไร อย่างไรก็เพราะว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านนั้นจะดีกับ คสช. แต่จะมีส่วนที่จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงบางจุด วันนี้ฝ่ายรณรงค์ให้ไปรับเรียกรัฐธรรมนูญนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ก็กระจายไปอย่างรวดเร็วถึงผู้คนทั้งหลาย

 

ยุคล : เรียกว่าอาจารย์มีชัยร่างรัฐธรรมนูญปราบโกง ปราบการทุจริตเป็นหัวใจหลัก

 

สนธิญาณ : จึงสร้างมาเป็นคอนเซ็ปต์ว่าปราบโกง ส่วนอีกฝั่งหนึ่งสู้กัน 2 กระแส รัฐธรรมนูญปราบโกง อันนี้รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย อยากรู้ว่าตอนนี้คนอยากได้รัฐธรรมนูญ ไม่มีหรอกครับโพลทุกโพลตอบได้เลย เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งนั้น คนจะเข้าใจหรือว่ารู้สึกอินกับรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เพราะความรู้สึกของคนสัมผัสรู้ได้ ส.ส. แต่ละคนมาเป็น ส.ส. สมัยแรกนั้นยากจนนะครับ อยู่ไป 3 - 4 สมัยร่ำรวยกว่าชาวบ้านแล้ว กับประชาชนที่ไปขอคะแนนเสียงเขาเห็นชัด นักการเมืองร่ำรวย ข่าวสารการทุจริตหลั่งไหลออกมาเขาก็รู้ พอบอกว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงก็โดนใจประชาชน ปัญหาใหญ่ที่เวลาประชาชนออกมาประท้วงก็คือการต่อต้านการทุจริต ฝ่ายรับมาแบบนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้านักการเมืองต่อต้านแสดงว่าดีกระแสนี้มีจริงนะครับ

 

ยุคล : ถ้านักการเมืองชอบแสดงว่าไม่ดี

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ กระแสที่สาม รัฐธรรมนูญไม่ดีตรงไหน ทำไมนักการเมืองต่อต้าน อาจจะมีตั้งคำถามแบบนี้เลย 3 กระแสนี้ตอนนี้กำลังกระเพื่อมไป ก็ไปเชื่อมโยงกับกระแสของมวลมหาประชาชนที่เคยออกมาต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ บวกเข้าไปแล้วเริ่มเห็นภาพไหมครับ มาดูต่อว่าโพลทั้งหลายว่าผ่านไม่ผ่านมีนัยยะในเนื้อหาของโพลทั้งสิ้น แม้จะใช้ตัวอย่างแค่ 1,000 กว่าเสียง

 

ยุคล : เอาตัวอย่างแรกกันก่อนนะครับ "มาสเตอร์โพล" ไปถามแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ ก็ถามกันง่าย ๆ แบบนี้เลยนะครับว่า การตัดสินใจของแกนนำชุมชนหากว่าวันนี้เป็นวันลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 91.7 ระบุคิดว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความสงบสุขของประเทศ/รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประโยชน์กับประชาชน/เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีช่วยพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น และเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำเพื่อประชาชนและประชาชนมีส่วนร่วมทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจ บอกว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ

 

สนธิญาณ : ต้องดูด้วยว่าไม่รับเท่าไหร่ ตัวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ของมาสเตอร์โพล ระหว่างที่บอกว่ารับรัฐธรรมนูญถึงร้อยละ 91 ซึ่งไม่รับนั้นน้อยมาก ไม่รับประมาณร้อยละ 6 ผมเรียนว่ามาสเตอร์โพลเขาไม่ได้เป็นโพลของความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ เขาทำกับกลุ่มผู้นำชุมชน นี่วัดกันเฉพาะผู้นำชุมชน ฉะนั้นท่านจะบอกว่ามีการรับสูง ท่านอาจจะบอกว่าตัวเลขอะไรจะรับร้อยละ 91.7 ไม่ได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ แต่เฉพาะผู้นำชุมชน เขาไปถามผู้นำชุมชนเพราะผู้คนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อผู้คนในพื้นที่

 

ยุคล : เหมือนเป็นการสุ่มตัวอย่างมาแล้วในระดับหนึ่ง

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ เหมือนกับถ้าคนเหล่านี้รับร่างรัฐธรรมนูญ แสดงว่าผู้คนเหล่านี้จะเคลื่อนไหว นี่คือโพลที่ออกมาของมาสเตอร์โพล

 

ยุคล : มาดู "กรุงเทพโพล" บอกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 77.7 ตั้งใจว่าจะไปออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 59 ที่จะถึงนี้ ขณะที่ร้อยละ 10.4 ตั้งใจว่าจะไม่ไป ที่เหลือร้อยละ 11.9 ยังไม่แน่ใจ

 

สนธิญาณ : นี่บอกว่าตั้งใจจะไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญนะครับ มาดูมีตัวเลขว่าพวกที่ตั้งใจจะไม่รับ

 

ยุคล : มีคำถามว่า "หากวันนี้เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ท่านจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่" ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.6 ระบุว่า "เห็นชอบ" ขณะที่ร้อยละ 6.6 ระบุว่า "ไม่เห็นชอบ" ส่วนร้อยละ 13.0 ระบุว่า "งดออกเสียง" และมีถึงร้อยละ 36.8 ที่ระบุว่า "ไม่แน่ใจ"

 

สนธิญาณ : ถ้าบอกว่าพวกไม่แน่ใจคือพวกไม่กล้าตอบ ร้อยละ 36.8 แล้วพวกที่ไม่รับล่ะครับก็บวกกับ 6.6 ก็เท่ากับร้อยละ 43.4 แต่จะเท่ากับ 36.8 ก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเราดูกระแสของคนที่ไม่เห็นชอบกับคนที่เห็นชอบต่างกันถึง 7 เท่า นี่คือตัวเลขที่วิ่งไล่ที่ท้วมท้นถ้าไปดูรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตอนปฏิวัติปี 2549 นั้นต่างกันครับ ซึ่งห่างกันนิดเดียวร้อยละ 11 กับ ร้อยละ 14 แต่ตามโพลที่ออกมาจะเห็นได้ว่าก็ชัดเจน

 

ยุคล : มาดู "นิด้าโพล" ถ้าเอาอันดับ 1 จริง ๆ คือ ประชาชนยังไม่ตัดสินใจ บอกว่ายังไม่รู้ 64.94 บอกว่ารับ 26.33 ไม่รับ 6.20

 

สนธิญาณ : นี่ก็ 5 เท่าตัว

 

ยุคล : ถ้าวัดเป็นเท่าก็จะเห็นตัวเลข

 

สนธิญาณ : ไม่ตัดสินใจ 64.94 มาเทกับ 6.6 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ที่ไม่ตัดสินใจตามสัดส่วนที่ออกมา ผมเอาคนละครึ่งทะลุทะลวงแล้ว หมายความว่าถ้าคนมาออกเสียง 30 ล้านคน ไม่ออกคนละครึ่งหรอกครับ จะไปรับ 20 ล้านเสียง และไม่รับแค่ 10 ล้านเสียง นี่ถ้าคน 60 ล้านคนออกมาเทคะแนนเสียงนะครับ ฉะนั้นตัวเลขของนิด้าเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความจริง ณ สถานการณ์ขณะนี้ โดยทิศทางแนวโน้มดูแล้วกี่โพลออกมานั้นจ้างกันหรือเปล่าก็เป็นแบบนั้น มีของ "ซูเปอร์โพล" ที่น่าขำบอกว่า สำรวจความสุขคนไทย กลุ่มรับร่างฯแฮปปี้กว่าคนไม่รับร่างฯ

 

ยุคล : เขาก็เข้าใจตั้งคำถามนะครับ

 

สนธิญาณ : แปลว่าอย่างไรครับ คนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นรู้สึกขุ่นข้องหมองใจ รู้สึกร้อนรุ่ม คนรับเชียร์คือคนเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ รู้สึกทำแล้วคึกคัก ตรงนี้ผมจะบอกเลยว่าเป็นแรงขับเคลื่อน

 

ยุคล : "อีสานโพล" ตัวเลขมีนัยยะไหมครับ เขาสอบถามว่า วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ท่านตั้งใจจะไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่/อย่างไร พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.1 ที่จะไปแน่นอนและตัดสินใจแล้วว่าจะรับหรือไม่รับ (ซึ่งใกล้เคียงกับการสำรวจครั้งที่แล้วที่ร้อยละ 59.8) ขณะที่อีกร้อยละ 38.9 เป็นกลุ่มที่จะไม่ไปใช้สิทธิ์และกลุ่มยังไม่ตัดสินใจ เขาไม่ได้บอกว่ารับหรือไม่ แต่มีคำตอบอยู่แล้วว่าไป 61.1

 

