"กรกิจ ดิษฐาน" ชี้ "ศิลปะโขนเปลี่ยนแปลงได้" แต่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะยังเป็นเรื่องละเอียดในแง่ของความเชื่อ

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ http://panyayan.tnews.co.th

 

              จากกรณีดราม่าMVเที่ยวไทยมีเฮ มีหลายฝ่ายต่างออกมาให้ความเห็นว่า การนำโขนทศกัณฐ์มาทำพฤติกรรมเช่น การหยอดขนมครก ถ่ายภาพเซลฟี่นั้น เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ หลายเสียงต่างกันออกไปมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 1ในความเห็นที่ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด แต่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถหาจุดร่วมกันได้ เพราะโขนเองเผชิญความเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย แต่กระนั้นที่ยังไม่สิ้นไปคือความเชื่อและความเคารพต่อศิลปะโขน

"กรกิจ ดิษฐาน" ชี้ "ศิลปะโขนเปลี่ยนแปลงได้" แต่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะยังเป็นเรื่องละเอียดในแง่ของความเชื่อ

จากความเห็นของคุณ กรกิจ ดิษฐาน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊คส่วนตัวดังนี้...

           บอกตรงๆ ว่าไม่ได้ตามเรื่องแคมเปญเที่ยวไทยมีเฮเลย พอดีมีหลังไมค์มาถามอยากจะทราบความเห็น ผมเลยนั่งดูไปเมื่อคืนนี้ นึกชมในใจว่าเข้าท่าดีแฮะ ไม่น่าเป็นปัญหา แต่พออ่านความเห็นของผู้ใหญ่ในวงการนาฏศิลป์ (ไม่ใช่ท่านที่ออกมาค้าน) ผมพอเข้าใจว่าทำไมบางคนถึงคิดว่ามีปัญหา

         ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่คนนาฏศิลป์ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไรทั้งสิ้น แค่แสดงความเห็นไปตามเรื่อง

          ก่อนอื่นผมต้องบอกว่าชอบ MV ตัวนี้มาก นึกปลื้มว่าในที่สุดไทยก็สามารถทำได้อย่างเกาหลีและญี่ปุ่น คือผสมผสานวัฒนธรรมป๊อปเข้ากับของโบราณได้อย่างกลมกล่อม ถ้ามือไม่ถึงมันจะดูอิหลักอิเหลื่อพิกล จนของเก่าดูน่ารำคาญ และของใหม่ดูเชย

           พอผมได้ทราบความเห็นของศิลปินแห่งชาติด้านนาฏศิลป์ ผมก็ถึงบางอ้อว่า ผู้ใหญ่คงไม่ได้ค้านแบบหัวชนฝาไม่ให้ดัดแปลงของเก่าให้ทันสมัย แต่ท่านเคารพครูบาอาจารย์ต่างหาก และที่ขัดแย้งกันเพราะ Mindset คนละแบบนั่นเอง

          ผู้ใหญ่ท่านมองว่าโขนเป็นของมีครู มีพิธีกรรมซับซ้อน เข้มขลัง ไม่ควรนำไปดัดแปลงโดยพลการ นี่เป็นวิธีคิดที่ผูกกับโขนแบบแยกไม่ได้ เพราะแต่เดิมโขนเป็นพิธีกรรมของศาสนาไสย์ (คือศาสนาพราหมณ์) ว่าด้วยวีรกรรมของพระเป็นเจ้า และสะท้อนวีรภาพของพระเป็นเจ้าสมมติคือพระราชา อีกทั้งวิชานาฏศิลป์ก็ผูกกับความเชื่อในศาสนาไสย์อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นโขนจึงเจือด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ราวกับเป็นพิธีกรรมทางศาสนา

ดัง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ครูโขนแห่งยุคท่านว่า

 "ลักษณะพิเศษของโขนละครไทยนั้น นอกจากจะเป็นนาฏศิลป์แล้วยังเป็นลัทธิ อีกอย่างหนึ่งด้วย"

"กรกิจ ดิษฐาน" ชี้ "ศิลปะโขนเปลี่ยนแปลงได้" แต่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะยังเป็นเรื่องละเอียดในแง่ของความเชื่อ

           ความบันเทิงสมัยก่อนผูกติดกับศาสนาจนแยกไม่ออก ไม่เฉพาะโขนเท่านั้น โนราห์ หรือหนังตะลุงก็เจือด้วยศาสน์และไสย์ การผิดครูอาจารย์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งผมเข้าใจว่าผู้ใหญ่ท่านคงกลัวจะผิดแบบแผน เป็นการละเมิดครูบาอาจารย์ ท่านจึงติติง

           แน่นอนว่า คนรุ่นใหม่ไม่ชอบมิติที่ลี้ลับ และคิดว่าโขนเป็นความบันเทิงเท่านั้น โดยลืมมองไปว่ามันเป็นพิธีกรรมไสย์ และเครื่องราชูปโภคของพระเจ้าแผ่นดินมาก่อน

"กรกิจ ดิษฐาน" ชี้ "ศิลปะโขนเปลี่ยนแปลงได้" แต่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะยังเป็นเรื่องละเอียดในแง่ของความเชื่อ

         ผมเชื่อว่าผู้ทำ MV ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นครู ตรงกันข้ามพวกเขามีวิธีบูชาครูในแบบของตัวเอง คือดัดแปลงให้ทันยุคสมัยแล้วเผยแพร่วิชาให้ลือลั่น ขณะที่รุ่นเก่าเขาบูชาครูด้วยการรักษาขนบ

          ผมก็ว่ามันดีทั้ง 2 แบบ ถ้าจะดีกว่านี้คือทำความเข้าใจกันแล้วใช้ยุทธศาสตร์ "สองขา" ไม่ใช่การพบกันครึ่งทางแบบชุ่ยๆ อย่างกดดันให้ตัดผลงานดีๆ จนเหี้ยน หรือดัดแปลงจนหมดความงาม

          ถามว่า "งามอย่างไร?" สำหรับผมนาฏศิลป์ที่ดูแล้วขนลุก รู้สึกอิ่มใจ คือผ่านเกณฑ์ความงาม ไม่ต้องให้เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะศิลปะให้อารมณ์นำเหตุผล ซึ่งผมดูโขนรุ่นเก่าก็ขนลุก ดู MV ก็ขนลุกเหมือนกัน

           ขอแนะว่าอย่าเอาผมเป็นมาตรฐานเลยครับ แต่เชื่อว่าบางคนคงเห็นด้วยกับผมเรื่องมาตรฐานนี้

          โขนนั้นถึงจะเป็นของในขนบยากจะดัดแปลงให้ถูกใจครู แต่ใช่ว่าจะดัดไม่ได้ เพราะแต่โบราณนั้นมีทั้งโขนหลวง และโขนสดของชาวบ้านที่ดัดแปลงเพื่อความสนุกของคนสามัญ แม้แต่โขนหลวงเองก็ดัดแปลงในภายหลัง ดัง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านว่า โขนหลวงที่แท้จริงสิ้นเสียแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ภายหลังได้ครูผู้หญิงละครในมาช่วยฟื้นสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็ไม่เหมือนเดิม เพราะครูโขนแต่ดึกดำบรรพ์ที่เป็นชายล้มตายไปหมดแล้ว

           จะเห็นได้ว่าโขนก็มีวันรุ่งเรืองและโรยรา เกิดแล้วดับมาแต่ไหนแต่ไร ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าโขนจะสิ้น ถึงสิ้นไปแล้วก็ฟื้นได้ดังสมัยพระพุทธเจ้าหลวง แม้จะไม่เหมือนเดิมแต่ก็ถือว่าเป็นกอใหม่บนรากเดิม

             ดูอย่างวงการมวยไทยเถิดครับ นั่นก็มีศาสน์และไสย์เจือปน ถืออาถรรพ์ไม่แพ้คนละคร เช่นบูชาครู เรียนมนต์ อาบว่าน ห้ามผู้หญิงขึ้นเวทีเด็ดขาด จนถูกมองว่าล้าหลังและเชยสิ้นดี

            แต่แล้วในยุคนี้ผู้หญิงชกมวยกันมากขึ้น ผู้ใหญ่วงการก็ยืดหยุ่นให้ขึ้นเวทีได้ ปรากฎว่ามวยไทยได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ไม่เชยในสายตาใครต่อใครอีก แต่ถ้ามีการล้ำเส้นขนบเกินไปเขาก็ติติงแรงๆ เหมือนกัน

        ผมเชื่อว่าที่สำคัญกว่าการรักษา คือทำอย่างไรให้ศิลปะไทยเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกยุคมากกว่า

 

"กรกิจ ดิษฐาน" ชี้ "ศิลปะโขนเปลี่ยนแปลงได้" แต่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะยังเป็นเรื่องละเอียดในแง่ของความเชื่อ

ภาพ - Siamese khon actor portrait, 1900 ตัวพระสวมโขนอย่างนี้ไม่มีเสียแล้ว ว่ากันว่าเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 หรือภายนอกวังน่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ 4 เห็นไหมครับว่า โขนก็มีวิวัฒนาการแต่ไรมา