จับกระแส "รัฐบาล...พล.อ.ประยุทธ์" การเมืองนิ่ง...เศรษฐกิจฟื้นตัว (ข้อมูล)

ติดตามข่าวสาร www.tnews.co.th

กับประเด็นด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย หลังจากงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 34 จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นวัตกรรม ทำจริง สู่การขับเคลื่อนประเทศไทย” ใจความตอนหนึ่งว่า ในปีหน้ารัฐบาลจะใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนประเทศอย่างจริงจัง โดยใช้พื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนเหมือนกับที่จีนทำ ไม่ต้องรอการขับเคลื่อนจากส่วนกลางอย่างเดียว ซึ่งรัฐบาลจะพยายามหางบประมาณลงสู่กลุ่มจังหวัด เพื่อใช้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0 โดยทั้ง 76 จังหวัด เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการต่อท่อสู่อนาคตในอีก 4-5 ปีข้างหน้า และจะไม่ให้กระทบต่อฐานะทางการคลัง หรือมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกิน 45%

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่างๆ จากภาคเอกชนของการสัมมนาครั้งนี้ ด้วยการประกาศปฏิญญาอยุธยา คือเป็นการสานพลังความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับผู้ประกอบการสู่การค้าและบริการ 4.0 ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล มาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการตามปฏิญญาอยุธยานั้น จะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าและบริการของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000-100,000 ล้านบาท หรือช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 0.4-0.7% ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปี 60 เติบโตได้ที่ระดับ 4.0%

และต่อเนื่องกับที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ก็ได้ร่วมกันแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยทั้งรายภูมิภาคและภาพรวมของประเทศในปีพ.ศ.2559 และการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในปีพ.ศ. 2560 พร้อมทั้งได้ร่วมกันประกาศปฏิญญาอยุธยา ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2560 ที่ทางหอการค้าออกมาคาดการณ์ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยโตถึง 3.6 % อีกด้วย

ซึ่งจากการประชุมข้างต้นนี้เพื่อให้เราได้เห็นภาพชัดเจนว่า ในอดีตที่ผ่านมาตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะ 10 ปีตั้งแต่ปี 2547 – 2557 ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้ามาควบคุมอำนาจนั้น พบว่าเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนเป็นอย่างมาก บางช่วงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และยังไร้ทิศทาง เนื่องจากปัจจัยภาย นอกนั่นก็คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง บวกกับปัจจัยภายใน โดยเฉพาะ ปัญหาการเมืองภายในภายในประเทศ

โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทยย้อนหลัง จากทางสภาพัฒน์ หรือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อปี 2547 จีดีพีของไทยเคยขยายตัวถึง 6.1% โดยได้ปัจจัยบวกคือ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดรับกับการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของบรรดาธนาคารพาณิชย์ ในขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรก็เพิ่มสูงขึ้น

แต่ถัดมาในปี 2548  จีดีพีของไทยกลับมาขยายตัวเหลือเพียง 4.5% 

โดยสาเหตุเกิดจาก ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ชะลอตัวลงจากปัญหาภัยแล้ง ในขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนก พ่วงด้วยปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จนดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นตาม นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย แถมยังมาเจอความไม่สงบจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปอีก

แต่ถัดมาในปี 2549  จีดีพีของไทยกลับมาขยายตัวอยู่ที่ 5%

โดยในปีนั้น เศรษฐกิจไทยได้แรงหนุนจากการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 9 % จึงทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจขยับขึ้นจากปี 2548 แม้ว่าในปี 49 ช่วงไตรมาสสุดท้าย จะมีการปฏิวัติรัฐประหาร โดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น

แต่ถัดมาในปี 2550 จีดีพีก็กลับมาขยายตัวเหลือเพียงแค่ 4.3%

และหนักสุดในปีถัดมา 2551 จีดีพีหดตัวเหลือเพียงแค่ 2.6%

โดยสาเหตุเกิดจากการส่งออกหดตัว เพราะเจอผลกระทบจากการเมืองภายในประเทศ จึงมีผลไปถึงโครงการรัฐให้เกิดความล่าช้า ประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในขณะนั้น นั่นก็คือ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จึงทำให้การส่งออกหดตัว

และถัดมาในปี 2552  จีดีพีของไทยก็เหลือเพียงแค่ 2.3%

โดยในปีนี้ เป็นยุคของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งแม้เศรษฐกิจของไทยจะหดตัวต่อเนื่องจากปี 2551 แต่ในไตรสุดท้ายของปี 52 เศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นทิศทางของการฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออกที่เริ่มดีขึ้น ในขณะที่เอกชนมีการลงทุน แถมยังมีการจับจ่ายและใช้จ่ายในครัวเรือนของประชาชนทั่วไป บวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกก็เริ่มดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากปัจจัยในประเทศ นั่นก็คือ ปัญหาการเมืองที่มีแนวโน้มคลี่คลาย ทำให้ต่างชาติกลับเข้ามาลงทุน ในขณะที่เกษตรกรก็มีรายได้ดีขึ้น เพราะราคาพืชผลเกษตรเริ่มสูงขึ้น