สนธิญาณ : อีสานโพลต้องบอกว่าเป็นพื้นที่ความหวังของพรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณ มาดูกันครับว่าเที่ยวนี้จะเป็นอย่างไร แต่ผมเรียนเลยนะครับว่าตัวเลขในอีสานโพล ฝ่ายรับก็จะทะลุ ซึ่งไม่ใช่การเลือกตั้งไม่มีผู้นำแบบขวัญชัย ไพรพนา ที่จะแสดงอำนาจบาตรใหญ่ที่จะไปตีพันธมิตรซึ่งมีความหมายว่า อำนาจคนที่เคยข่มขู่เพราะใช้อำนาจเมื่อก่อนหมู่บ้านคนเสื้อแดง มีคนเสื้อแดงอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่คนอีก 80 เปอร์เซ็นต์เงียบไม่กล้าพูดเพราะกลัว เมื่อ 20 เปอร์เซ็นต์รวมกลุ่มกันเข้มแข็ง คนที่ไม่กล้าพูดเขาจะไปพูดในคูหาเลือกตั้งว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เลือกตั้งในเขตเมืองของอีสาน แม้ จ.อุดรฯที่เรียกว่าเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง และผมเรียนนะครับว่าเมื่อก่อน จ.อุดรฯเป็นเมืองหลวงของพันธมิตร แต่โดนขวัญชัยตีเสียกระเจิงตอนนั้น ทำให้คนไม่กล้า แต่พอเลือกตั้งนายกเทศบาลของเมืองอุดร ฝั่งที่ไม่ใช่ฝั่งทักษิณกลับชนะ เลือก อบจ. ต่างจังหวัดยังอยู่ได้ เพราะฉะนั้นด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ผมเล่าให้ฟังว่าการเคลื่อนไหวของ กปปส. ของประชาชนที่ถูกยกระดับมาตามลำดับ จากกระบวนการสร้างกระแสว่าฝ่ายที่ให้รับยิงเข้าเป้าชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ถ้านักการเมืองไม่รับแสดงว่ารัฐธรรมนูญนี้ดี ไม่ดีตรงไหนที่จะไม่รับ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยโดยกระแสนั้นต่างกันแล้ว มีคนมาเล่าให้ผมฟังว่า คสช. อาจจะรู้สึกจะผ่านหรือไม่ผ่าน ผมเรียนเลยนะครับว่า คสช. ก็ไม่มั่นใจตัวเอง แต่สนธิญาณแทน แต่เขาไม่ได้กลัวนะครับ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่คนที่ไม่ฉลาด ภาษาง่าย ๆ ก็ชมให้ฉลาด พล.อ.ประยุทธ์รู้ว่าวันนี้ที่ตัวเองยืนขาแข็งอยู่ได้ เพราะคนหนุน และคนที่กล้าออกมาหนุนนั้นมากกว่าฝ่ายที่ต่อต้าน เพราะฝ่ายต่อต้านมีแต่แกนนำมีแต่หัวหน้า ไม่มีฐานของมวลชนรองรับ ที่บอกว่าพี่น้องเสื้อแดงจะแดงทั้งแผ่นดิน ผมไม่ได้ดูถูกดูแคลนนะครับ แต่กระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาจากอารมณ์ ไม่ได้มาจากเหตุผล การที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มาจากอารมณ์ในการเบื่อหน่ายนักการเมือง อารมณ์ในการเบื่อการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เห็นภาพของบ้านเมืองเลวร้ายที่อยู่ภายใต้นักการเมืองคนในห้วงอายุแบบผมจะเห็นภาพยิ่งขึ้น และช่วงนี้เป็นช่วงของผู้สูงอายุซึ่งเยอะกว่าเด็ก ด้วยอารมณ์แบบนี้กลายมาเป็นเหตุผลให้ไปรับ

 

ยุคล : ต้องการแสดงพลัง

 

สนธิญาณ : ต้องการแสดงออกทางการเมือง ผมถามครับว่าเราอ่านรัฐธรรมนูญจบอย่างน้อยคนละ 1 รอบ แต่เราจำได้หมดครับ เราจะเลือกอ่านเฉพาะประเด็นที่สำคัญชาวบ้านไม่ต้องรับต่อให้ กรธ. จะพิมพ์แจกไปให้เท่าไหร่ไม่มีใครอ่าน ขอโทษนะครับผมไม่ได้ดูถูกประชาชน คือไม่มีใครอ่านหมดเล่มครับ เป็นความรู้สึกแบบนี้ว่าใช่หรือไม่ ว่าการรู้สึกในการที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นมาจากเหตุผลอะไร กลับมาดูเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ที่บอกว่า เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มาพูดว่าไม่ผ่าน ผมก็จะร่างรัฐธรรมนูญเอง ผมจะบอกได้เลยว่าคนที่หวาดกลัวคือทักษิณและระบอบทักษิณต้องคิดหนัก ฉะนั้นอย่าเอาแบบนี้แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ที่ คสช. สืบทอด แต่ไม่ได้เต็มร้อยแบบข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย หรือว่าจะเอาแบบเต็มชุดเลย ส.ว. นอกจากเลือกนายกได้แล้วก็โหวตนากยกได้อีกตามที่เสนอในครั้งก่อน

 

ยุคล : อภิปรายไม่ไว้วางใจได้

 

สนธิญาณ : ถูกต้องก็โหวตได้นะครับ แต่เที่ยวนี้โหวตไม่ได้ ได้แต่เลือก หมายความว่าความเห็นที่ คสช. เสนอไปด้วยโหวตได้ด้วยนะครับ

 

ยุคล : เหลือเชื่อนะครับ  พล.อ.ประยุทธ์ เขาตั้งใจวางแผนไว้หรือครับ ท่านผู้ชมลองคิดดูนะครับ กลายเป็นว่าฝ่ายของระบอบทักษิณ ผะอืดผะอมไปหมด

 

สนธิญาณ : ผมบอกแล้วว่าไม่ธรรมดาคน ๆ นี้ ที่ออกมาไม่ใช่ขู่ แต่ทรุดเลย ผมรับรองเลยว่าวันนี้ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ออกมาพูดวันนี้ชัดเจนเข่าอ่อน วันนี้การแสดงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นอยู่ ทำให้เวทีของบรรดาเครือข่ายของทักษิณปั่นป่วน

 

ยุคล : แล้วไม่ทำให้คนที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์สับสนหรือครับว่า ถ้าไม่ผ่านจะได้ของดีกว่า

 

สนธิญาณ : ผมจึงบอกว่าอย่าสับสน เดี๋ยวช่วงหน้าต้องต่อกันอีกสักครึ่งนึง ส่วนเรื่องสมเด็จพระสังฆราชค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้ว เราไว้ฟันธงช่วงกลางของช่วงหน้า จะบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกฉบับเต็มสตรีมมาไม่รับ นี่หลายอย่างมีเรื่องของต่างประเทศเกี่ยวข้องด้วย

 

ยุคล : เดี๋ยวมาตามต่อกันในเบรคหน้าครับ (พักช่วง)  กลับเข้ามายังเบรคสุดท้าย การเมืองไทยหรือว่าที่เป็นอยู่ไม่เคยมีสูตรสำเร็จสักครั้ง แม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้ว่าจะผ่านหรือไม่ เอาเป็นว่าค่ำคืนนี้พี่ต้อยฟันธงว่าผ่าน และผ่านแบบถล่มทลายด้วย เพียงแต่ว่ามีเงื่อนไข จะเรียกว่าใหม่เลยก็ไม่ใช่แต่ พล.อ.ประยุทธ์มาพูดให้คิดกันอีกว่าถ้างวดนี้ไม่ผ่านก็จะเขียนขึ้นมาเอง ก็จะได้ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์คิดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลย พอคนได้ฟังแบบนี้ก็มีกระบวนการความคิดว่าถ้าผ่านครั้งนี้ตามที่ทราบไปตั้งแต่ต้นว่าความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนจะเป็นลูกครึ่งอยู่ แต่ว่าถ้าไม่ผ่านขึ้นมาทีนี้ได้ควบลูกครึ่งเลยนะครับ แต่พี่ต้อยบอกว่าอย่าได้เข้าใจแบบนั้น

 

สนธิญาณ : พล.อ.ประยุทธ์ พูดในวันนี้เพื่อขู่คนในระบอบทักษิณ ถ้าไม่จริงเดี๋ยว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกมาตอบนักข่าวเอง ในใจของ พล.อ.ประยุทธ์อยากให้ผ่านนะครับ เพราะว่าการผ่านร่างรัฐธรรมนูญจะนำพาไปสู่ความสงบและจะสงบฟากฝั่งของระบอบทักษิณและรวมทั้งนักการเมือง นักเลือกตั้งทั้งหลายได้อย่างชะงัก

 

ยุคล : แม้ว่าจะออกมาพูดว่าใช้นู้นนี่

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ เพราะไม่ผ่านและ พล.อ.ประยุทธ์ ร่างรัฐธรรมนูญเอง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องบอกสนธิญาณบอกมานานแล้ว เพราะร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนั้น ไม่มีเวลาด้วยนะครับ ผมบอกว่ายิ่งรู้เป็นสองเงื่อนไขแล้วจะไม่อยากรับร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ไปอีก 5 ปี หรือ 10 ปีก็ได้

 

ยุคล : ป่านนี้ยังไม่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเลย ฉบับนี้จะอยู่ไปอีก 10 ปีเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องของบ้านเมือง ตรงที่ถ้าไม่ผ่านฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่คือผู้คนในระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย นปช. และบรรดาแนวร่วมทั้งหลายที่ออกมาโหมก็จะชี้หน้าพล.อ.ประยุทธ์ว่าเห็นไหมว่าประชาชนไม่เอา และเรื่องนี้จะเป็นเงื่อนไขในการที่จะไปผูกกับต่างประเทศไว้ ก็จะนำพามาสู่การระดมม็อบ เห็นไหมครับไม่เอาแล้วรัฐบาลปฏิวัติประชาชนไม่เอาแล้ว ถ้าเขาจุดไฟขึ้นได้เหมือนตามที่เขาคาดคิดบางเมืองจะลุกเป็นไฟ เพราะคนที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ คนที่อยู่ในมวลมหาประชาชนซึ่งเป็นกำลังที่มากกว่าฝ่ายระบอบทักษิณก็จะไม่ยอมแล้วคนจะตีกัน บ้านเมืองจะนองเลือดถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านผมเรียนแบบนั้น เพราะจะไปเข้าทาง แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะร่างได้ จะเป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวของระบอบทักษิณทันที ทั้งในต่างประเทศและจุดไฟ เขารู้อยู่แล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน การกลับคืนอำนาจของทักษิณแทบจะไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แม้ว่าจะรักษาอำนาจแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ผมบอกได้ว่าระบอบทักษิณจะเหี้ยนเต้ด้วยกลไกกฎหมายปกตินะครับ ซึ่งไปทำอะไร พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ด้วยนะครับ ก็เพราะสิ่งที่ทำด้วยความลุแก่อำนาจคิดว่าใครไม่กล้าจัดการอะไรนั้นมาก การทุจริตคอร์รัปชันกระทำความผิดค่อย ๆ ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ และคดีที่ค้างอยู่ คดีที่ศาลตัดสินมา 7 - 8 ปี ในสมัยรัฐบาลทักษิณตอนยุคต้น ยุคกลาง ตอนยุคปลายยังมาไม่ถึง แล้วตอนยุคต้นของรัฐบาลสมัคร สมชาย และยิ่งลักษณ์ยังมีเรื่องอีก ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จัดการกับระบอบทักษิณได้ เพราะเห็นไหมว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ คนที่ไปเลือกตั้งผมถึงตอน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น ว่าอย่าแสดงอาการว่ารัฐธรรมนูญนี้เป้นของข้าใครก็แตะไม่ได้ คนจะรับร่างหรือไม่อยู่ที่ความศรัทธาต่อ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเงื่อนไขหลัก ฉะนั้นถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานง่ายขึ้น แม้ตัวเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะครึ่ง ๆ กลาง ๆ จะทำให้เกิดการทำงานได้มากกว่า และบรรดาข้าราชการทั้งหลายที่รอคอยการฟื้นคืนชีพของระบอบทักษิณ การเฉื่อยงานการทำท่ารอทักษิณก็จะหมดไป ใครที่เป็นเส้นสายระบบคิดว่าได้โอกาสขึ้นจะแทงกลับพวกนี้ก็จบเลย เมื่อลักษณะอาการของการเมืองเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าความรู้สึกของประชาชนตอนนี้เดินไปทางเดียวคือ รับร่างรัฐธรรมนูญ นี่คือเหตุผลและจะเรียนว่าจะท่วมท้นเหนือตอนล่างภาคกลาง กรุงเทพฯ ภาคกลางซีกตะวันออก อีสานใต้จากที่เพื่อไทยเคยชนะขาดก็จะออกมาเป็นครึ่งต่อครึ่ง นี่คือโพลสนธิญาณ กระแสตัวเลขจะทำให้ออกมาการใช้สิทธิ์จากครั้งก่อนที่เสียงประมาณ 26 ล้านเสียง เที่ยวนี้จะ 30 ล้านคนขึ้น คนจะออกมากันประมาณ 36 ล้านคน การที่ 30 ล้านคนขึ้นไปคือการตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่

