พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  (เจริญ สุวฑฺฒโน)

รู้จริง... รู้แจ้ง... ทุกเรื่องราวพระอริยสงฆ์http://panyayan.tnews.co.th

พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  (เจริญ สุวฑฺฒโน)

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) (3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 – 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

ขณะทรงพระเยาว์

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี พระองค์มีน้องชาย 2 คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตร และนายสมุทร คชวัตร บิดาของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของนางกิมเฮ้ง หรือกิมเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของนางกิมน้อยที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู และนางกิมเฮ้งจึงตั้งชื่อหลานชายผู้นี้ว่า "เจริญ" พระชนกน้อย คชวัตร เป็นบุตรคนที่สามจากทั้งหมดสี่คนของเล็ก กับแดงอิ่ม คชวัตร เป็นหลานปู่-หลานย่าของหลวงพิพิธภักดี ผู้เคยเป็นข้าราชการชาวกรุงเก่า กับนางจีนผู้ภริยาหลวงพิพิธภักดีเป็นหลานยายของท้าวเทพกระษัตรี ส่วนพระชนนีกิมน้อย หรือน้อย ซึ่งเคยเปลี่ยนชื่อเป็นแดงแก้วนั้น มีบิดาเป็นคนเชื้อสายจีนคือนายเฮงเล็ก แซ่ตั๊น กับมารดาเชื้อสายญวนชื่อนางทองคำ[4] ครั้นนายเฮงเล็กถึงแก่กรรม นางทองคำจึงสมรสใหม่กับนายสุข รุ่งสว่าง มีบุตรด้วยกัน 4 คน

เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2468 ในขณะที่มีพระชันษา 12 ปี หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า "เมื่อเยาว์วัยมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย" จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น

เช่าพระคลิ๊กที่นี่
บ้านพระเครื่อง

 

พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  (เจริญ สุวฑฺฒโน)

บรรพชาและอุปสมบท

เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งที่ทรงป่วยหนักจนญาติ ๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้วและได้บนไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม 5 แล้ว พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี พ.ศ. 2469 ขณะมีพระชันษาได้ 14 ปี ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล

 

ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษา และได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี” จนกระทั่งพระชันษาครบอุปสมบทจึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยและที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2477) โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี (จู อิสฺสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม

พระองค์ทรงเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมตามคำชักชวนของพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ ที่ตั้งใจจะให้พระองค์กลับมาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามและจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเตรียมไว้ให้ โดยพระอุปัชฌาย์นำพระองค์ไปฝากไว้กับพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2470 แล้วจึงเริ่มเรียนภาษาบาลีโดยมีพระเปรียญจากวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นอาจารย์สอน หลังจากนั้น จึงเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473

พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างมากในการสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค แต่ผลปรากฏว่าทรงสอบตก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้และคิดว่า "คงจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว" แต่เมื่อทรงคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่าทำไมจึงสอบตก ก็ทรงตระหนักได้ว่าเหตุแห่งการสอบตกนั้นเกิดจากความประมาทโดยแท้ กล่าวคือ ทรงทำข้อสอบโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว ทั้งยังมุ่งอ่านเฉพาะเนื้อหาที่เก็งว่าจะออกเป็นข้อสอบเท่านั้น ซึ่งพระองค์ทรงพบว่าเป็นวิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์สอบตก เมื่อพระองค์ทรงตระหนักได้ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีเรียนแบบสม่ำเสมอและทั่วถึง พระองค์จึงสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค ในปี พ.ศ. 2475

หลังจากนั้น พระองค์ทรงกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม เพื่อสนองพระคุณพระเทพมงคลรังษีเป็นเวลา 1 พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค โดยในระหว่างที่ทรงอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระองค์ก็ยังคงกลับไปช่วยสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามอยู่เสมอ พระองค์ยังทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง สอบได้เปรียญธรรม 9 ในปี พ.ศ. 2484

 

การปฏิบัติหน้าที่ด้านคณะสงฆ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงฉายภาพหมู่ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อคราผนวช

หลังจากที่พระองค์สอบได้เปรียญธรรม 9 แล้ว พระองค์ทรงเริ่มงานอันเกี่ยวเนื่องกับคณะสงฆ์อีกมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของภิกษุสามเณรทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี รวมทั้งทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่งในฐานะเป็นพระเปรียญ 9 ประโยค ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2488 พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา นอกจากนี้ ยังทรงเป็นเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์อีกด้วยเมื่อมีพระชันษาได้ 34 ปี พระองค์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระโศภนคณาภรณ์ โดยพระองค์ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2499 ต่อมา ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ โดยราชทินนามทั้ง 2 ข้างต้นนั้นเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่พระองค์เป็นรูปแรก

ในปี พ.ศ. 2504 พระองค์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาคและเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ในปีเดียวกันนี้เองพระองค์ได้รับการสถาปนาที่ พระสาสนโสภณ[9] พระองค์เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และยังคงดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนาไว้มากมาย

พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  (เจริญ สุวฑฺฒโน)

สิ้นพระชนม์

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 19:30 นาฬิกา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต [1] มีการเคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มายังตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 12:15 นาฬิกา ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงสรงน้ำพระศพในวันเดียวกัน เวลา 17:00 นาฬิกา พระราชทานพระโกศกุดั่นใหญ่ภายใต้เศวตฉัตรสามชั้น พร้อมเครื่องประกอบพระเกียรติยศ และให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพเจ็ดวัน

การนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานเลื่อนชั้นยศพระโกศจากพระโกศกุดั่นน้อยเป็นพระโกศกุดั่นใหญ่ตั้งแต่วันแรกที่สิ้นพระชนม์ ครั้นถึงวาระพระราชทานเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่เป็นพระโกศทองน้อย และพระราชทานฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น กางกั้นพระโกศ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษเพราะยังไม่เคยปรากฏการพระราชทานเลื่อนพระโกศถึงสองครั้งมาก่อน

 

 

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี