เมื่อตำรวจถูกบังคับให้ปฏิรูปตนเอง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

โดย วสิษฐ เดชกุญชร

 หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนและประสานงานการปฏิรูปตำรวจได้แถลงว่า

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยดำเนินการปฏิรูปการทำงานในส่วนต่างๆของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อสนองนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีีและ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประวิตร วงษ์ สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)

   พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปตามนโยบายดังกล่าวมี 10 ประเด็น ประกอบด้วยการปรับปรุงการบริหารงานบุคคล การกระจายอำนาจการปฏิบัติงาน การพัฒนาระบบงานสอบสวน และการบังคับใช้กฎหมาย ค่าตอบแทนและสวัสดิการ การจัดหาอุปกรณ์ประจำกายและประจำหน่วยที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการทำงานร่วมกับท้องถิ่น การจัดระบบนิติวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเหลืองานด้านการอำนวยความยุติธรรม การสรรหาและฝึกอบรมข้าราชการตำรวจให้มีความพร้อมในการทำงาน และการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานในหน้าที่หลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวด้วยว่าการปฏิรูปตำรวจทั้ง 10 ประเด็นนั้น จะต้องทำให้เสร็จภายในกรอบระยะเวลา 3 ช่วง คือในระยะเร่งด่วน 1 ปี ระยะ กลาง 5 ปี และระยะยาว 20 ปี  และการปฏิรูปในทุกประเด็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน โดยมีแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการที่ชัดเจนอยู่แล้ว และขอยืนยันว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้กล่าวไว้ชัดเจนในการประชุมเชิงปฏิบัติการต่อหน้าหัวหน้าหน่วยทุกระดับที่เกี่ยวข้องว่า หากพบว่าหัวหน้าหน่วยใดไม่ดำเนินการตามแนวทางและกรอบระยะของการปฏิรูปที่กำหนดไว้ จะพิจารณาข้อบกพร่อง และหากจำเป็นก็จะพิจารณาโยกย้ายผู้นั้นและสรรหาผู้อื่นเข้าไปทำหน้าที่แทน เนื่องจากการปฏิรูป เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในทุกๆประเด็น

 การแถลงของ พล.ต.อ.พงศพัศไม่มีอะไรใหม่หรือเกินความคาดหมาย เพราะเมื่อเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ไม่มี ทางเลือกนอกจากจะต้องสนองนโยบายนั้น แต่ที่น่าสังเกตนั้นคือการคาดโทษหัวหน้าหน่วยว่าหากไม่ดำเนินการตามแนวทางและกรอบเวลาของการ ปฏิรูปก็จะถือเป็นความบกพร่อง และโยกย้ายแล้วหาผู้อื่นไปทำหน้าที่แทน

 ที่ว่าน่าสังเกตก็เพราะว่าการปฏิรูปทั้ง 10 ประเด็นนั้น แทบทุกประเด็น เป็นเรื่องที่หัวหน้าหน่วยที่เกี่ยวข้องไม่สามารถจะบันดาลให้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง เช่นการกระจายอำนาจการปฏิบัติงาน การปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการ การจัดหาอุปกรณ์ประจำกายและประจำหน่วย เพราะล้วนเกี่ยวพันกับงบประมาณ ที่จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภาและจัดสรรโดยผู้บังคับบัญชา และอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่นอกอำนาจของหัวหน้าหน่วยโดยสิ้นเชิง ก็คือการถ่ายโอนภารกิจที่มิใช่งานหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สิ่งที่หัวหน้าหน่วยต่างๆจะทำได้ก็คือ ศึกษาวิเคราะห์แนวการปฏิรูป ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี แล้วเสนอแนะต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่ง ชาติว่าควรจะทำอะไรได้อย่างใดเพียงใดหรือไม่ อันเป็นสิ่งที่ได้เคยทำกันมาแล้วซ้ำๆซากๆหลายหนหลายครั้ง

 การกำชับและคาดโทษของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงเป็นแต่เพียงการขานรับนโยบายการปฏิรูปตำรวจพอเป็นพิธี และหากพยายามปฏิบัติ ก็จะเป็นเพียงการพายเรือในอ่างอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคงไม่ได้ผลอย่างใด นอกเสียจากนายกรัฐมนตรีหัวหน้า คสช.จะพิจารณาและตัดสินใจ ใช้อำนาจพิเศษบันดาลให้เกิดขึ้นเท่านั้น