 

ยุคล : ตั้งแต่ทำข่าวมา น่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาทำนายและวิเคราะห์ว่าตัวเลขจะเป็นแบบนี้ และไม่กลัวหน้าแตก

 

สนธิญาณ : ท่านผู้ชมที่ติดตามนี้ ผมถามว่ากว่าร้อยละ 90 ไหมที่เป็นไปตามที่ผมบอก ไปทบทวนดูได้เลย

 

ยุคล : มีคนถามว่าพี่ต้อยมีแหล่งข่าวไปรู้ หรือไปทำงานกับใครหรือไป

 

สนธิญาณ : ก็ผมทำข่าวการเมืองมา และอยู่กับการเมืองมา ไม่ใช่การเมืองแบบนักเลือกตั้งที่หวังคะแนน ผมอยู่กับทหารมาตั้งแต่สมัย พล.ต.มนูกฤต สมัยยังเติร์ก ปี 2524 ตอนยึดอำนาจแล้วล้มเหลว นั่นหมายความว่าผมกับยังเติร์กก็มีความสัมพันธ์กันมา นักการเมืองที่อยู่ในอำนาจก็เกี่ยวข้องกันมา ในฐานะคนทำข่าว ในฐานะที่เกาะติดระดับลึก รู้วงจรวิธีคิดของทุกกลุ่มทุกพรรค ผมทำงานมวลชนทางด้านการชุมนุม ผมเป็นผู้นำนักศึกษามา จนเข้าสู่การเมืองมา ฉะนั้นมิติแห่งการมองเหมือนกับตนที่ไปเตือนเด็ก ๆ ว่าบ้านเมืองอย่าไปคิดแค่ว่าประชาธิปไตยหรือไม่ ยังมีเรื่องคุณธรรม เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ และท้ายที่สุดที่เรารู้สึกมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าเราถูกหลอกในทางการเมือง คือ เขาก็ไม่ได้ตั้งใจหลอก แต่เป็นความหลงที่มาหลอกเราให้คิดแต่เรื่องที่อยู่ข้างหน้าเหมือนม้าที่ใส่บังข้างก็เป็นแบบนั้นครับ เพราะฉะนั้นเหลือเวลาอีก 1 เดือน โพลต่าง ๆ ก็ออกมา สนธิญาณก็หาญกล้าว่าคนจะออกมาลงประชามติจำนวนกว่า 30 ล้านคนขึ้นไป และจะรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างท่วมท้นครับ อีกไม่กี่วันก็รู้ว่าจะแหกหรือไม่ วันที่ 7 สิงหาคม

 

ยุคล : ผ่านไปแล้วหนึ่งเรื่อง มากันอีกเรื่องที่ร้อน เรื่อง "สังฆราชองค์ใหม่อย่างไรก็ไม่ตั้ง" นี่ฟันธงเลยในหัวข้อว่าอย่างไรก็ไม่ตั้ง ทั้งนี้ก็เป็นประเด็นลากมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วที่กฤษฎีกาได้ฤกษ์ของการประชุมหารือพิจารณามาตรา7 ของ พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2515 ว่า กระบวนการในการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งก็คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ โดยที่ประชุมของมหาเถรสมาคมมาที่นายกรัฐมนตรี ถูกต้องหรือไม่อย่างไร กฤษฎีกาประชุมเสร็จก็ส่งไปให้คุณสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วันนี้ตอน 11 โมงครึ่ง คุณสุวพันธุ์ก็ออกมาแถลง โดยบอกว่า "ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชต้องได้รับความเห็นชอบจาก มส.ก่อน และต้องเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการเสนอรายชื่อนั้นจำเป็นต้องริเริ่มจากนายกฯ ดังนั้น การส่งความเห็น มส. มา จึงไม่ขัดกับมาตรา 7 หนังสือฉบับนั้นจึงยังมีผลอยู่.." สรุปก็คือว่าไม่ขัดมาตรา7 หนังสือที่ส่งรายนามสมเด็จพระสังฆราชที่ มส. มีมติมาให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งมีผลอยู่ และคุณสุวพันธุ์ก็บอกว่า "ทั้งหมดในการตัดสินใจว่าจะนำชื่อของสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไปกราบบังคมทูลต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือไม่ก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์" นี่คือทางด้านของคุณสุวพันธุ์ ทีนี้พอมาดูทางฝั่งของคุณวิษณุ เครืองาม ซึ่งบอกว่า "กฤษฎีกาได้สรุป 3 ข้อ ตามที่ได้ถามไป คือ ชื่อของผู้ที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุด และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยจะเป็นอำนาจของ มส.ที่จะต้องเป็นผู้ระบุว่าสมเด็จที่เข้าข่ายนี้คือใคร หากจะตั้งก็ต้องตั้งตามที่ มส.เสนอ จะตั้งนอกเหนือจากนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับว่าใครจะเป็นผู้ริเริ่มก่อนนั้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ตอบกลับมาว่า การที่ มส.จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา โดยจะให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ขอไป หรือ มส.อาจจะเป็นผู้พิจารณายกขึ้นมาเองและส่งชื่อมาให้นายกฯ ก็ได้ สามารถทำได้ทั้ง 2 อย่าง หาก มส.เห็นว่ารัฐบาลทำช้า มส.ก็อาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเองได้ ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ มติของ มส.ที่ออกมาเมื่อเดือน ม.ค.ที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ถือเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 7 วรรคสอง ส่วนอีกข้อที่ถามไปว่าผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีหนังสือมาถึงรัฐบาลต้องตีความว่าเป็นคำแนะนำหรือเป็นการสั่งการนั้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการสั่งการ หากเห็นว่ารัฐบาลไม่ทำตามก็ไปแจ้งสภา หรือหากเห็นว่ารัฐบาลทำผิดกฎหมายก็ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ แต่ที่ผ่านมาถือว่าข้อคิดเห็นเหล่านี้เป็นคำแนะนำ ซึ่งรัฐบาลจะนำมาประกอบการพิจารณาก็ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบังคับว่าจะต้องปฏิบัติ" คือถ้าฟังตามนี้นั้นไม่ขัดมาตรา 7