และถัดมาในปี 2553  เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวดี อย่างต่อเนื่อง โดยจีดีพีโตถึง 7.8%

ถึงแม้ว่าในช่วง 2 ไตรมาศแรกประเทศไทยต้องเผชิญสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. แต่รัฐบาลก็สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์จนความมั่นใจทางเศรษฐกิจดีขึ้น

เนื่องจากได้แรงหนุนจากการส่งออกที่โตถึง 9.1%  หลังเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ในขณะที่ปัจจัยในประเทศ ก็ดีขึ้น เพราะเอกชนเริ่มมีการลงทุน

 

แต่ถัดมาปี 2554  จีดีพีกลับมาหดตัวเหลือ 0.1%

เพราะปีนี้เราเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศ จนทำให้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ภาคอุตสาหกรรม ภาคส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตรหดตัว

 

ก่อนที่ในปี 2555  จีดีพีกลับมาโตที่ 6.4%

หลังจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยภาคครัวเรือนของไทยมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกมีการเติบโต และภาคเอกชนก็มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

แต่ถัดมาในปี 2556 จีดีพีก็กลับมาหดตัวเหลือ 2.9%

เพราะปีนี้มีการการชุมนุมทางการเมือง ที่ประชาชนได้ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล เนื่องจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้ตัวเลขไตรมาสสุดท้ายของปีตกลง สืบเนื่องจากเอกชนไม่มีการลงทุน

และถัดมาปี 2557 จีดีพีก็หดตัวลงอีกจนเหลือเพียงแค่ 0.7%

เพราะการลงทุนภาครัฐก็ลดลง ในขณะที่ภาคเอกชนก็ไม่มีการลงทุน การส่งออกก็ติดลบ เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองที่รุนแรง จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจ กว่าที่จะนำพาสถานการณ์ให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจได้นั้นก็ใช้เวลาค่อนข้างนานเพราะปัญหานี้ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้า จึงไม่มีการอนุมัติงบประมาณมากระตุ้นเศรษฐกิจ

 

แต่ถัดมาปี 2558  จีดีพีกลับมาโตอยู่ที่ 2.8%

เพราะปีนี้ภาคเอกชนเริ่มมั่นใจ เริ่มมีการลงทุน ภาครัฐก็มีการเร่งการลงทุน จนส่งผลทำให้ภาคครัวเรือนในประเทศเกิดการใช้จ่าย

และล่าสุดในปีนี้ 2559 จีดีพีไตรมาสสาม อยู่ที่ 3.2%

เพราะได้ปัจจัยหนุนต่อเนื่อง จากการลงทุนของภาครัฐ  จึงส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีการจับจ่ายใช้สอย ในขณะเดียวกันเรายังมีการปรับภาคการส่งออก ที่เน้นการส่งออกในภาคบริการมากขึ้น

 

ซึ่งทั้งนี้ ทางสภาพัฒน์ ยังได้คาดการณ์ว่า ตัวเลขจีดีพีของทั้งปี 2559 จะเติบโตอยู่ระหว่าง 3.0-4.0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับที่ภาคเอกชน อย่าง หอการค้า ได้ออกมาประมาณการล่าสุดว่า จีดีพีของไทยปีนี้ จะโตอยู่ที่ 3.6%

 

ทั้งนี้ จากตัวเลขข้างต้น ในรอบ10 ปี เราพบว่า ปัจจัยการเมืองในประเทศมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐนั้น มีปัญหา 

จนกระทั่งเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอช เข้ามาแก้ปัญหาประเทศชาติ แต่ก็ใช้เวลาพอสมควรจนสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ โดยจะเห็นได้จากตัวเลขของจีดีพี ทีมีความเสถียร ค่อยๆเติบโตขึ้น ก็ถือว่า ภาคเอกชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  เริ่มส่งสัญญาณที่ดีกับการบริหารราชการและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สอดคล้องกับที่สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง สมการการเมืองจัดตั้งรัฐบาลอนาคต ในการคาดการณ์ของประชาชน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 82.4 ระบุ ยังไม่มีคนที่แก้ปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ได้ดี ถ้าไม่ใช่รัฐบาล และ คสช.

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์สมการการเมืองจัดตั้งรัฐบาลอนาคต หากมีการเลือกตั้งปลายปีหน้า ร้อยละ 60.5 ระบุ สมการจะมีพรรคการเมืองใหญ่ + พรรคการเมืองเล็ก และพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่ ร้อยละ 39.5 ระบุ มีพรรคการเมืองใหญ่ + พรรคการเมืองเล็ก ตามการคาดการณ์ของประชาชน

นอกจากนี้ ร้อยละ 54.1 เห็นด้วยที่จะมี “ซูเปอร์รัฐบาล” ควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกต่อหนึ่ง ขณะที่ ร้อยละ 45.9 ไม่เห็นด้วย

 

จากผลสำรวจนี้ทำให้เรามองเห็นความของประชาชนส่วนใหญ่ที่พอใจและชื่นชอบที่จะให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่บริหารและกำหนดทิศทางของรัฐบาลเพื่อให้มุ่งไปสู่การปฏิรูปประเทศให้ยั้งยืนต่อไป