 

สนธิญาณ : ไม่ขัดแบบนี้ครับ นายกรัฐมนตรีจะเสนอนามสมเด็จพระสังฆราช ต้องได้รับความเห็นชอบจาก มส. แล้วใครเป็นคนเสนอ ก็นายกรัฐมนตรีต้องได้รับความเห็นชอบครับ  ถ้า มส. ไม่เห็นชอบนายกจะเสนอไม่ได้ ถ้า มส. เห็นชอบนายกไม่เสนอก็ได้เพราะเป็นสิทธิ์ของนายกฯที่จะเสนอหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่า มส. ส่งมาแล้ว แล้วนายกต้องทำตามถ้ายังไม่เข้าใจก็ไปตีความเสียก่อนให้ชัดเป็นแบบนั้นครับ ผมเรียนว่าคำพูดของนายกรัฐมนตรีวันนี้ คือ ไม่เสนอแน่นอน เหตุเพราะเรื่องของคดีความ จะให้กฤษฎีกาตีความอีกครั้งไหมครับว่าถ้า มส. เห็นชอบแล้วนายกจะต้องเสนอหรือไม่เสนอนะครับ แต่ผมว่า ถ้าเป็นแบบนี้ก่อนที่กฤษฎีกาจะตีความท่านนายกต้องปรับ ครม. เสียก่อน ประเด็นที่ผมอยากจะพูดอยู่ตรงนี้ครับ เพราะมีคนบางคนใน ครม. และมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ในเรื่องนี้อยู่ด้วย ลึก ๆ เขาเชียร์สมเด็จช่วง

 

(คลิปของ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่อง สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่)

 

ยุคล : เขาเคลียร์โดนคำพูดเลยชัดเจน แต่ทีนี้ที่พี่ต้อยเปิดมาว่ามีคนใน ครม. ที่สนับสนุนสมเด็จช่วงอยู่นั้นเป็นอย่างไรครับ

 

สนธิญาณ : มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย คุณวิษณุ เครืองาม

 

ยุคล : เป็นลูกศิษย์สมเด็จช่วงหรือครับ

 

สนธิญาณ : ผมไม่รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวว่าท่านให้สัมภาษณ์ในวันนี้หรือไม่ แต่ท่านเคยให้สัมภาษณ์ดึงดันจะเอาให้ได้ ตอนที่ มส. มีมติใหม่ ๆ แล้วมากลับลำตอนที่ท่านนายกเสียงเข้มขึ้น เดี๋ยวพรุ่งนี้ทีนิวส์จะเกาะติดเรื่องนี้มาให้ทราบ ทั้งในโทรทัศน์และในเว็บไซต์ ซึ่งตอนนี้ทีนิวส์กำลังมาแรง ของแบบนี้ต้องเอามาพูดกันว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่านายกฯรู้นะครับ แต่ผมว่าใช้คุณวิษณุอยู่ก็ไม่อยากให้เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่เวลามาออกข้อมุมทางกฎหมาย ผมเรียนตั้งแต่คณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาพูดคือรู้สึกคันปากมาตั้งแต่วันนั้น ตรงที่ว่าจะได้เป็นทางออกของสังคม ถามว่าทำไมนายกไม่ตั้งสมเด็จช่วงเป็นสมเด็จพระสังฆราช ทำข่าวมาผมจะถามหนึ่งบ้าง เพราะอะไรครับ

 

ยุคล : นายกพูดชัดว่ายังมีปัญหาอยู่ คือเรื่องของคดีรถหรู พอคดีหายไป วันนี้พอนายกพูดแบบนี้มา ผู้สื่อข่าวโดนไปไล่ถามกับ ดีเอสไอ เป็นผู้รับผิดชอบกับท่านเลยนะครับ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีกรมกรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนกรณีพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือว่าสมเด็จช่วง มีการครอบครองรถเบนซ์โบราณ คลาสสิก ทะเบียน บ 999 กรุงเทพฯ บอกว่า "พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากรผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน มีการเร่งรัดคดีนี้มาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือและเอกสารประเภทต้นทาง แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญาต้องใช้เวลานาน ที่ผ่านมาพยายามเร่งรัดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในส่วนของวัด ก็ไม่มีการส่งข้อมูลหลักฐานใดๆ เข้าชี้แจงกับดีเอสไอ พร้อมยกตัวอย่างการขอข้อมูลในเรื่องดังกล่าวกับต่างประเทศกรณีไฟไหม้รถหรูที่กลางดง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีการประสานขอข้อมูลไปยังประเทศต้นทางนานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลตอบกลับยืนยันว่า การตรวจสอบข้อมูลในกรณีการนำเข้ารถของดีเอสไอได้ดำเนินการกับรถทุกคัน ไม่ได้ดำเนินการเพียงคันเดียว อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ ดีเอสไอพยายามจะหาพยานหลักฐานแวดล้อมอื่น เพื่อยืนยันที่มาของรถคันดังกล่าว และนำเข้าประกอบในสำนวนด้วย" คือถ้าฟังตามนี้ก็ยังไม่จบและ ดีเอสไอก็พูดถึงปัญหาอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกก็คือ วัดปากน้ำภาษีเจริญไม่ยอมให้ข้อมูลทำให้คดีไปต่อไม่ได้ และเรื่องที่สองการขอข้อมูลยังต่างประเทศก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ

 

สนธิญาณ : ก็ไปคิดเอาครับ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ถ้าอยากให้ท่านนายกตั้งก็ต้องรีบส่งข้อมูล ดีเอสไอเขาจะได้ดูว่าคดีมีมูลหรือไม่ ถ้าคดีไม่มีมูลก็ไม่สั่งฟ้องเรื่องก็จบ ถ้ามีมูลดีเอสไอก็ส่งให้อัยการ ด้านอัยการก็บอกว่าไม่มีมูลไม่สั่งฟ้องก็จบ ก็จะได้ว่ากันไป

 

ยุคล : คดีนี้เล่าให้ชัดก่อนว่า รถมีการตรวจสอบแล้วว่ามีการนำเข้าอุปกรณ์ก็ดี การสำแดงภาษีก็ดี การจดทะเบียนต่าง ๆ ก็ดีผิดกฎหมายหมด แต่รอยต่อผู้ที่ครอบครองและผู้ที่นำเข้าและจดทะเบียน ประกอบรถยนต์ยังไม่สามารถที่จะเชื่อมกันได้ว่าสมเด็จช่วงซึ่งปัจจุบันมีชื่อเป็นผู้ครอบครองโดยบริสุทธิ์ใจลูกศิษย์ถวายให้หรือว่าท่านมีส่วนจัดการแล้วให้พระที่เป็นพระเลขาเป็นคนไปดำเนินการ ตรงนี้ยังไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่ารู้เห็นกับการได้มาของรถที่ผิดกฎหมายหรือไม่

 

สนธิญาณ : ผมเรียนว่าพระที่ผู้คนศาสนาพุทธเลือกจะนับถือกันมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกเพราะคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ พระอริยะ มีฤทธิ์มีความศักดิ์สิทธิ์ กลุ่มที่สองเพราะคิดว่าเป็นพระราชาคณะ เป็นเจ้าคุณชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม เป็นสมเด็จมาสวดที่บ้านวันนี้ วันนี้สมเด็จมาถึงบ้าน ก็เห่อไปแบบนี้สองทิศสองทาง พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ขับรถไปข้างทางเดินแบกกลดเดินอยู่ข้างทาง จอดรถรับท่านก็ไม่ขึ้น เพราะท่านมาเดินธุดงค์ ถามว่าทำไมท่านไม่ขึ้นเพราะว่า การเดินของท่านไม่มีระยะทาง อยู่กับปัจจุบันกับจิตที่ท่านกำลังก้าว ทำกำลังปฏิบัติธรรม ไม่รู้จะมาขึ้นรถแล้วปฏิบัติธรรมอย่างไร ถ้าท่านเดินท่านได้ปฏิบัติธรรม ท่านจะไปให้คุณค่ากับพระที่อยู่กับธรรมะ พระที่มีคำสอนอันเป็นหลักเป็นสัจจะของพระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าไม่มีเสียทีเดียว เราถึงได้เห็นผู้คนเคารพท่านพระอาจารย์พุทธทาส ท่านหลวงพ่อประยุทธ์ พระไพศาล และท่าน ว.วชิระเมธี ส่วนครูบาอาจารย์ทางสายวัดป่าที่ตื่นเต้นกันมากเป็นเพราะท่านเป็นพระอรหันต์ คือความจริงจะเป็นพระอรหันต์หรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกับเรา เพราะพระพุทธเจ้ายังช่วยเราพ้นทุกข์ไม่ได้ ต้องพ้นด้วยตัวเอง อัตตา หิ อัตตโน นาโถ มาชี้ทาง ผมต้องเรียนแวดวงของพระพุทธศาสนาจะเกิดกระแสมาเปิดกระแสต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์เพื่อไปเชื่อมโยงกับธรรมกายและระบอบทักษิณว่า ที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตั้งก็เป็นประเด็นที่ว่าไม่เอามหานิกาย เพราะพระมหานิกายก็มีอยู่ 300,000 รูป ใน 30,000 วัด เป็นพระส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์กระแสนี้ก็จะเกิดขึ้นต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นจึงทำให้คนที่อยู่ในแวดวงไฮโซ มีอำนาจทางการเมือง ข้าราชการระดับสูงเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จหรืออะไรก็ตามแต่ก็จะเปิดรับประเด็นนี้ไป แต่เราลองคิดและทบทวนดูสิครับว่าถ้าเรามีสมเด็จพระสังฆราชที่มีมลทิน แม้จะเป็นชั้นยศสมเด็จสูงสุดซึ่งมีศิษย์จะได้เป็น จะเป็นความสง่างามหรือ ท่านจะบอกว่าสมเด็จช่วงท่านไม่ได้ผิดพลาดอะไร แต่การที่ท่านมายุ่งกับเรื่องแบบนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ผมเชื่อว่าท่านไม่มีเจตนาในการทุจริต การค้าขายรถหรูอะไร แต่ต้องดูว่าเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องไหม ในขณะที่วันนี้ไปดูไปพิสูจน์กันว่า พระเกศาของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งช่างได้เอามาปักไว้เป็นรูปหุ่นขี้ผึ้งของพระองค์ท่าน วันนี้ได้กลายมาเป็นพระธาตุ คือ เส้นผมธรรมดาหรือกระดูกในร่างกายปกติคนธรรมเผาก็กลายเป็นเถ้าถ่าน กลายเป็นกระดูกไหม้ แต่ของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในที่พูดกันว่าเป็นพระอรหันต์ก็จะมาเปลี่ยนเป็นแก้ว เปลี่ยนเป็นเพชรนิลจินดา ไม่ได้เป็นโลหะนะครับ เราจึงได้เห็นสมเด็จพระสังฆราชที่คนไทยทั้งประเทศมีความภาคภูมิใจ รู้สึกเลื่อมใสเคารพกราบไหว้ลงแทบพระบาทได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะเป็นสมเด็จ เป็นพระสังฆราชก็ยังใช้จีวรที่ปะชุนอยู่อย่างสมถะ ยังนอนอยู่ในกลดธุดงควัตร อยู่ปกติและพยายามปฏิบัติแบบนั้นเราจึงได้เห็นภาพเหล่านี้ ด้วยเหตุผลนั้นจนถึงวันนี้สำหรับตัวผมเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันจะไม่เสนอรายชื่อของสมเด็จที่ มส. ตั้งมา ผมยิ่งต้องไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

 

ยุคล : เกี่ยวกันด้วยหรือครับ

 

สนธิญาณ : เกี่ยวสิครับ เพราะว่านาน ๆ ถึงจะมีคนที่กล้าแบกรับภาระของประเทศเอาไว้บนบ่า ถ้าคิดมักง่ายแบบรัฐมนตรีหรือคนที่อยู่ในขณะรัฐบาล ว่า เมื่อ มส. เสนอไปแล้วต้องเสนอไป โดยไม่ได้คิดคำนึงว่าคนที่จะมีพระบรมราชโองการฯลงมาคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

 

ยุคล : ก็เหมือนกับเอาปัญหาไปให้กับพระองค์ท่าน

 

สนธิญาณ : ในสิ่งที่คาราคาซังอยู่ก็จะกลายเป็นปัญหา นี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด พล.อ.ประยุทธ์กล้าเอาตัวเองไปแบกปัญหานี้ไว้ ถึงต้องนับถือน้ำใจคนเป็นลูกผู้ชาย บ้านเมืองพูดกันไปประชาธิปไตย แต่ความรู้สึกสำนึกต่อหน้าที่การไม่ทุจริตคอร์รัปชันและการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนต่างหากที่เราควรจะพิจารณาและดูเนื้อหาที่แท้จริง นอกเหนือจากพูดเรื่องประชาธิปไตยแล้วไปเลือกตั้งกันวันเดียว พวกนี้ก็ไปทุจริตคอร์รัปชันจนตระกูลไม่ว่าพรรคไหนไปดูเลยครับ วันแรกที่ลงสมัครรับเลือกตั้งยังเป็นนักการเมืองธรรมดา ผ่านไป 10 - 20 ปี ร่ำรวยกันทั้งตระกูลเป็นแบบนั้น และสิ่งที่เขาไม่ชอบมากที่สุดคือเขาเข้าไปยุ่งกับงบประมาณไม่ได้ แสบมาก อ.มีชัย

 

ยุคล : วันนี้สองเรื่องนะครับเรียกว่าชัดเจนเลยทีเดียว ทั้งเรื่องของรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ พี่ต้อยก็ฟันธงไปแล้วว่าผ่านแน่นอน และบอกว่าคะแนนนั้นจะถล่มทลายด้วย ส่วนประเด็นเรื่องของการตั้งสมเด็จพระสังฆราช พี่ต้อยก็ให้แง่คิดถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอาไว้เพิ่มเติมว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่มีผู้นำที่พร้อมจะแบกรับปัญหาและความกดดันในเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงแบบนี้ วันนี้หมดเวลาของผมและพี่ต้อยแล้ว กลับมาพบกันอีกครั้งวันจันทร์หน้า วันนี้ลาไปก่อนสวัสดีครับ